28 พฤศจิกายน 2558

nobel prize in Medicine 2015

nobel prize in Medicine 2015

   ขอกล่าวเรื่องยุงทิ้งท้ายอีกรอบครับ รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2015 ให้แก Dr. YouYou Tu ชาวจีน ผู้ทุ่มเทในการวิจัยการรักษามาเลเรียดื้อยาด้วย artemisinin derivatives ที่ทำให้การควบคุมดูแลมาเลเรียทรงประสิทธิภาพมาก ยาอาร์ทีมิสสินิน หรือพอเอามาใช้ในบ้านเราคือยา อาร์ทีซูเนตนั้น ทำให้การรักษามาเลเรียดีมากและลดการดื้อยาลงได้ องค์การอนามัยโลกได้ทำข้อตกลงในการใช้ยาอาร์ทีซูเนตในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมไทยด้วย ที่จะใช้ยานี้เพื่อคุมการดื้อยา ซึ่งอุบัติการณ์เชื้อดื้อยาก็ลดลงมากเลยครับ
   เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออดเดงกี่ พาหะโดยยุงนั้นยากที่จะควบคุมได้ครับ ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศการป้องกันมาเลเรียที่ใช้ได้มาแค่ 2 อย่างคือ ใช้มุ้งที่มีสารฆ่าแมลง หรือการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงในครัวเรือน โดยสารที่แนะนำมีแค่ 4 ชนิด คือ carbamates, organochlorines, organophosphates and pyrethroids ปัจจุบันเริ่มพบว่าเจ้ายุง anopheles ที่เป็นพาหะมาเลเรียมันเริ่มทนทานยาฆ่าแมลงไพรีธอยด์แล้วครับ แต่พบในอินเดีย และประเทศแถวทะเลทรายซาฮาร่า

    สำคัญที่อาการของมาเลเรียก็คือไข้สูงอย่างเดียวครับ เมื่อโรครุนแรงขึ้นจึงจะแสดงอาการเฉพาะเช่น เม็ดเลือดแดงแตก ตับม้ามโต ปัสสาวะดำ ช็อก สมองพิการ อาการไข้สูงอย่างเดียวต้องแยกจากโรคเขตร้อนหลายๆโรคครับ ไข้เลือดออกเดงกี่ ไข้รากสาดน้อย ไข้รากสาดใหญ่ ไข้ฉี่หนู ในอดีตเรามักพบในคนที่ไปท่องเทียวป่า หรือติดชายป่า โดนยุงกัด 1-2 สัปดาห์แล้วค่อยมีอาการ ปัจจุบันนี้ด้วยการเคลื่อนย้ายประชากรและเชื้อชาติ โดยเฉพาะ AEC ปลายปีนี้ คงจะทำให้มาเลเรียมาเยี่ยมเยือนท่านถึงหน้าบ้าน เราพบมาเลเรียมาในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเมียนมาร์ และลาว ถ้าบังเอิญเจ้ายุง anopheles มันมาด้วยก็คงติดกันสนุกสนาน (อย่าลืมว่า โรคมาเลเรียและไข้เลือดออกเดงกี่ ไม่ติดเชื้อจากคนสู่คนนะครับ)

    เมื่อเราสงสัยโรคนี้ก็มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน แม่นยำมากขึ้น ในอดีตเราต้องเอาเลือดไปส่องกล้องให้เห็นตัวปรสิต plasmodium ที่ทำให้เกิดโรค แยกชนิดของพลาสโมเดียม เพราะใช้ยารักษาต่างกัน นับปริมาณการติดเชื้อ (infected cells) เพื่ออาจต้องถ่ายเลือด ตอนนี้สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ยังต้องทำนะครับ แต่เราก็มีวิธีตรวจที่ดีขึ้น เป็นชุดคิตเพื่อตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อ พลาสโมเดียม PfHRP2 ในการตรวจเชื้อ plasmodium falciparum ที่เป็นมาเลเรียรุนแรงและขึ้นสมองได้มีความไวและความจำเพาะสูงมาก รวมถึงสามรถตรวจสารพันธุกรรมของมาเลเรียตัวใหม่ plasmodium knowlesi ได้ด้วย

   การรักษาไม่ว่าเป็นมาเลเรียรุนแรง หรือไม่รุนแรง ปัจจุบันยารักษาประสิทธิภาพสูงมาก ผลข้างเคียงต่ำมาก เข้าถึงยาได้ทุกคน อาร์ทีซูเนต ไพรมาควิน คลอร์โรควิน เมฟโฟลควิน
ส่วนการป้องกัน ประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องป้องกันถ้าคุณจะไปเที่ยวนะครับ โดยทั่วไปจะป้องกันเมื่อ Annual Parasite Index หรือ อัตราการเกิดโรคในรอบปีต่อประชากร 1,000 คน มากกว่า 10 แต่ของไทยเราได้แค่ 1 เองครับ

ที่มา : แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียในประเทศไทย พ.ศ.2557
: WHO annual report 2014
: WHO artemisinin-based combination therapy (ACT) southeast programme

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม