18 พฤศจิกายน 2560

สีย้อมทางการแพทย์

วันนี้เราจะมาพูดเรื่อง "สีย้อม"กัน ใช่แล้ว..ท่านไม่ต้องเข้าใจผิดหรือย้อนกลับไปดูว่านี่เพจอะไร อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียวนี่แหละครับ แต่วันนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงเกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ... แหม เหมือนบางเพจเลยเนอะ
สีย้อมทางการแพทย์มีมากมายนะครับ ส่วนใหญ่ก็ใช้เพื่อวินิจฉัยและตรวจเนื้อเยื่อ เวลาย้อมเราก็จะใช้สมบัติทางเคมีของสีย้อม สารไอ้นี่ไปจับไอ้นั่น ย้อมไอ้นั่นติดสีแสดงว่ามีไอ้นี่ ประมาณนั้น ในเวชปฏิบัติเราๆทั่วไปหรือที่ห้องแล็บทำบ่อยๆ น้องหมอต้องทำตอนเรียน เพื่อวินิจฉัยโรค สีที่ย้อมบ่อยๆที่จะมาพูดคือ การย้อมสีเชื้อโรค
เราจะมา "ใส่ร้าย ป้ายสี" เชื้อโรค
อย่างแรก สีกรัม หรือ สีแกรม (gram stain) เป็นการย้อมสีหลักเลยเพื่อแยกเชื้อแบคทีเรีย ว่าผนังเซลของแบคทีเรียนั้นติดสีแบบใด แน่นอนแบคทีเรียที่ไม่มีผนังเซลย่อมติดสีไม่ดีหรือไม่ติด การรักษาโรคแบคทีเรียโดยการใช้ยา เราจะแบ่งยาว่ายานั้นยานี้ใช้สำหรับแบคทีเรียกรัมบวก หรือแบคทีเรียกรัมลบ ...อะฮ้า..เข้าใจแล้วใช่ไหม ทำไมต้องแบ่งแบบนี้
เราก็จะเอาสิ่งส่งตรวจ หนอง ปัสสาวะ เสมหะ มาป้ายบนสไลด์และยึดติดกับสไลด์ด้วยการลนไฟเล็กน้อย น้องๆบางคนไม่ลน แต่เป็นเผาเลย ไม่ได้นะ
แล้วเราจะเทสีน้ำเงิน crystal violet (ชื่อมันไม่น้ำเงินเลย) และล้างออกด้วยน้ำ สาดสี iodine ต่ออีกแล้วล้างด้วยน้ำ ขั้นตอนละประมาณครึ่งถึงหนึ่งนาที แล้วเราจะล้างสีน้ำเงินของแบคทีเรียกรัมบวกออกด้วย 95% alcohol ถ้าติดสีกรัมบวกมันก็จะยังอยู่
ต่อไปก็จะย้อมสีแดงของกรัมลบ ถ้าเป็นแบคทีเรียกรัมลบก็จะติดสีแดงตอนนี้แหละครับ เพราะสีน้ำเงินมันล้างออกไปหมดแล้ว ดังนั้นขั้นตอนการล้างสีจึงสำคัญ ล้างออกไม่หมดก็จะกลายเป็นติดสีน้ำเงิน ล้างออกหมดเกลี้ยงนานเกิน สีน้ำเงินก็หายไป ทำให้เราอาจแปลผลผิดได้
ใช้สี safranin หรือ 0.05% basic fuchsin ย้อม 30 วินาที ย้อมเร็วเกินไปอาจไม่ติดสี แล้วล้างน้ำออก ทิ้งให้แห้ง เอาไปตรวจได้
เราก็จะสามารถแยกได้คร่าวๆรวดเร็วแล้วว่ามีแบคทีเรียติดสีกรัมหรือไม่ กรัมอะไร ใช้ยาอะไรดี กว่าผลเพาะเชื้อจะออกนี่ สามถึงห้าวันบางทีจากอาการและการย้อมสีกรัม รักษาหายแล้วก็มี
การย้อมสีกรัมทำได้ทุกที่ในประเทศ ง่าย เร็ว ถูก แต่ต้องมีทักษะการทำและการแปลผลจึงต้องฝึกทำฝึกดูนะครับ
อย่างที่สองเรามารู้จัก สีทนได้..ไม่ใช่ละ..สีทนกรด (acid fast stain) เพื่อการวินิจฉัยวัณโรคและเชื้อแบคทีเรียกึ่งสายราบางชนิด ที่เราส่งเสมหะไปย้อมหาเชื้อวัณโรคก็ใช้วิธีนี้นะครับ สามารถตรวจจับเชื้อได้หลายชนิดในกลุ่ม mycobacteria แต่ถ้าเป็นแบบดัดแปลง (modified acid fast stain) จะใช้เพื่อช่วยแยกแบคทีเรียอีกหลายตัวได้แก่ nocardia,actinomycosis,rhodococcus
เช่นเคยทำได้ง่าย ถูก แต่ต้องอาศัยทักษะ
หลังจากที่เราป้ายสิ่งส่งตรวจและลนไฟแล้ว เราจะใช้สีที่ชื่อว่า kinyoun stain (carbolfuchsin) สีออกแดงๆคล้ำมีตะกอนมากจึงต้องเทผ่านกระดาษกรอง สีจะไปติดกับผนังเซลที่มีไขมันเยอะและติดแน่น ขั้นตอนต่อไปเราจะใช้ acid alcohol (95%alcohol + hydrochloric acid) เพื่อล้างสีออก มันจะล้างยากนิดนึงแต่ต้องล้างให้หมด แบคทีเรียที่ยังทนได้ สีทนได้ จึงถูกเรียกว่า ทนกรด (positive ติดสีแดง)
ส่วนถ้าเป็นแบบดัดแปลง ใช้ 1% sulphuric acid แทน ใช้กับแบคทีเรียที่มีไขมันในผนังเซลไม่สูงเท่า แต่ซัลฟูริกจะล้างออกยากบางครั้งต้องแช่ไว้นาน 10 นาทีเลย
เมื่อสีหมดให้ระบายภาพพื้นหลัง (counter stain) ด้วย methylene blue ภาพที่เห็นจะมีพื้นสีฟ้าๆ ถ้าผลเป็นบวกจะเห็นแบคทีเรียติดสีแดงๆนั่นเองครับ
ด้วยวิธีง่ายๆแบบนี้เราสามารถวินิจฉัยโรคติดเชื้อได้แม่นยำขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับอาการทางคลินิก โดยเฉพาะวัณโรค(ติดสีทั้งทนกรดและทนกรดดัดแปลง) และถ้า modified acid fast เป็นบวก ติดสีแดงน่าจะเป็นเชื้อ nocardia แต่ถ้าเป็นลบติดสีน้ำเงิน ก็ น่าจะเป็น actinomycosis
ยังมีการย้อมสีอีกมากครับเช่นย้อมสี hematoxilin/eosin ดูเนื้อเยื่อ ย้อมสี periodic acid schiff ดูเชื้อรา การย้อมสีดำของตะกอนคาร์บอนด้วยหมึก india ink ดูเชื้อรายีสต์ การย้อม Wright's stain ดูเม็ดเลือด ว่างๆก็จะมาเล่าสนุกๆต่อไป
ที่มาจาก เรื่อง การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ การตรวจสิ่งส่งตรวจโดยตรงด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดย อ.สุรภี เทียนกริม ในหนังสือ case-based approach in infectious disease

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม