04 ธันวาคม 2563

ต้นเบต้าดีไหม ในโรคถุงลมโป่งพอง

 จะต้านหรือจะกระตุ้น !!

บางครั้งชื่อยาก็ทำให้สับสนลังเลได้เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เรามีการใช้ยากระตุ้นตัวรับเบต้า (beta 2 agonist) ในรูปยาสูดพ่นและหวังให้ออกฤทธิ์ที่ตัวรับเบต้า -2 ในหลอดลม แต่มันก็มีบางส่วนที่อาจหลุดไปกระตุ้น เบต้า-1 ได้บ้าง

ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เราจะใช้ยายับยั้งตัวรับเบต้า (beta antagonist) ในรูปยากินโดยหวังผลให้ออกฤทธิ์ที่ตัวรับเบต้า -1 ที่หัวใจ แต่คงมีบางส่วนที่หลุดไปยับยั้ง เบต้า-2 ได้บ้าง

ในอดีตหากมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังพร้อมกับโรคหัวใจขาดเลือด แล้วยาสองตัวนี้จะตีกันไหม

ตามทฤษฎี คงมีโอกาสตีกันได้บ้าง เพราะยาบางส่วนก็ข้ามปฏิกิริยาได้ ยาบางส่วนก็ดูดซึมไปโผล่อีกจุดได้ ในทางปฏิบัติมันพิสูจน์ยากมาก ว่าการให้ยาทั้งสองคู่กันมันจะไปทำให้อีกโรคแย่ลง ในเมื่อมันยังมีจุดอ่อน จึงต้องกำจัดจุดอ่อน เราใช้เทคโนโลยีมาผลิตยาที่ออกแบบให้จำเพาะเจาะจงกับตัวรับนั้น ๆ มากที่สุด ไม่ให้ไปออกฤทธิ์กับอีกฝ่าย (selective and high affinity to beta receptor) ไม่ว่าจะเป็นเบต้าหนึ่งหรือเบต้าสอง

ก่อนหน้าที่เทคโนโลยีการผลิตยาจะเจาะจงได้ขนาดนี้ การศึกษาการใช้ยาที่ไม่เฉพาะ (non selective) บอกมาว่ามันไม่เกี่ยวกัน ใช้ไปเถอะ ไม่ได้ส่งผลเสียอย่างที่เราคิดว่ามันจะไปต้านกัน สมาคมแพทย์โรคหัวใจยุโรปได้ประกาศว่าใช้คู่กันได้ในปี 2016 หลังจากนั้นก็มีการศึกษาทางคลินิกมาเพิ่มเติม โดยรวมกลุ่มยาที่เฉพาะเจาะจงกับตัวรับเบต้ามากขึ้น ก็ออกมาว่ามันแทบไม่ตีกัน ไม่ส่งผลเสียกับอีกฝ่าย แถมหากไปหยุดเพราะกลัวจะตีกัน จะทำให้โรคของอีกฝ่ายแย่ลงด้วย

ล่าสุดมีงานวิจัยโดยนักวิจัยจากจีน ทำการวิเคราะห์รวบยอดการศึกษาที่เคยมีมา (systematic review and meta analysis) ลงตีพิมพ์ใน european heart journal เมื่อ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ใครสนใจไปค้นเพิ่มสามารถอ่านฟรีได้ที่
Yan-Li Yang, Zi-Jian Xiang, Jing-Hua Yang, Wen-Jie Wang, Zhi-Chun Xu, Ruo-Lan Xiang, Association of β-blocker use with survival and pulmonary function in patients with chronic obstructive pulmonary and cardiovascular disease: a systematic review and meta-analysis, European Heart Journal, , ehaa793,

โดยรวบรวมการศึกษายุคใหม่ ที่มีแนวทางการรักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังและโรคหัวใจที่พัฒนาไปมากกว่าอดีต ยาใหม่ที่จับตัวรับได้แม่นยำและแนบแน่น มาทำการวิเคราะห์ว่า ในผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังที่ต้องใช้ยากระตุ้นเบต้านั้น จะมีการดำเนินโรค อัตราตายเป็นอย่างไรหากต้องใช้ยาต้านเบต้าร่วมด้วย เมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยาต้านเบต้า และหากเป็นยาต้านเบต้าชนิดเจาะจง ผลการศึกษาจะเป็นไปในทางใด

เขารวบรวมมาได้ 49 การศึกษา (12 RCTs) จำนวนตัวอย่างประมาณ 670,000 ราย พบว่า การใช้ยาต้านเบต้าไม่ได้ส่งผลทำให้โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังเกิดกำเริบขึ้นมาแต่อย่างใด เพือ่เทียบกับการไม่ใช้ และไม่ว่ายาต้นเบต้าใดก็ออกผลเช่นกัน นอกเหนือจากนี้ การใช้ยาต้านเบต้าเมื่อจำเป็นยังลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และอัตราตายโดยรวมอีกด้วย

และด้วยยายุคปัจจุบัน เรียกว่าการใช้ยาทั้งสองคือ inhaled beta 2 agonist และ cardioselective beta 1 antagonist ที่ชื่อเหมือนต้านกัน แต่จริง ๆ ไม่ได้ต้านกัน แถมยังช่วยกันลดอัตราการเสียชีวิตของแต่ละโรค ลดอัตราการเสียชีวิตของโรคอีกโรค และลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมได้ด้วย

ดังนั้นใช้ไปเถอะครับ อย่าให้ชื่อของยามาหลอก ยอม รับว่าตั้งใจมาหลอก ทุกคำที่บอก ล้วนแต่หลอก ล้วนแต่ลวง ยอมรับว่าต้องการแค่ควง ไม่รักไม่ห่วง อย่างที่พูดออกไป ....

ใครอ่านเป็นทำนองบ้างครับ

ในภาพอาจจะมี แมว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม