01 ธันวาคม 2563

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำเนิดและการสิ้นสุดของ "แผลกดทับ"

 มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำเนิดและการสิ้นสุดของ "แผลกดทับ"

ความจริงแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดแผลกดทับ ไม่ได้มีเพียงน้ำหนักและแรงกระทำโดยตรงต่อเนื้อเยื่อเท่านั้น แม้ว่าแรงกระทำจะเป็นปัจจัยหลักก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องร่วมดูแลเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับและต้องแก้ไขหากเกิดแผลกดทับแล้ว

1. แรงกระทำต่อเนื้อเยื่อ การกดทับนั้นจะทำให้การส่งอาหารและออกซิเจนลดลง และแรงกระทำเองก็เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อโดยตรง การป้องกันและรักษาหลักคือการลดแรงกระทำ วิธีที่ดีที่สุดคือ ขยับตัวบ่อย ๆ พลิกตัวบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนโลหิต ผ่อนแรงกระทำ แม้การใช้อุปกรณ์ช่วยคือ ที่นอนลม ที่รองเจล ก็ไม่สามารถทดแทนการขยับและพลิกตัวได้

2. โภชนาการ ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการจะมีโอกาสเกิดแผลมากกว่า และหากเกิดแผลแล้ว การแก้ไขภาวะทุพโภชนาการก็ช่วยทำให้แผลหายเร็ว ดังนั้น เรื่องการจัดการโภชนาการจึงสำคัญมาก ไม่ว่าจะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารโปรตีน หรือ สารอาหารเกินต้องจัดการร่วมด้วยให้สมดุล

3. ความชื้น ผิวหนังที่อับชื้นตลอดเวลา ไม่ว่าจากการเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ สารคัดหลั่ง เลือด จะมีโอกาสเกิดแผลมากกว่าและหายยากกว่า หรือปัจจัยที่เราหลงลืมบ่อยคือ การใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ก็เกิดความอับชื้นและสกปรก นอกจากทำให้เกิดแผลได้ง่ายแล้วยังเกิดการติดเชื้อง่ายอีกด้วย

4. การกำซาบของเลือดและน้ำเหลือง ถ้าบริเวณที่กดทับมีเลือดมาเลี้ยงน้อย โอกาสหายจะลดลง จึงต้องจัดการโรคของหลอดเลือดด้วย โดยเฉพาะโรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ โรคหลอดเลือดแดงตีบเรื้อรัง

5. ยาและสารเคมี โดยเฉพาะการทำแผลนั้น หากใช้สารฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ จะทำให้การหายช้าลง การทำแผลกดทับมีหลายวิธีขึ้นกับสภาพแผล มีเนื้อตายหรือไม่ ลึกเพียงใด กว้างเพียงใด หากเลือกใช้สารละลายทำแผลไม่ถูกต้องกับระยะ ก็จะหายยาก จึงต้องมีการตรวจติดตามและประเมินตลอดเวลา ปัจจุบันมีวัสดุทำแผลมากมายครับ ให้ปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อเลือกใช้ได้ หากไม่มีอะไรเฉพาะแบบ การทำแผลด้วยน้ำเกลือนอร์มัลและกำจัดเนื้อตายบ่อย ๆ ยังเป็นวิธีที่ดีครับ

การทำแผลไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ หากไม่มีหลักฐานของการติดเชื้อนะครับ เช่นแผลบวมแดง มีหนองมากขึ้น กลิ่นเหม็น หรือคลำได้ลมใต้ผิวหนังรอบ ๆ แผล และใช้ยาเฉพาะที่ก่อนการใช้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดหรือการกิน หากมีไข้สูงก็อย่าเพิ่งโทษว่าเป็นแผลติดเชื้อนะครับ โอกาสที่แผลกดทับจะเกิดติดเชื้อจนเป็นเหตุให้ติดเชื้อในกระแสเลือดมันไม่มากเลยครับ

ที่มา

Boyko TV, Longaker MT, Yang GP. Review of the Current Management of Pressure Ulcers. Adv Wound Care (New Rochelle). 2018;7(2):57-67. doi:10.1089/wound.2016.0697

Susanne Coleman, Claudia Gorecki, E. Andrea Nelson, S. José Closs, Tom Defloor, Ruud Halfens, Amanda Farrin, Julia Brown, Lisette Schoonhoven, Jane Nixon,Patient risk factors for pressure ulcer development: Systematic review,International Journal of Nursing Studies,Volume 50, Issue 7,2013,Pages 974-1003

Pauline Joyce, Zena EH Moore, Janice Christie. Organisation of health services for preventing and treating pressure ulcers. Cochrane Database of Systematic Reviews Dec 2018

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม