14 พฤศจิกายน 2560

การช่วยโดยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ

ก่อนเราจะไปในเรื่องต่อๆไปของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ก็ต้องขอกล่าวเรื่องนี้ก่อนคือ การช่วยโดยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ ถือเป็นการช่วยขั้นพื้นฐานนะครับ
อันว่าอันตรายต่อหัวใจที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นและหมดสติต้องปั๊มหัวใจนั้น ส่วนมากจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrythmia) และส่วนมากเป็นการเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างซ้าย ห้องที่ทำหน้าที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกายนี่เอง
ทำไมล่ะ .. หัวใจห้องล่างซ้ายเต้นเป็นจังหวะ 2/2 บีบ คลาย บีบ คลาย ในกรณีเต้นเร็วแต่ยังเป์นจังหวะก็จะเป็น 4/4 แต่ถ้าเร็วมากจนไม่เป็นจังหวะจะเป็น 100/2 เป็นต้นคือ ในรอบหนึ่งควรเต้นสองรอบกลับเต้นถึง 60-100 ครั้ง ยังไม่ทันบีบสุดเลยคลายแล้ว และยังไม่ทันคลายสุดดูดเลือดเต็มที่เลย บีบอีกแล้ว ทำให้เลือดที่ออกไปสู่ร่างกายน้อยมากๆ
อย่ากระนั้นเลย เราจึงต้องจัดระเบียบโดยใช้ไฟ้าศักย์สูงไปทำให้การเต้นสั่นพริ้วที่ไม่มีระเบียบของมันให้สะดุดหยุดลง และเมื่อทุกคนนิ่งไป กระแสไฟฟ้าเดิมก็จะกลับมาทำงานแบบเป็นระเบียบอีกครั้ง นึกภาพเด็กอนุบาลต่างคนต่างเล่นในห้อง พอคุณครูประจำชั้นเดินเข้ามาบอกว่า ...เงียบ... ทุกอย่างก็จะหยุดและการเรียนก็กลับไปมีระเบียบตามเดิม
ถ้าเราทำเร็ว ความเสียหายยังไม่มากก็จะมีโอกาสคืนสภาพและรอดชีวิตสูงกว่า ปล่อยไว้นานๆ
อ้าว..สาเหตุส่วนมากเกิดจากตรงนี้ แล้วประชาชนเราๆท่านๆ จะรู้ไหม และดูออกและช่วยทันหรือ ก็เลยเป็นที่มาของการใช้เครื่อง automated external defibrillator เครื่อง AED ที่วางอยู่ตามจุดต่างๆ หรือถ้าเจ้าหน้าที่ที่มีเครื่องนี้มาถึงจุดเกิดเหตุ ก็รีบประเมินและรักษาโดนการช็อกไฟฟ้าเมื่อต้องทำ
เครื่อง AED ออกแบบมาให้ใช้ง่ายคำแนะนำเป็นรูปภาพที่เข้าใจง่าย นำเครื่องออกมา เปิดเครื่อง แปะแผ่นแปะที่หน้าอกตามที่เครื่องหมายระบุไว้อันหนึ่งสีข้างอกซ้าย อันหนึ่งกลางอก เครื่องจะอ่านคลื่นไฟ้าหัวใจแล้วแนะนำเราออกมา ว่าจะช็อกแล้วนะ หรือให้ CPR ต่อไป เราก็ทำตามนั้นครับ
ในกรณีที่เขาจะช็อก เขาก็จะช็อกเอง ไม่ต้องไปปรับอะไร เมื่อช็อกแล้วเขาจะบอกให้เรากดหน้าอกต่อไป หรือถ้าไม่บอกเราก็ต้องกดหน้าอกต่อไปครับ เรียกว่าเป็น dispatcher ตัวเล็กๆเลยทีเดียว
เครื่องจะยังอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตัดสินใจต่อเนื่องต่อไป ก็ทำตามนั้นนะครับ
การที่ช็อกหัวใจเร็วจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตอย่างมากครับ โดยทั่วไปในกล่อง AED จะมีแผ่นการ์ดแนะนำวิธีช่วยชีวิตง่ายๆให้ด้วย เรียกว่าถ้ามี AED นี่ช่วยได้มากเลย จริงๆน่าจะเป็นแบบสัญญาณกันขโมยเลยนะครับ เมื่อไรที่ใช้ จะมีสัญญาณไปเตือนที่หน่วยกู้ชีพที่ใกล้ที่สุดแล้วออกเดินทางทันที
แถมอีกนิดเมื่อสองวันก่อน อ.วิพัชร พันธวิมล ได้ลงบทความเรื่องกฎหมายที่จะคุ้มครองผู้ที่เข้าไปช่วยชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าไทยเรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองตรงนี้ มีแต่กฎหมายว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องช่วยหากพบเหตุการณ์ ทำให้หากเกิดความเสียหายจะต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล ซึ่งกฎหมายอาญาจะพิจารณาโทษตามหลักเจตนา ส่วนแพ่งนั้นจะพิจารณาตามหลักบริสุทธิ์ แต่ก็อาจเป็นภาระแก่ผู้ที่จะเข้าช่วยแต่กลัวผลเสียที่จะตามมา
ทำให้ผู้หมดสติขาดโอกาสการรอดชีวิต คิดว่าในอนาคตทาง thai resuscitation council คงจะมาพิจารณากฎหมายตรงนี้ผ่านทางแพทยสภาด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม