26 พฤศจิกายน 2558

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก

  จริงๆว่าจะไม่ยุ่งเรื่องนี้แล้วนะครับ แต่มีแฟนเพจถามเข้ามาพอสมควร แสดงว่าเรื่องนี้ยังมีความเข้าใจผิดพลาดอีกมาก คือ ไข้เลือดออกครับ ผมคงไม่พูดถึงอาการ การป้องกัน การกางมุ้ง คว่ำขัน ใส่ทรายอะเบท อะไรอีก แต่จะมาอธิบาย "แก่น" ของไข้เลือดออกเลย

  ขอเริ่มต้นอย่างนี้ก่อน หลอดเลือดฝอยของมนุษย์เรา ลักษณะเป็นตาข่ายสานกันถี่ๆ ให้เลือดและสารต่างๆเดินทางได้ แน่นอนมีบางส่วนรั่วออกมา และถูกดูดกลับ เป็นสมดุล ถ้ารั่วมากก็จะมีท่อน้ำเหลืองคอยดูดส่วนเกินกลับ ร่างกายจึงสมดุลได้ แต่..แต่ เมื่อเกิดภาวะการผิดปกติ เช่น ติดเชื้อ ได้รับสิ่งแปลกปลอม มะเร็ง สารเคมี ร่างกายมนุษย์ก็จะสร้างทหารมาต่อสู้ เราเรียกปฏิกิริยานี้ว่า การอักเสบ ครับ ทหารที่ว่านี้คือภูมิคุ้มกันนั่นเอง เวลาสู้รบกันก็จะเกิดความเสียหายแก่ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งในที่นี้คือ สายใยตาข่ายของหลอดเลือดฝอยนี่แหละครับ มันจะถ่างขยายออกจากปฏิกิริยาของเราเองครับ ทำให้สารต่างๆ สารน้ำไหลออกนอกหลอดเลือดหมด จึงเกิดภาวะช็อกขึ้นมาครับ เพราะเลือดมันไม่ไปสู่อวัยวะต่างๆ มันไหลออกระหว่างทางหมด ช็อคทุกอย่าง ยกเว้นหัวใจวาย จะเกิดแบบนี้ครับ

  เวลาติดเชื้อไข้เลือดออก ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อไวรัส เกิดเป็นสงครามโลกในร่างกายเลยครับ เกิดหนัก เกิดทุกส่วน จึงเกิดอวัยวะล้มเหลวได้ ถ้าร่างกายชนะ ทำลายเชื้อจนตายหมด ทหารก็จะกลับกรมกอง ปฏิกิริยาก็จะลดลง ตาข่ายเส้นเลือดก็จะกลับมาสานกันแน่นดังเดิม พ้นภาวะช็อก และหาย แต่ถ้าต่อสู้กันยืดเยื้อ ร่างกายก็จะช้ำมาก เราจึงต้องช่วย ให้ยาฆ่าเชื้อ ให้เลือด ให้น้ำเกลือ ใส่เครื่องพยุงการทำงาน รอจนร่างกายชนะเชื้อโรค ยิ่งนานยิ่งเสียหาย ยิ่งบอบช้ำ บางอย่างก็อาจไม่กลับคืน เช่น ไตวาย สมองขาดเลือด

  ถ้าร่างกายแพ้ ระบบอวัยวะจะล้มเหลวพร้อมกันและเสียชีวิตเร็วมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วช็อก จึงเป็นภาวะเร่งด่วนจริงๆ ไข้เลือดออกเป็นเชื้อไวรัส ร่างกายจะแย่ลงจากปฏิกิริยาอักเสบของตัวเอง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย จะแย่กว่านี้ เพราะสารพิษของแบคทีเรีย (endotoxin) ก็กระตุ้นกระบวนการนี้ได้เช่นกัน
  การพยุงร่างกายก็ไม่ง่ายนะครับ เช่น ถ้าตาข่ายรั่วมาก สารน้ำก็รั่วมาก น้ำในเลือดไม่พอ ความดันก็ต่ำ ต้องให้สารน้ำปริมาณมาก ให้มากนี่ ระดับ 8-10 ลิตรต่อวันครับ ( ร่างกายคนมีเลือด 5 ลิตรเอง ) ให้มากเกินบางทีก็ท่วมอวัยวะต่างๆอีก รั่วมากก็ทำให้แรงดันตกลง คือ ความดันโลหิตต่ำลง ก็ต้องให้ยาไปกระตุ้นหัวใจ ให้มากไปปั๊มเสีย หัวใจพังอีก อย่าลืมว่าโรคไม่ได้เกิดที่หัวใจนะ ครั้นจะให้ยาไปบังคับตาข่ายที่รั่วให้บีบแน่นๆ ให้มากเกิน เส้นใหญ่แน่นพอดี แต่เส้นเล็กๆที่ไปแขนขามันจะแน่นเกินไป ก็เกิดแขนขาขาดเลือด ส่วนปลายตายได้

  ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียก็ต้องให้ยาให้ตรงเชื้อ ถ้าเป็นไวรัสอย่างไข้เลือดออกเดงกี่ในบ้านเรา ไข้เลือดออกอีโบลาจากแอฟริกา ไข้เลือดออกชิคุนกุนย่าในมาเลเซีย ก็ต้องประคับประคองและพยุงร่างกายให้ดีที่สุด อาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เครื่องปอดเทียม อาจต้องใช้เครื่องไตเทียม หรือ ตับเทียม ในการพยุงให้ร่างกายจริงๆฟื้นมา ในบางคนปฏิกิริยานี้ก็รุนแรงมากๆ อย่างคุณทฤษฎีนั่นแหละครับ เชื้อโรคก็ตัวเดิมๆ แต่ปฏิกิริยาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้การดำเนินโรคของแต่ละคนต่างกับ เอามาเทียบกันไม่ได้ครับ

ดังนั้นการรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องรวดเร็ว รุนแรง ตรงเป้า ไม่เยิ่นเย้อ ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ของจริงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม