10 พฤศจิกายน 2560

เปิดตำนานขุมความรู้ไทย หัวล้านเจ็ดแบบ

เปิดตำนานขุมความรู้ไทย หัวล้านเจ็ดแบบ
ทุกคนน่าจะเคยได้ยินชนิดของ "หัวล้าน" แบบไทยๆที่ตั้งเป็นชื่อคล้องจองกันว่า .. ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ฉีกขวานฟาด ราชครึงเครา.. ใครไม่เคยเห็นไปดูที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย หรือที่เว็บไซต์ silpathai.net
ไอ้ครั้นจะให้ไปดูคุณผู้ชายที่บ้านก็เข้าใจดีว่าหลายท่านในนี้ไม่มีโอกาสมี "คุณผู้ชาย" ในบ้าน ก็เอารูปจากเว็บ silpathai.net มาประกอบให้ดู
แต่ขุมความรู้ไทยไม่ธรรมดานะครับ เพราะหัวล้านท่านชายนั้นเป็นการหัวล้านด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ใช่แล้ว ..ผู้ชายหัวล้านจะมีรูปแบบการล้านที่ต่างจากผู้หญิงหัวล้าน ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมน หากหญิงล้านแบบชาย ชายล้านแบบหญิงก็เป็นลักษณะอันหนึ่งของฮอร์โมนที่ผิดปกติ
ในที่นี้คือการล้านตามธรรมชาตินะครับ ไม่นับการล้านผิดธรรมชาติเช่นได้รับยาเคมีบำบัด
ในตำราการแพทย์เราแบ่งจัดระดับและเวลาของหัวล้านตามแบบตามลำดับที่เรียกว่า Norwood Classification ตามชื่อนายแพทย์ โอตาร์ นอร์วู้ด เกือบ 40 ปีมาแล้ว
มาดูตามลำดับนะครับ ในตอนแรกๆนั้นท่านชายจะเริ่มล้านจากขมับทั้งสองข้างเข้าไปก่อน นึกภาพพระเอกสมัยมิตร ชัยบัญชาเสยผมนะครับ นั่นแหละ ล้านตรงมือที่เสยนั่นแหละ ลึกเข้าไปก่อนส่วนด้านหน้าก็จะตื้นเขินเล็กน้อย ตามระยะที่ 1-2-3 ตามลำดับของนอร์วู้ด ที่เรียกว่า temporal hair loss หัวล้านแบบผู้ชาย ตรงกับของไทยก็คือ "ง่ามเทโพ"
หลังจากนั้นก็จะเริ่มล้านกลางกระหม่อม เป็นหย่อมกลางกบาล เหมือนซีเนอดีน ซีดาน และกว้างขึ้นๆ ส่วนง่ามเทโพก็จะลึกขึ้นๆ แต่ยังไม่หลอมรวมเป็นพื้นที่เดียวกันนะ ตามระยะที่ 4-5 ของนอร์วู้ด ตรงกับของไทยคือ "ชะโดตีแปลง"
และเมื่อผืนแผ่นดินมาบรรจบกันเป็นดินแดนเดียวกัน ก็จะเห็นโล่งเตียนจากเหนือจรดใต้แบบนี้ โดยที่เส้นผมด้านข้างๆและที่เหลือๆด้านผม ที่ชอบเอามาปิดพื้นแผ่นดินโล่งๆ เป็นบาร์โค้ดหรือสายกีต้าร์ เข้าสู่ระยะที่ 6-7 ของนอร์วู้ด แปลเป็นไทยเราดูเหมือนทางช้างข้าม...ไม่ใช่ทางช้างเผือกของอังศุมาลิน จึงเรียกว่า "ดงช้างข้าม"
และเมื่อผ่านไปอีก ผมส่วนที่เหลือข้างๆก็จะเริ่มห่างหายลาจากไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นทุ่งกุลาร้องไห้ เปรียบเสมือนทุ่งกว้างที่สุนัขซึ่งกลับบ้านเก่งมากยังไม่มีสัญลักษณ์ให้จดจำ(ไม่มีต้นไม้ คือเส้นผมหลงเหลือ) จนหลงทาง ก็คือ "ทุ่งหมาหลง"
แต่ถ้าเส้นผมที่เหลืออยู่มันกระดกและแผ่ออกมาด้านข้าง ก็จะเป็นลักษณะย่อยของทุ่งหมาหลง ดูเหมือนหงส์แดงบินผงาด นั่นคือชื่อไทย "แร้งกระพือปีก"
สำหรับบางคนเมื่อเข้าสู่ระยะทุ่งหมาหลง เลยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ไว้เคราเสียเลย เลื้อยลงมาตามจอนหน้าหู ต่อไปยังคาง ไว้หนวด เป็นที่ครั่นคร้ามแก่บรรดาลูกเขยทั้งหลาย นึกภาพไม่ออกก็ดูเมซซี่เวอร์ชั่นไม่มีเส้นผมนะครับ เรียกเป็นแบบไทยว่า "ราชครึงเครา"
เหลืออีกหนึ่งชนิดซึ่งพบน้อยกว่าที่เหลือมากคือ Norwood Classification เรียกว่า Norwood Class A คือจะล้านจากด้านหน้าเข้าไปเรื่อยๆ ตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆ หรือ "เหม่ง" นั่นแหละครับ แต่เป็นเหม่งแบบลุกลาม บริเวณหน้าผากจะกว้างเมื่อลึกเข้าไปทางกระหม่อมจะแคบลง จะต่างจากแบบมาตรฐานที่เป็น ง่ามเทโพ ร่วมกับ ชะโดตีแปลง แต่นี่กินลึกไปเรื่อยๆ เป็นลิ่มลึกไปเรื่อยๆ
จึงเรียกว่า "ฉีกขวานฟาด" ครับเขาอธิบายว่าเหมือนเอาขวานจามลงไปในดินเหนียว เราก็จะเห็นยุบลงเป็นรูปลิ่มสามเหลี่ยม หน้ากว้างแคบลึก
เอาละเราก็ได้เข้าใจลักษณะหัวล้านตามปรกติของท่านชายซึ่งมีอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศ และเข้าใจด้วยว่า การแบ่งหัวล้านแบบไทยๆ สมบูรณ์แบบพอๆกับ Norwood Classification เลยทีเดียวแถมเก่าแก่กว่าด้วย สุดยอดไปเลย ต้อนรับวันศุกร์หรรษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม