18 พฤษภาคม 2560

เหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน

เหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน ...เรามาดูคำแนะนำกัน

   เหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน จริงๆเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็อัตราที่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่รายงานเป็นรายๆ อดีตไม่เคยมีการรวบรวม ไม่เคยมีการคิดสถิติตามระบบ ไม่เคยมีหมอที่ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินบนเครื่องแล้วถูกฟ้องร้อง แต่ในสภาพสังคมที่ผู้สูงอายุมากขึ้น การเดินทางทางอากาศนิยมมากขึ้น สักวันก็จะมีเรื่องแบบนี้มากขึ้น
  aerospace medical associations ตั้งขึ้นเพื่อศึกษา เก็บข้อมูลและวิเคราะห์เชิงสถิติการแพทย์ และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเวชศาสตร์การบินและอวกาศ ได้ออกคำแนะนำมาตรฐานร่วมกับ international civil aviation organization (ICAO) และ International Air Transport Association (IATA) เพื่อเป็นแนวทางให้กับสายการบินและหน่วยควบคุมการบินของประเทศต่างๆ  ให้นำไปประยุกต์ให้เข้ากับกฎหมายและสภาพการเงินของแต่ละประเทศนั้น (นั่นคือแนวทางแต่ละประเทศจะยังไม่เหมือนกันครับ)  แนวทางนี้ออกเผยแพร่ตั้งแต่ กรกฎาคม 2559 เพื่อให้สายการบิน ประเทศต่างๆ ลูกเรือ สนามบิน และอาสาสมัครที่จะเข้าไปช่วย ได้เข้าใจสถานการณ์และข้อควรปฏิบัติ

  in-flight medical events คือเหตุการณ์ทางการแพทย์ต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งปัจจุบันจะมีการเก็บข้อมูลและบันทึกเอามาวิเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางการจัดการเพื่อจะรักษาชีวิตได้มากขึ้น แบางเป็นเหตุการณ์ที่คาดได้เตรียมได้ เช่นทราบอยู่แล้วว่าจะมีผู้ป่วยแบบนี้มา มีการจัดการหรือมีทีมสนับสนุนมาแล้ว เช่นแจ้งไว้ก่อนว่าจะมีผู้ป่วยหนักมาด้วย มีหมอพยาบาล อุปกรณ์มาด้วย ส่วนอีกประการคือ ฉุกเฉินไม่คาดฝัน อันนี้ก็ตั้งแต่เจ็บตา ปวดเล็บ คันพุง  เวียนหัว กระแทกเพดาน  เล็กๆน้อยๆพวกนี้ส่วนใหญ่ลูกเรือจะจัดการได้จากชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลพื้นฐานที่เป็นชุดที่เราหาซื้อได้ทั่วไปอยู่แล้ว หรือเหตุไม่คาดฝันนั้นอาจจะหนักหนาเช่นหอบหืดกำเริบ โรคหัวใจเฉียบพลัน ก็จะมีชุดอุปกรณ์กู้ชีวิต ลูกเรือที่จะอบรมการกู้ชีวิต การขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครการแพทย์บนเครื่องบิน หรือการติดต่อกับความช่วยเหลือภาคพื้นดิน
  ตัวเลขบอกว่า เหตุการณ์หนักหนาแบบนี้มันยังเกิดน้อยมาก แต่ว่าต้องคิดก่อนว่าในอดีตการเก็บข้อมูลไม่ได้รัดกุมแบบนี้ และกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศยังหลากหลาย

  on-board medical supplies คืออุปกรณ์ที่แนะนำพื้นฐานที่ควรมีบนเครื่อง โดย ICAO ที่เป็นหน่วยย่อยหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ แนะนำเป็นแนวทางทั้งโลกร่วมกับองค์กรการบินและการท่องเที่ยวอีกหลายองค์กร แต่ไม่ได้บังคับนะครับ ให้ประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศและสายการบิน มีตัวอย่างสามชุด

  1. ชุดปฐมพยาบาล อันนี้หาง่ายทุกคนก็ใช้เป็น ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือ ได้แก่ สำลีฆ่าเชื้อ ผ้าพันแผล ก๊อสปิดแผล แถบกาวปิดแผล แอลกอฮอล์เจลล้างมือ ผ้าก๊อซสำหรับปิดตา ไม้ดามเฝือก กรรไกรเล็กๆ ถุงมือยาง เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้แบบดิจิตอล  หน้ากากช่วยหายใจ คู่มือการใช้ และ แบบบันทึกการช่วยเหลือ (checklist) 

  2. ชุดฉุกเฉินและกู้ชีพ ชุดนี้จะซับซ้อนขึ้น ลูกเรือส่วนมากจะได้รับการอบรมแล้ว อาสาสมัครทางการแพทย์จะเชี่ยวชาญกว่า ถ้าไม่มีก็อาจต้องขอความช่วยเหลือจากภาคพื้นดิน ได้แก่ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้และเครื่องวัดความดันแบบดิจิตอล หูฟัง หน้ากากป้องกันเชื้อ ถุงมือยาง  ท่อช่วยหายใจ หน้ากากและbag ช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ (oral airways) เข็มและหลอดฉีดยา สายน้ำเกลือ เข็มแทงน้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ ผ้าก๊อส ยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ตัดสายสะดือเด็กทารก กล่องใส่ขยะมีคมติดเชื้อ ไฟฉาย คู่มือและแบบบันทึก ...อันนี้ช่วยชีวิตคนแบบในรถพยาบาลได้เลย
   เครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (AED) กำหนดให้มีเช่นกัน เครื่องนี้สามารถติดตามคลื่นหัวใจได้ด้วย
  ยาต่างๆ ยากันชักและเป็นยานอนหลับให้สงบได้ คือ diazepam  ยาแก้อาการอาเจียน ยาขับปัสสาวะ แอสไพริน ยาขยายหลอดลมแบบพ่น (มี spacer แบบใช้แล้วทิ้ง) ยา atropine, adrenaline ในการกู้ชีพ ยาฉีดสเตียรอยด์ ยากินต้านฤทธิ์เบต้า (beta blocker) และขวดน้ำเกลือนอร์มัล 1 ลิตร  .... บางทีก็จะมียาหวัด ลดน้ำมูก แก้แพ้ ลดกรด แก้ปวด ส่วนมากจะอยู่ในกล่องปฐมพยาบาล..
  ยาฉีดอาจเป็นขวด หรืออยู่ในอุปกรณ์ฉีดอัตโนมัติแบบ autoinjector

3. อุปกรณ์ควบคุมการแพร่เชื้อ ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้จะมีเกณฑ์การใช้ที่ชัดเจน ลูกเรือจะได้รับการอบรม มีคู่มือและความช่วยเหลือภาคพื้นเสมอ  ได้แก่ antiseptic,disinfectants ถุงมือ หน้ากากกันโรค ถุงมือ กาวน์ยาวคลุมแขนขา หมวก ถุงขยะติดเชื้อ ผ้าขนหนูดูดซึมซับพิเศษ ผงแป้งพิเศษเอาไว้จับละอองฝอยน้ำเช่นจากน้ำมูกน้ำลาย เลือด ให้กลายเป็นเจล ไม่ฟุ้งกระจาย

  ground-based medical support อาจเป็นบริษัทประกัน หรือทางสายการบินมีอยู่แล้ว หรือเป็นหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละประเทศ เมื่อมีเหตุเกิดจะมีการติดต่อกับนักบินและลูกเรือ โดยเฉพาะกับเที่ยวบินยาวๆ และอาจทำงานร่วมกับอาสาสมัครการแพทย์บนเครื่อง เพื่อให้คำแนะนำ หน่วยงานกลุ่มนี้จะชำนาญและรู้วิธีจัดการทรัพยากรบนเครื่องเป็นอย่างดี รวมทั่งให้คำแนะนำการลงจอด (แต่กัปตันจะเป็นผู้พิจารณา)

ข้อควรทราบสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่อาสาสมัครช่วยบนเครื่อง  เป็นแนวทางสำหรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น กลุ่มที่รู้อยู่แล้วเตรียมทีมมาแล้ว ให้ทีมเขาจัดการไปนะครับ 
   ก่อนจะช่วยเขา ให้ตรวจความพร้อมของตัวเองก่อน เช่นเมาเครื่อง เมาเหล้า อันนี้อย่าไปช่วย หรือตัวเองป่วยอยู่ ก็อย่าไปช่วย ช่วยเมื่อตัวเองพร้อมเท่านั้น
  เป็นความรับผิดชอบของผู้โดยสารที่ป่วยที่จะต้องแจ้งทางสายการบิน หรือ เขาต้องให้ข้อมูลเพียงพอเมื่อเขาเกิดภาวะฉุกเฉิน
   ไม่ใช่ทุกสายการบินที่จะมีอุปกรณ์ครบ หรือมีการช่วยเหลือภาคพื้นดิน
   ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าเพราะมีจำกัด ต้องคำนึงถึงคนหมู่มากด้วย
   ถึงแม้ลูกเรือทุกคนจะผ่านการอบรมมาแล้ว แต่บุตลากรทางการแพทย์ทุกคนท่านชำนาญและนิ่งกว่าลูกเรือแน่นอน ใช้ประสบการณ์ของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  สำหรับลูกเรือ ควรจะมีการอบรมและการฝึกซ้อมเป็นมาตรฐานการอบรม ซึ่งปัจตุบันก็มีอยู่แล้ว ในเรื่องการปฐมพยาบาล การกู้ชีพ การใช้เครื่อง AED ลูกเรือจะได้รับการอบรมการใช้อุปกรณ์บนเครื่อง หากอาสาสมัครสงสัยให้สอบถามทันที และ ตามคำแนะยำของ ICAO และ IATA แนะนำให้มีการซ้อมจำลองสถานการณ์จริงๆร่วมกับอาสาสมัครทางการแพทย์ด้วยครับ

   ข้อกฎหมาย..ยังไม่มีข้อกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องทางกฎหมายของการเข้าไปอาสาช่วยเหลือ และยังไม่มีคำตัดสิน กรณีฎีกาเกิดขึ้น อันนี้คือฟ้องบุคคลนะครับ แต่มีกรณีที่ทางสายการบินถูกฟ้อง ในคำแนะนำฉบับนี้เขาเขียนว่า ..ถ้าสายการบินหรือร้องขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร สายการบินก็จะปกป้องอาสาสมัครด้วย ก็จะ..นะครับ แต่ตามหลักกฎหมายก็ไม่ได้เป็นการจัดการงานนอกสั่ง ไม่ได้ประมาทเลิ่นเล่อ น่าจะไม่เกิดปัญหาใดๆ  ปัจจุบันจึงมีแบบบันทึกและแบบฟอร์มเช็คลิสต์เพื่อเป็นหลักฐานอันหนึ่ง ท่านที่เป็นอาสาสมัครก็จะมีลูกเรือที่ทราบข้อนี้คอยช่วยเหลือเรื่องบันทึกครับ

  ข้อกฎหมายอีกอันที่ต้องเข้าใจเป็นพิเศษ คือ การเริ่มปฏิบัติการกู้ชีวิต ทุกประเทศและสายการบินจะตัดสินตามความเหมาะสมของเขาเองนะครับ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิด แม้แต่ญาติบอกว่าไม่ประสงค์จะกู้ชีวิต ทางสายการบินและลูกเรืออาจจะต้องกู้ชีวิตไปก่อน โดยขอคำแนะนำจากภาคพื้นหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ และถ้าอาสาสมัครไม่ประสงค์จะให้กู้ชีวิต ทางสายการบินและลูกเรืออาจร้องขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครท่านอื่นๆได้ด้วย
   และการหยุดการกู้ชีวิต อันนี้แหละครับท่านอาจถูกร้องขอให้ช่วย อาจมีทีมงานภาคพื้นคอยช่วยอีกที 
   ซึ่งรายละเอียดการเริ่มกู้ชีวิตและการหยุดกู้ชีวิตนี้ จะแตกต่างกันตามสายการบิน ประเทศ ศาสนาต่างๆ แต่ไม่ต้องกลัวครับลูกเรือและกัปตันทุกคนจะทราบกฎเกณฑ์ของตัวเองดี ท่านปรึกษาเขาได้

  ตัวอย่างสถานการณ์เช่น หมดสติ อย่างแรกลูกเรือจะมาดูก่อนว่ารับรู้สติดีไหม ชีพจรดีไหม ถ้ายังดีอาจให้นอนชั่วคราวแล้วให้พักต่อได้ ในกรณีไม่ตื่นหรือไม่มีชีพจร ก็จะเอาเครื่อง AED มาใช้ก่อน ท่านอาจถูกร้องขอให้ช่วย พร้อมกับการใช้ชุดฉุกเฉิน คำแนะนำภาคพื้น ช่วยๆกัน ในกรณีที่ไม่มีการสนับสนุนจากภาคพื้น ท่านก็จัดการตามความเหมาะสม และถ้าสงสัยเป็นโรคหัวใจรุนแรง หรือโรคที่รุนแรงแนวโน้มแย่ลง อาจร้องขอให้กัปตันนำเครื่องลง ซึ่งกัปตันจะพิจารณาความปลอดภัยและการช่วยเหลือที่สนามบิน เมื่อพร้อมแล้วก็จะลงจอดได้ ...ส่วนมากจะลงจอดนะครับ ถ้าจำเป็นจริง อย่าลืมว่าการลงจอดนอกแผนมันจะป่วนหลายอย่าง แต่ถ้าการรักษาชีวิตผู้โดยสารเป็นสำคัญ กัปตันก็ทำครับ...
  ตัวอย่างสถานการณ์โรคติดต่อ  อันนี้ลูกเรือจะได้รัยการฝึกอบรมมาอย่างดี ได้แก่ให้หน้ากากอนามัยแก่ผู้โดยสารที่ไอตลอด และถ้าดูอาการแย่อาจต้องให้ผู้โดยสารท่านนั้นไม่ลุกไปไหน หรือจัดแถวให้นั่งห่างจากคนอื่นๆ (ในกรณีที่นั่งว่าง) หรือจัดห้องน้ำให้เป็นที่กักกันโรคชั่วคราว..อันนี้ถ้าทำได้นะครับ..และแจ้งนักบินให้แจ้งสถานการณ์กับสนามบินปลายทาง
  
  สรุป checklist สำหรับ อาสาสมัคร
1. ก่อนขึ้นเครื่อง คิดไว้ก่อนเลย อาจถูกร้องขอ เตรียมตัวมีเอกสารแสดงตัวจะดีมาก หรือถามฝ่ายกฎหมายดูก่อนเลย
2. ถ้าไม่พร้อม ไม่ว่ากายหรือใจ ไม่ต้องช่วย
3. ถามลูกเรือถึงแนวทางและวิธีของสายการบิน เวลาจะช่วย 
4. แสดงตัว ประกาศตัวว่าพร้อมช่วย มีเอกสารด้วยจะดี (ตรวจ MD card ของท่านซิ หมดอายุหรือยัง)
5. ถ้าสถานการณ์รุนแรง ให้ขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะภาคพื้น เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ให้ทำงานเป็นทีมเสมอ ลูกเรือทุกคนช่วยได้
6. เอาชุดอุปกรณ์มาใช้, ขอ AED หรือใช้ telemedicine 
7. ให้ลูกเรือคนหนึ่งอยู่กับเรา คอยช่วยเหลือเรา ตอบคำถาม ติดต่อกับกัปตัน 
8. ถ้าไม่เก่งภาษา ขอล่ามเลยครับ
9. พยายามรักษาในท่านั่ง เพราะพื้นที่จำกัด ยกเว้นต้องนอนราบให้ขอให้ลูกเรือช่วยเคลียร์พื้นที่
10. เรื่องการเริ่มกู้ชีวิต และการหยุดช่วยชีวิต เป็นการตัดสินใจของลูกเรือและสายการบิน โดยความช่วยเหลือจากอาสาสมัครและการสนับสนุนภาคพื้น เช่นเดียวกับการหยุดกู้ชีวิต เนื่องจากอาจเกิดปัญหากับข้อตกลง do not resuscitation
11. บันทึกเหตุการณ์เสมอ ใช้แบบบันทึกตามที่สายการบินมีให้ และอย่าลืมเก็บสำเนาไว้ด้วย
12. อย่าทำอะไรเกินตัว เกินที่เชี่ยวชาญ อย่าทำอะไรที่ไม่แน่ใจ ..แต่จำเอาไว้ ถึงแม้จะเชี่ยวชาญน้อยแค่ไหน คุณก็ยังเชี่ยวชาญมากกว่าลูกเรือทุกคนและผู้โดยสารเกือบทุกคน

คิดว่าทั้งหมอ ทั้งคนไข้ น่าจะเดินทางด้วยเครื่องบินกันอย่างสบายใจนะครับ จะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ใช้ common sense เป็นหลักเลยครับ อาจต้องรอการศึกษาวิจัยมากกว่านี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม