09 พฤศจิกายน 2558

ปวดจุกแน่น แสบร้อนท้อง

ปวดจุกแน่น แสบร้อนท้อง

ปัญหาอันดับหนึ่งในเวชปฏิบัติครับ functional dyspepsia เพิ่งมีการทบทวนในวารสาร New England Journal of Medicine 5 ตค. 2558 ผมหยิบมาเล่าให้ฟังครับ เอาภาษาง่ายๆแล้วกัน

อย่างแรกอาการต้องเข้าได้ก่อน ทางการแพทย์มีเกณฑ์ที่เรียกว่า ROME III criteria กล่าวง่ายๆว่า จะต้องมีอาการเรื้อรังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เรื้อรังมากว่า 6 เดือน และเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน โดยมีอาการแน่นๆหรือแสบบริเวณท้องส่วนบน ไม่ร้าวไปที่ใด และถ้าจะบอกว่าเป็นจุกแน่นธรรมดา functional นั้น ก็จะต้องแยกโรคอื่นๆไปก่อน การซักประวัติและตรวจร่างกายก็ทำเพื่อแยกโรคอื่นๆนี่แหละครับ บางทีก็ต้องตรวจเพิ่มง่ายๆ เช่น ตรวจอัลตร้าซาวนด์ หรือตรวจอุจจาระ
เราแบ่งโรคนี้ออกเป็นสองแบบ ที่แบ่งออกก็เพราะใช้ยารักษาต่างกันครับเป็น แสบร้อน (epigastric pain syndrome) หรือ จุกแน่น (postprandial fullness syndrome) อาการก็ตามชื่อนั่นแหละครับ ถ้ามีอาการอย่างอื่นๆก็อาจคิดถึงโรคอื่นๆด้วย เช่น อาเจียน แสบคอ ก็อาจเป็นกรดไหลย้อนหรือถ้ามีอาการร่วมกับการถ่ายอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงหรืออาการดีขึ้นเมื่อถ่ายอุจจาระก็จะคิดถึง โรคลำไส้แปรปรวนเป็นต้น หรือถ้าใช้ยาแก้ปวดก็อาจคิดถึงแผลในกระเพาะ บางที่ตรวจลมหายใจหาเชื้อ helicobactor pylori ได้ก็ต้องกำจัดเชื้อนั้นด้วย

การรักษาก็อย่างที่ทราบกันแต่ทำไม่ได้สักที คือ ปรับอาหารให้ย่อยง่าย ไม่มีรสจัดจ้านนัก กินน้อยๆแต่บ่อยมื้อ ลดกาแฟ น้ำอัดลม อย่ากินมื้อค่ำหนักมาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีผลต่อการรักษามาก ถ้าไม่ทำรับรองไม่หายครับ ส่วนการใช้ยานั้นก็จะแบ่งออกเป็นกลุ่มยาดังนี้
1. กลุ่มยาลดกรด H2 blocker และ proton pump inhibitor เช่น ยา ranitidine, omeprazole ใช้ได้ดีในการแสบร้อนมากกว่าการจุกแน่น ยกเว้นยา rabeprazole (Pariet) ที่มีการศึกษาออกมาว่า ใช้ได้ดีทั้งแสบและจุกแน่น

2.ยาปรับการเคลื่อนที่ทางเดินอาหาร prokinetic drug ที่ใช้อยู่ก็มักจะดีกับอาการแน่น อืดท้องมากกว่า เช่น itopride, prucalopride ส่วนยา domperidone เดิมไม่ได้รับคำรับรองให้มารักษาอาการนี้ แต่ตอนนี้ทาง อย.อเมริกากำลังทบทวนใหม่ครับ
ยาใหม่ที่กำลังจะออกมา รอผลการทดลองขนาดใหญ่ก่อน ได้แก่ acotiamide (AChE inh) และยากลุ่ม 5-HT1a --tandospirone, buspirone--

3. ยาโรคซึมเศร้า เพราะทางเดินอาหารถูกควบคุมจากสมองนั่นเอง มีการใช้ยาแล้วลดอาการจุกแน่นได้ดี คือยากลุ่ม TCAs ได้แก่ amitriptyline
ยาที่เชื่อกันอื่นๆไม่พบว่าเกิดประโยชน์นะครับ เช่น sucralfate, bismuth, antacid ยาธาตุน้ำขาว !!!! (โอ้ว..กินมาตลอดชีวิต) และการใช้ยาก็ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกัน ควรมีช่วงปรับตัวอย่างเดียวโดยไม่ใช้ยาด้วย

การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบกับยาหลอก แต่พบว่ายาหลอกสามารถลดอาการได้ 40% เห็นว่าไม่ใช้อะไรก็หายเกือบครึ่งเลยนะครับ
โดยทั่วไปก็จะลองรักษาดูก่อน 3 เดือน ลดเหตุเสี่ยง ใช้ยา ติดตามผลดูก่อนครับ เพราะลองเอาผู้ป่วยจุกๆแสบๆ มาลองส่องกล้องดู พบว่าปกติ 70 % เป็นแผล 10 % เท่านั้น และนับว่าที่มีอาการจนมาหาหมอก็แค่ 40% ของผู้ป่วยทั้งหมด การไปตรวจมากเกินไปเลยดูไม่สมเหตุสมผล ยกเว้นถ้ามีอาการเตือนต่างๆเหล่านี้ควรพิจารณาตรวจเพิ่มเติมครับ เพราะมีโอกาสเป็นโรคอื่นๆได้ (นักเรียนแพทย์ เรซิเดนท์ เฟลโลว์ จำไปสอบได้เลยครับ)

1.อายุมากกว่า 55 แล้วปวดรุนแรงครั้งแรก
2.เลือดออกทางเดินอาหาร
3.กลืนเจ็บ กลืนลำบาก
4.อาเจียนตลอด
5.น้ำหนักลดลง (ต้องไม่ตั้งใจลดนะครับ)
6.มีประวัติญาติพี่น้องเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
7.คลำพบก้อนในท้อง
8.โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม