22 พฤษภาคม 2560

ถุงน้ำรังไข่ PCOS polycystic ovarian syndrome

เมื่อสตรีเพศก้าวสู่ความเป็นบุรุษ .. หนึ่งในโรคที่ต้องคิดถึงคือ ถุงน้ำรังไข่ PCOS polycystic ovarian syndrome

ชื่อของโรคก็เป็นซินโดรม คือ กลุ่มอาการหมายถึงถ้ามีอาการแบบนี้เราจึงเรียกว่าโรคนี้ การจะเข้าใจโรคนี้ง่ายๆและจดจำได้ เราจะต้องไปทีละขั้นนะครับ โรคนี้แม้ชื่อโรคจะออกเป็นทางก้อนทางถุงน้ำแต่จริงๆแล้วความผิดปกติกลับอยู่ที่ระบบฮอร์โมนครับ

สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงนั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่เราพบหลายๆทฤษฎีที่อธิบายได้ชัดเจน ว่าพันธุกรรมและความแปรปรวนของระบบการสร้างสารควบคุมการทำงานของร่างกาย
interleukin-6, interleukin-10 gene polymorphisms และ interleukin c, transforming growth factor -beta 1 คือความผิดปกติทางพันธุกรรมและส่งผลต่อสารควบคุมรวมทั้งอิทธิพลของพันธุกรรมจากแม่ การสัมผัสฮอร์โมนเพศตั้งแต่ในมดลูก หลายๆปัจจัยที่เริ่มตั้งแต่ในครรภ์

***ทั้งหมดส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่สำคัญสามประการ คือ การที่เนื้อเยื่อร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน เกิดการรบกวนการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่ (LH) และการสร้างฮอร์โมนเพศ androgen ที่ผิดปกติ (abnormal HPA axis)***

ความผิดปกติทั้งสามข้อนี้ ส่งผลทำให้เกิดอาการนั่นเองครับ เรามาว่ากันทีละข้อว่าทำให้เกิดอาการอย่างไร และอาการเหล่านี้นั่นเองที่เป็นที่มาของเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชื่อ Rotterdam criteria

อย่างแรก การดื้ออินซูลิน การดื้ออินซูลินคล้ายๆกับการเกิดโรคเบาหวานนะครับแต่ว่าจริงๆก็จะทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุง สัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตของโรคหลอดเลือดหรือไม่ แต่ถ้าเราคิดว่าโรคที่มีการตอบสนองของอินซูลินที่ผิดปกติที่เรียกว่า insulin resistance ก็จะมีความผิดปกติของโรคหลอดเลือดไม่ว่าอัมพาตหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ที่เป็นสาเหตุสำคัญ เราก็คิดว่าโรคนี้ก็จะย่อมเกิดเช่นกัน

อย่างที่สองฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่ผิดปกติไป อันนี้จะไปร่วมมือกับการดื้ออินซูลินและฮอร์โมนเพศชายที่มากเกิน ทำให้การตกไข่ผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ การฝ่อของรังไข่เกิดเป็นซิสต์มากมาย ฮอร์โมนเพศก็สร้างผิดปกติไปด้วย

อย่างที่สาม ฮอร์โมนเพศที่สร้างผิดปกติ จะมีฮอร์โมนเพศชาย (androgen) มากเกินไปทำให้พบลักษณะเพศชายหลายอย่าง เช่น ศีรษะล้าน หนวดเครา สิวมาก ผิวมัน อ้วน

เกิดเป็นเกณฑ์ Rotterdam ดังนี้ ไข่ไม่ตกหรือตกไม่สม่ำเสมอ, มีลักษณะเพศชายหรือตรวจพบฮอร์โมรเพศชายมากขึ้น, ถ่ายภาพพบถุงน้ำรังไข่ นับเกณฑ์สองในสามครับ

การรักษาก็รักษาสามประการนี้เช่นกัน

1.การดื้ออินซูลิน...ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รักษาโรคจากการดื้ออินซูลิน เบาหวาน ความดัน ถ้าเป็นเบาหวานนั้นการใช้ยาเม็ตฟอร์มินจะดีมาก เพราะยาตัวนี้จะไปลดการดื้ออินซูลิน ตรงกับโรคพอดีเป๊ะ

2. การตกไข่ มีผลต่อการมีบุตรนะครับ สำหรับคนที่อาศัยอยู่ที่คานทองนิเวศน์ก็อาจไม่ต้องใส่ใจตรงนี้
มากนัก ยาที่ใช้ตกไข่ที่แนะนำจากสมาคมสูตินรีเวชอเมริกาคือ clomiphene citrate รองมาคือยา letrozole (ที่ใช้ในมะเร็งเต้านมนั่นแหละครับ) มีรายงานว่ายา metformin ก็เพิ่มอัตราไข่ตกเช่นกัน และถ้าจะใช้ฮอร์โมนเร่งการตกไข่ ต้องใช้ขนาดน้อยและระวังการเกิดการกระตุ้นเกินขนาดที่เรียกว่า ovarian hyperstimulation syndrome

3.การมีฮอร์โมนเพศชายเกิน สามารถใช้ยาฮอร์โมนคือยาเม็ดคุมกำเนิดมาตรฐานในการรักษาเพิ่มฮอร์โมนเพศ ประจำเดือนมาปกติ หรือยาที่ไปต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน คือยา spironolactone ก็ใช้ได้ แต่ต้องระวังถ้าจะตั้งครรภ์ ยาห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือถ้าเป็นไม่มาก จะแว๊กซ์ขน โกน เลเซอร์ก็ได้นะครับ

การผ่าตัดรักษาจะหวังผลให้การตกไข่ปกติเท่านั้น ไมาสามารถไปแก้ไขการดื้ออินซูลิน และการมีฮอร์โมนเพศชายมากขึ้นได้ (ฮอร์โมนเพศชายมีสร้วงจากต่อมหมวกไตด้วยครับ) ถามว่าโรคนี้อันตรายไหม ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูกมากขึ้นครับ

ที่มา : AAFP, ACOG
Int J Womens Health. 2011; 3: 25–35.
Rev Assoc Med BRAs 2016; 62(9):867-871
ACOG. (2011). Polycystic ovary syndrome. Retrieved May 10, 2012, from http://www.acog.org/~/media/For%20Patients/faq121.pdf?

เครดิตภาพ : womans-health-advice.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม