01 กรกฎาคม 2564

เรื่องของ 'ค่าตอบแทน'​ในการมารับวัคซีน

 เรื่องของ 'ค่าตอบแทน'​ในการมารับวัคซีน

วารสาร NEJM กล่าวว่า การให้ความรู้อาจจะจูงใจไม่พอ มีการเพิ่มแรงจูงใจ ไม่ว่า แจกพันธบัตร แจกเบียร์ แจกล็อตเตอรี่ ก็เพิ่มตัวเลขคนเข้ามารับวัคซีนได้ระดับหนึ่ง

ในวารสารกล่าวว่า น่าจะนำไปใช้กับการรักษาสุขภาพอื่น ๆ เช่นการเลิกเหล้า เลิกบุหรี่

ค่าตอบแทนเหล่านี้ ได้รับการบวกลบคูณหารมาแล้วว่า คุ้มค่ากว่าทรัพยากรที่ต้องใช้ในการป่วยจากโรคแน่นอน ในการวิจัยเรื่องเลิกบุหรี่หลายชิ้นงานที่มีค่าตอบแทนให้ หากรายงานการสูบในการศึกษา หรือมารับอุปกรณ์เลิกบุหรี่ตามกำหนด

แต่ในวารสารกล่าวว่ามันควรจะเป็นกลยุทธสำหรับ สิ่งที่ใช้ครั้งเดียวได้ผล และในระยะสั้น ต่อไปควรสร้างสิ่งอื่นที่ถาวรและจริงใจกว่านี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะ

เราไม่ควรมีสุขภาพที่ดีเพราะสิ่งตอบแทน แต่เราควรอยากมีสุขภาพที่ดี เพราะเราจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถมีเรี่ยวแรงดูแลตัวเอง ครอบครัว และสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติได้

อย่างวัคซีนงูสวัด รอบเดียวจบ อาจใช้ได้ ไม่ต้องแจกเงินหรอก เอาไปลดหย่อนภาษีได้ก็พอ หรือได้ส่วนลดในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ในปีนั้น ชักจูงไปเสริมสุขภาพต่อยอดได้อีก (ตำแหน่ง รมต. คงอีกไม่นานแล้วเรา)

แต่ถ้าเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ต้องต่อเนื่อง เช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เช่นการตรวจตาในโรคเบาหวาน แบบนี้หากใช้ค่าตอบแทน จะทำให้เขา 'ติด'​ค่าตอบแทน มากกว่าความต้องการรักษาสุขภาพที่ดี

ความจริงโอกาสนี้เราน่าจะรณรงค์และทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย (เวลาพ้นช่วงระบาดอาจใส่ตอนที่ตัวเองป่วย)​รวมถึงวัคซีน

ในอดีต วัคซีนไข้หวัดใหญ่เข้ามาฉีดฟรี ปีละ 5-6 ล้านโด๊ส ยังเหลืออีกมาก ซื้อเองก็ 500-800 บาทต่อเข็มต่อปี มีคนสนใจน้อยมาก

พอโควิดมา วัคซีนทางเลือกเข็มละหลายพัน วัคซีนฟรีก็หมด เราเห็นความสำคัญของมันไงครับ

ลองอ่านดูครับ ฟรีจาก NEJM

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMp2107719…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม