24 พฤศจิกายน 2559

ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหลังการผ่าตัด

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่คุมไม่ได้ หรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นเหตุที่จะต้องตัดต่อมไทรอยด์ แต่พอหลังจากตัดแล้วจะเกิดอะไรบ้าง ดูแลอะไร

   โดยทั่วไปเรามักจะรักษาด้วยยาก่อนเสมอยกเว้นเป็นพิษมากๆ ก้อนโตมากๆ เป็นซ้ำ กินยาไม่หาย หรือก้อนโตจนไปกดเบียดทางเดินหายใจ ก็จะต้องเอาไทรอยด์ออก ผมจะไม่ได้กล่าวถึงการใช้สารกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน I-131 ที่เราเรียกว่าการกลืนแร่    แต่จะกล่าวถึงการผ่าตัดครับ
   ก่อนผ่าตัดนั้น จะต้องควบคุมระดับไทรอยด์ให้เป็นปกติก่อนจึงจะเข้ารับการผ่าตัดได้ การผ่าตัดก็จะมีความเสี่ยงและต้องระมัดระวังในประเด็นต่างๆที่หมอจะอธิบายก่อนผ่าตัดครับ  และเมื่อหลังผ่าตัดก็จะต้องติดตามผลด้วย โดยทั่วไปก็จะไม่ผ่าตัดไทรอยด์ออกจนหมดนะครับ จะตัดออกเกือบหมดที่เรียกว่า subtotal (คือเกือบทั้งหมด) thyroidectomy

   หลังผ่าตัดไปสักระยะ แน่ล่ะว่า ฮอร์โมนไทรอยด์ต้องลดลงแน่ๆ เพราะแหล่งผลิตหายไป คราวนี้ต่อมไทรอยด์ส่วนที่ยังเหลือก็จะสร้างฮอร์โมนมาให้พอดีๆ ไม่มากมายเหมือนแต่ก่อน ปัญหาอยู่ที่ว่าส่วนที่เหลือจะสร้างพอหรือไม่ ถ้าไม่พอก็คงจะต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อชดเชย
   ฮอร์โมนที่กินนี้ เราก็จะเริ่มด้วยขนาดไม่สูงนัก สัก 50 ไมโครกรัมต่อวัน แล้วค่อยๆปรับเพิ่มเพื่อให้ได้ค่า TSH (thyroid stimulating hormone) ระดับปกติ ใช้เวลาในการปรับก็ไม่ตายตัวอาจจะ 6-8 สัปดาห์ก็ได้ หลังจากปรับจนได้ระดับแล้วก็ไม่ต้องติดตามบ่อย อาจติดตามทุกๆปีหรือทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนขนาดยาด้วยเหตุผลต่างๆ

   ข้อควรระวังสองอย่างคือ การใช้ยาในผู้สูงอายุหรือเราใช้ยาไปนานๆเราก็จะสูงอายุ คือยาในขนาดสูงๆอาจทำให้ใจสั่นและอาจเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ดังนั้นการใช้ยาคงจะใช้ในขนาดต่ำๆ เพิ่มน้อยๆเพิ่มช้าๆ เช่น ขนาด 12.5-25 ไมโครกรัมต่อวัน อาจจะต้องหักครึ่งเม็ดหรือกินยาวันเว้นวัน วันเว้นสองวัน ปรับแต่งขนาดจากระดับฮอร์โมน TSH ถ้ามีอาการใจสั่นเจ็บอกต้องแยกโรคหัวใจขาดเลือดทันที
   ฮอร์โมนตัวนี้มักแนะนำให้กินเวลาท้องว่างครับ เพราะอาหารและยาหลายชนิดอาจขัดขวางการดูดซึมได้ โดยเฉพาะยาที่มีองค์ประกอบของโลหะเช่น แคลเซียม (ซึ่งส่วนมากได้ใช้แน่ๆ) ยาธาตุเหล็กบำรุงเลือด ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม   หรือยาที่ทำให้ความเป็นกรดของกระเพาะลดลงก็มีรายงานว่าอาจจะ..อาจจะนะครับ เพราะข้อมูลขัดแย้งกันก็มี ขัดขวางการดูดซึม จึงแนะนำกินแยกจากยาอื่นๆครับ

   อีกประการที่สำคัญคือถ้าการผ่าตัดนั้นเกิดผ่าโดนต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมเล็กๆหลังไทรอยด์ที่หลั่งฮอร์โมน PTH (parathyroid hormone) คอยควบคุมแคลเซียมในเลือด ถ้าถูกตัดออกและขาดฮอร์โมนก็จะมีอาการของขาดแคลเซียมเรื้อรัง มีอาการชาตามตัว กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อเกร็ง คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (สำหรับนักเรียนแพทย์ ต้องรู้จัก Chovstek's sign และ Trousseau's sign) ก็ต้องรับประทานแคลเซียมร่วมกับวิตามินดีครับ กินเดี่ยวๆไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพื่อรักษาระดับแคลเซียมในเลือด และรักษาอาการอันเกิดจากแคลเซียมต่ำ โดยมีการวัดระดับและตรวจประเมินเป็นระยะๆครับ
   และอย่าลืมว่าถ้าต้องรับประทานกับฮอร์โมนไทรอยด์ คงต้องแยกเวลากันนะครับ เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของฮอร์โมนไทรอยด์ได้

    อีกข้อที่มักจะลืมคือ ต้องดูแลระดับแมกนีเซียมในเลือดด้วยเพราะถ้าแมกนีเซียมต่ำด้วย จะทำให้อาการที่เกิดจากแคลเซียมต่ำเกิดง่ายขึ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม