ดนตรี ใช้ในการรักษาได้จริงไหม
เรื่องนี้ติดอยู่ในใจมานานแล้วนะครับ และอ่านมาหลายที่ หลายฉบับ มีข้อมูลทั้งที่ช่วยและไม่ช่วย มีความแตกต่างกันในการศึกษามากมาย เอาเป็นว่าผมเล่าให้ฟังโดยรวมแล้วกันนะครับ จำอ้างอิงไม่ได้แล้วบันทึกไว้นานแล้วครับ
การใช้ดนตรีเพื่อการกระตุ้นภาวะร่างกายนั้นมีมาตั้งแต่กรีกโบราณ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพื่อให้นักกีฬามีพละกำลังมากขึ้นซึ่งสมัยนั้นก็ใช้ดนตรีประเภทเครื่องเป่าและเครื่องเคาะจังหวะเป็นหลักซึ่งก็พบว่า โอเค..เล่นสนุกขึ้นแหละนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลทางดนตรีหรือไม่ แหม..ใครน่าจะลองเปิดเพลงเวลาลิเวอร์พูลแข่งสักหน่อยนะครับ
การใช้ดนตรีบำบัดมาเริ่มพัฒนาในการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ป่วยสมาธิสั้น หรืออารมณ์พลุ่งพล่าน ในยุคนั้นเพลงที่ใช้ก็จะเป็นเพลงคลาสสิคของโมสาร์ท,บาค,ไฮเดิน,บีโธเฟ่น ก็พบว่าได้ผลดีเพียงแต่ว่ากลุ่มการศึกษาเป็นกลุ่มเล็ก ไม่สามารถแปลผลในวงกว้างได้เลย รวมทั้งความนิยมในบทเพลงในส่วนต่างๆของยุโรปก็ไม่เหมือนกัน การศึกษาที่ทำในอิตาลีส่วนมากก็ใช้เพลงที่แต่งขึ้นในอิตาลี ไม่ได้ใช้เพลงคลาสสิคสากลนิยมมากนัก บังเอิญว่าการศึกษาส่วนใหญ่ทำในอิตาลี
หลังจากนั้นผ่านมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การพัฒนาการรักษาต่างๆเริ่มเข้าสู่ยุคของการศึกษาแบบหลักฐานเชิงประจักษ์และคิดหาเหตุผล จึงมีการศึกษาที่ออกแบบดีขึ้น ควบคุมตัวแปรและวัดผลออกมาดีขึ้น จับต้องได้ ทำให้ข้อมูลของการใช้ดนตรีออกมาเป็นที่ประจักษ์ ผมขอยกตัวอย่างที่น่าจะดูสมเหตุสมผลทางวิทยาศาสตร์นะครับ
มีการศึกษาการใช้ดนตรีเปิดให้กับผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจ ก็พบว่ากลุ่มที่ได้รับดนตรีบำบัด มีชีพจรเต้นต่ำลงซึ่งเราต้องการตรงนั้นนะครับ การใช้ยาลดอาการปวดลดลง หรือในไอซียูที่มีผู้ป่วยวิกฤตทางหลอดเลือดและหายใจ การเปิดเพลงคลาสสิกสามารถลดระดับการใช้ออกซิเจนของเนื้อเยื่อ ลดชีพจร ลดยานอนหลับลงได้ อีกหลายการศึกษาในไอซียูที่บอกว่าช่วยลดความเครียด เพิ่มความสำเร็จในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ แต่ยังไม่มีการศึกษาใดพิสูจน์การลดอัตราตายครับ อีกอย่างกลุ่มตัวอย่สงของทุกการศึกษาเล็กมาก ส่วนการศึกษาในสายงานจิตเวชเขามีขนาดใหญ่และน่าเชื่อถือกว่าทางอายุรศาสตร์มากมายนัก
มีการศึกษาเชิงสรีรวิทยาว่าการฟังดนตรีนั้น แม้แต่ในขณะไม่รู้ตัว ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานในสมอง โดยใช้เครื่อง PET-CT scan (วันหลังคงหาเวลาเขียนเรื่อง PET-CTอีกครั้ง) นักวิจัยเชื่อว่าเซลประสาทรับเสียงที่มีอยู่เป็นแสนๆเซลในหูแต่ละข้าง ทำงานอย่างยุ่งเหยิงทำให้กระแสประสาทที่เข้าสู่สมองยุ่งเหยิงไปด้วย แต่...แต่..ถ้าเราเปิดเพลงที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะสมนี้เดี๋ยวจะว่ากันอีกที จะทำให้การทำงานของประสาทนี้เป็นจังหวะ สอดประสานกันได้ เรียกว่าทำงานเป็นทีมเลยระหว่างซีกซ้ายและขวา การควบคุมระบบอัตโนมัติในร่างกายดีขึ้น
หรือแม้แต่การเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลเช่นกัน เรียกว่ามีผลทั้งทางกายและทางใจ
แล้วประเด็นคืออะไร...นักวิจัยค้นพบว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ และพบโดยมาก..โดยมากของเขานี่ เรียกว่ากลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นส่วนใหญ่ของกลุ่มที่มาศึกษา ... คือ rhythm จังหวะเพลงที่ประมาณ 60 beats/minutes ไม่เร็วเกินไม่ช้าเกิน จะช่วยได้ดีที่สุด ซึ่งไปตรงกับบทเพลงของคู่ศิษย์และอาจารย์(ต่างยุค)ที่แต่งเพลงคล้ายๆกันคือ โจฮาน เซบาสเตียน บาค ศิลปินเพลงในยุคบาโรค และ โวฟกัง อมาดิอุส โมสาร์ท ศิลปินในยุคกลาง
การศึกษาส่วนมากใช้เพลงของสองท่านนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าเพราะใช้ของสองท่านนี้มากมายหรือไม่ ผลการศึกษาจึงเลี้ยวมาทางสองท่านนี้ หรือว่าจริงๆแล้วเป็นเพราะสองท่านนี้มีแนวเพลงตรงจริตคนส่วนมาก ที่เรียกว่าตรงจริต เพราะเป็นการตรงแบบถึงระดับจิตใต้สำนึก ระบบประสาทอัตโนมัติเลย
มีการศึกษาถึงเพลงยุคที่ทันสมัยขึ้นมาก็พบว่าผลน้อยลงไป ไม่ว่าจะเป็น ซิมโฟนี่ที่ชื่อก้องที่สุดในโลกอย่าง หมายเลขเก้าของบีโธเฟ่น ลองไปหาฟังนะครับ (ที่ถือว่าเป็นขบถของซิมโฟนี เพราะท่อนสุดท้าย มีเนื้อร้องด้วยนั่นเอง) ก็พบว่าการไหลเวียนเลือดสมองไม่ต่างจากไม่มีเพลง
เพลงแจ๊สยุคใหม่ก็พบว่าไม่มีหลักฐานชัดๆว่าช่วย มีทั้งบวกและเท่าตัว โดยมีสถาบันของเพลงที่พยายามทำเรื่องนี้ตั้งชื่อตามปรมาจารย์แจ๊ส คือสถาบันดนตรีบำบัดหลุยส์ อาร์มสตรอง
เพลงอิเล็กโทรนิกแด๊นซ์ ดนตรีร๊อค ฮิปฮอป มีคนนำการศึกษาเช่นกันแต่ก็ไม่พบว่าจะช่วยเหมือนอย่างคลาสสิค ดนตรีอื่นๆเรายังไม่ทราบเพราะยังไม่มีใครศึกษาจริงจังครับ และอีกอย่างที่ผมกล่าวตอนแรก แต่ละภูมิภาคของโลกก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและฟังดนตรีต่างกัน ประเด็นนี้ยังไม่มีใครทำให้กระจ่างนะครับ ว่าถ้าใช้ดนตรีท้องถิ่นจะดีหรือไม่ ใครทำงานอยู่ในไอซียูอีสานจะลองหมอลำดูบ้างไหมก็เข้าทีนะครับ
แต่สุดท้ายผลสรุปออกมา ก็จะมีแนวโน้มว่าการฟังดนตรีจะช่วยบำบัดให้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ
สุดท้ายขออัญเชิญตอนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่หกมานะครับ
"...ชนใดไม่มีดนตรีกาล................ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ........เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์ .."
วันนี้คุณฟังดนตรีแล้วหรือยัง ???
ภาพสต๊อกฟรีจาก pixabay.com โหลดมาใช้ได้ไม่ติดลิขสิทธิ์ครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น