17 พฤศจิกายน 2560

การศึกษาย้อนหลังเพื่อหาความสัมพันธ์ปัจจัยเสี่ยงของการสูบบุหรี่และหลอดเลือดในสมองโป่งพอง

หลอดเลือดแดงในสมองโป่งพอง และ แตก !! ดูช่างอันตรายนัก และคุณรู้ไหมมันเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่
คนที่สูบบุหรี่หรือคนที่มีคนที่รักสูบบุหรี่ มักจะกังวลผลของการสูบบุหรี่ที่จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว สองโรคที่เป็นความกังวลมากๆคือมะเร็งปอดและถุงลมโป่งพอง แต่จริงๆแล้วผลเสียจากการสูบบุหรี่มีมากกว่านั้น โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมนุษย์ยุคมิลเลนเนียมนี้
ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ และ จากการศึกษานี้ หลอดเลือดในสมองโป่งพองและแตก (intracranial aneurysms)
วารสาร Neurology ลงการศึกษาของ Dr.Dennis R. Buis เกี่ยวกับการศึกษาย้อนหลังเพื่อหาความสัมพันธ์ปัจจัยเสี่ยงของการสูบบุหรี่และหลอดเลือดในสมองโป่งพอง เขาศึกษาย้อนหลังจากการบันทึกและรายงานของคนไข้ ซึ่งอาจไม่แม่นยำนักเพราะอาจเก็บข้อมูลไม่ครบและมีตัวแปรปรวนหลายอย่าง อาจบอกความเป็นเหตุเป็นผลได้ยาก แต่สามารถบอกความเป็น "ปัจจัยเสี่ยง" ได้ดี
เก็บข้อมูลย้อนหลัง 1990 ถึง 2013 ได้ 5,589 ราย และเก็บไปข้างหน้าจากปี 2013-2016 ได้อีก 474 ราย รวมแล้ว 6,063 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 28% มาโรงพยาบาลเพราะว่าหลอดเลือดที่โป่งพอง มันแตกออก
จากข้อมูลการสูบบุหรี่ที่เก็บได้ พบว่าในกลุ่มคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่นั้น พบหลอดเลือดโป่งพองแตก มากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ถึงสองเท่า ...และสำหรับคนที่สูบแล้วเลิกแล้ว พบหลอดเลือดโป่งพองแตกมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เกือบสองเท่า ลดลงเล็กน้อย
แต่ว่าการศึกษากลับไม่พบความสัมพันธ์เชิงสถิติที่บอกว่า หากเลิกแล้ว เลิกเร็วหรือเลิกช้า จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลออเลือดโป่งพองแตก
ย่อหน้านี้แปลว่าอะไร
แปลว่าการสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคนี้อย่างชัดเจน และแม้จะเลิกแล้ว ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ในระดับลดลงเล็กน้อยเท่านั้น ...ดังนั้นอย่าเริ่มสูบบุหรี่เลย เตือนและส่งไปถึงคนที่ยังไม่สูบ เตือนไปยังพ่อแม่ว่าอย่าให้ลูกหลานเริ่มสูบ มันอาจเกิดความเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้
หลายคนฟังเสร็จก็บอกว่า...ถ้าเลิกแล้วความเสี่ยงไม่ลด งั้นไม่ต้องเลิกสิ..อันนี้ก็ไม่ถูกครับ เพราะที่ว่าไม่ลดนั้น มันแค่โรคหลอดเลือดแดงในสมองโป่งพองและแตกเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคถุงลมโป่งพอง การเลิกสูบบุหรี่แม้แต่มวนเดียววันเดียว ก็ส่งผล และถ้าเลิกได้ถาวรความเสี่ยงการเกิดโรคจะลดลงมหาศาล
ใครเคยกดเครื่องคำนวนความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่า ASCVD, Thai CV, QRISK จะพบว่าถ้าคิดทุกอย่างเท่ากัน เปลี่ยนแค่สูบกับไม่สูบบุหรี่เท่านั้น ความเสี่ยงเปลี่ยนมากมายเลย เรียกว่าเป็น strong risk factor ถ้าลดได้เลิกได้เกิดประโยชน์อย่างแน่นอนครับ
เรามองว่าแนะนำอย่างเดียว ได้ผลแค่ 15-20% ในการเลิกบุหรี่ แต่ผมอยากให้มองว่า ถ้าไม่แนะนำเราจะเสีย 15-20% นี้ไปเลย แค่แนะนำก็ลดความเสี่ยงได้มากมาย อย่าลืมคนสูบบุหรี่ในไทยมีหลายล้านคน
การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดีที่จะบอกว่า คนที่ไม่เคยสูบ ขอได้โปรดอย่าริที่จะลอง หากติด..ผลเสียบางอย่างก็ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม