08 พฤศจิกายน 2558

คุณตรวจสุขภาพครั้งสุดท้ายเมื่อไร


หายไปสองวัน ทำภารกิจสอบวิชากฎหมายครับ เสร็จสิ้นเสียที ในช่วงที่สอบได้แอบอ่านรีวิว 2 เรื่อง ที่อยากอ่านมานานแล้ว ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังสนุกๆ
ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่ผมสนใจตลอดเลย เราคงเคยได้ยินเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีไปหลายครั้ง ผมเองก็เคยโพสต์ในเฟสบุ๊ก ว่า "คุณมาตรวจสุขภาพ แต่ได้โรคกลับไป" เอาว่าจริงๆการตรวจสุขภาพทั่วไป มันเปลี่ยนชีวิตคุณจริงหรือไม่

การตรวจในความคิดของผมมีสองอย่างนะครับ อย่างแรก คุณไม่มีความเสี่ยงใดๆ จะไม่มีจริงๆ หรือว่าไม่รู้ว่าเสี่ยงก็แล้วแต่ คุณเดินไปตรวจร่างกาย ตรวจแล็บ เจาะเลือด เอ็กซเรย์ แล้วเอาผลมานั่งดู อย่างที่สอง คุณมีความเสี่ยงแล้วตรวจเพื่อหาผลแห่งความเสี่ยงนั้น เช่น คุณเป็นผู้ที่ดื่มเหล้าจัด แล้วตรวจติดตามเรื่องมะเร็งตับ คุณกินยาแก้ปวด NSAIDs เป็นประจำแล้วไปส่องกล้องดูกระเพาะ เอาเข้าจริงๆแล้วประโยชน์ของแบบแรกไม่มีเลย และประโยชน์ของแบบที่สองก็ไม่มากนัก
มีการศึกษาวิจัยมากมาย และเอามาสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในทางการแพทย์และเศรษฐศาสตร์ พบว่าการไปตรวจประจำปีนั้น ไม่ได้ช่วยให้พบโรคมากขึ้น ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้ทำให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจรู้สึกตระหนักกับผลที่ได้ ไม่ได้เครียดกับผลการตรวจ ไม่ได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเดิมๆเลย เช่น ไปตรวจแล้วพบว่า น้ำตาลสูงเล็กน้อย ก็ยังกลับไปใช้ชีวิตตามเดิม หรือพบค่าเอนไซม์ของตับสูงขึ้น ซึ่งไม่สามารถแปลผลอะไรได้ หรือแม้แต่ไปพบจุดขาวๆในภาพเอ็กซเรย์ปอด ก็ไม่ได้ทำให้คุณๆหรือหมอๆตกใจสักเท่าไร เพราะคุณไม่มีอาการและความเสี่ยงใดๆ

ในทางตรงข้าม มันจะพาไปสู่การวินิจฉัยมากเกิน และตรวจค้นต่อโดยไม่จำเป็น ที่พบบ่อยมากๆคือ อายุไม่มาก ความเสี่ยงไม่มี ไปตรวจสาร CEA แล้วขึ้นเกินค่าปรกติ ซึ่งทางการแพทย์เราใช้เพื่อ--ติดตามผลการรักษา--และ--ดูการเกิดซ้ำ-- ของมะเร็งหลายๆชนิด ไม่สามารถใช้วินิจฉัยมะเร็งได้ เอาล่ะ คุณไม่เหมือนโรคมะเร็งและใช้การตรวจอะไรก็ไม่รู้มาตรวจมะเร็ง แล้วคุณก็กังวล หมอก็กังวล (กังวลอะไร !! ยังตอบไม่ได้) แล้วก็ไปส่องกล้องทางเดินอาหาร ตัดชิ้นเนื้อ โอกาสเจอโรคต่ำมาก เจอตุ่มเนื้อแล้วโอกาสเป็นมะเร็งก็น้อยมากๆ แต่คุณเสียเงิน เสียเวลา ในการตรวจไปแล้วและคำตอบที่ได้ก็ไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่า "คุณเสี่ยงเท่าคนทั่วไป"

มีการศึกษาเรื่องนี้ที่ใหญ่มาก เป็นการศึกษาเปรียบเทียบเจตนาให้ดูว่ามันมีผลไหมชื่อว่า INTER99 study เอาคนที่ไม่มีความเสี่ยงมาตรวจประจำปี แนะนำและติดตาม เทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ตรวจประจำดูแค่ตอนแรกกับสุดท้าย ไม่ได้แนะนำอะไร ได้ผู้ทดลอง 60000ราย ตามไป5ปี พบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจไม่ต่างกันเลย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตตอนเริ่มศึกษากับสิ้นสุด ก็ไม่เปลี่ยนเลยทั้งสองกลุ่ม
ในขณะที่เรามีมาตรการการตรวจในคนที่เสี่ยง เพื่อตรวจพบในระยะแรก ไม่ให้เกิดโรคในระยะท้ายๆ อันนี้จะมีประโยชน์มากกว่า เช่น คุณมีประวัติพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นเบาหวานทุกคน การตรวจคัดกรองเบาหวานจะมีค่ากับคุณมาก คุณมีอาชีพเป็นพยาบาลห้องผ่าตัด การตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะมีประโยชน์มาก หรือคุณเป็นโรคตับแข็ง การตรวจคัดกรองหามะเร็งตับจะมีประโยชน์มาก

แต่ในความเป็นจริง เรากลับไม่ค่อยตรวจตามความเสี่ยงนัก เช่นเป็นผู้หญิงกลับไม่ยอมตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูก เป็นผู้ชายอายุ 50 ปี แต่ไม่ยอมตรวจอุจจาระหามะเร็งลำไส้ คุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย...คุณกลับปฏิเสธการตรวจหาไวรัส HIV

ลองทบทวนดูอีกทีนะครับ ก่อนเข็มเจาะเลือดจะเจาะคุณว่า..คุณได้อะไร...

ที่มา : Effect of screening and lifestyle counselling on incidence of ischaemic heart disease in general population: Inter99 randomised trial
BMJ 2014; 348 doi: http://dx.doi.org/10.1136/bmj.g3617 (Published 09 June 2014)

ที่มา : General health checks in adults for reducing morbidity and mortality from disease
Stephanie Thompson & Marcello Tonelli
09 October 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม