02 กรกฎาคม 2564

ข้อมูลเรื่องยา ivermectin ในโรคโควิด-19

 ข้อมูลเรื่องยา ivermectin ในโรคโควิด-19

ปัจจุบันมีการส่งข้อมูลเรื่องการใช้ยาต้านเชื้อปรสิต ivermectin เพื่อช่วยรักษาโควิด19 ก็ต้องบอกว่ามีการศึกษานะครับ แต่ข้อมูลที่ผ่านมาก็บอกว่าการใช้ยา ivermectin ยังไม่ช่วยเพิ่มประโยชน์ในการรักษาโรคโควิด 19

ข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าใส่ ivermectin ลงไปในเซลล์เพาะเลี้ยงไวรัส จะตรวจจับดีเอ็นเอของไวรัสได้ลดลงเกือบห้าพันเท่า น่าจะช่วยลดการแบ่งตัวได้ แต่อย่าลืมว่าข้อมูลนี้มาจากในห้องทดลอง ปริมาณไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงไม่มาก และความเข้มข้นของยาที่ใช้ในห้องทดลอง อาจจะไม่ถึงระดับการรักษาจริงในเนื้อเยื่อปอดเรา

งานวิจัยจากโคลัมเบีย ลงตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ได้ทำการศึกษาทดลองแบบสุ่ม เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาด้วยยา ivermectin เทียบกับยาหลอก ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการน้อย ว่าประสิทธิภาพของ ivermectin จะช่วยหรือไม่

ผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างจากฐานข้อมูลสาธารณสุขผู้ป่วยที่ติดเชื้อ จากการตรวจโดยวิธี PCR ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ปี 2563 โดยเลือกชายหรือหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ อาการป่วยแบบเล็กน้อย มีอาการมาภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน ไม่เคยได้รับยา ivermactin มาก่อน และไม่มีอวัยวะใดมีผลจากการติดเชื้อ ... จะเห็นว่าแม้วิธีสุ่มเข้ามาจะดี ไม่มีความโน้มเอียง แต่เมื่อสุ่มเข้ามาแล้วจะเลือกเข้าการศึกษา เขาตั้งเกณฑ์การศึกษาสำหรับผู้ป่วยที่อาการดีระดับหนึ่ง

ก่อนจะอ่านต่อผมคาดหวังไว้ว่า ผลการศึกษาอาจจะไม่เห็นความแตกต่าง เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง ไม่ว่าจะรักษาให้ยาหรือไม่ อาการก็ไม่ต่างกันและส่วนมากหายเองได้

ได้คนมา 476 คนมาแบ่งกลุ่มอย่างละครึ่งได้ 238 คน สุดท้ายได้คนมาวิเคราะห์ในกลุ่มได้รับยาหลอก 198 คนและได้รับยา ivermectin 200 คน โดยวัดผล "ระยะเวลานับตั้งแต่สุ่มตัวอย่างจนถึงหายเป็นปรกติ" ว่าสองกลุ่มนี้ต่างกันหรือไม่ โดยใช้ยา Ivermactin ในรูปสารละลายดื่ม

... ใครอ่านฉบับเต็มจะเห็นว่ามีการเปลี่ยน เป้าหลักในการวิจัย เพราะตอนแรกวัดผลป้องกันโรคที่แย่ลง แต่เพราะคนที่ป่วยแข็งแรงดี อาการน้อย โรคมันเลยไม่แย่ลง จึงต้องเปลี่ยนเป้าหมาย "อันนี้ซีเรียส" และมีการเปลี่ยนรูปแบบยาหลอกระหว่างการวิจัยด้วย

ผู้ป่วยที่เข้ามาในการศึกษาส่วนมาก เป็นสุภาพสตรีอายุประมาณ 40 ปี ไม่มีโรคร่วมและอาการก็น้อยถึงน้อยมาก ผลการศึกษาออกมาว่า ระยะเวลาที่นับตั้งแต่สุ่มตัวอย่างจนหายเป็นปรกติ สำหรับยา ivermectin อยู่ที่ 10 วัน ส่วนยาหลอกอยู่ที่ 12 วัน ต่างกันสองวัน "ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ" ผลแทรกซ้อนของทั้งกลุ่ม ivermectin 77% ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง (มีรายที่ต้องออกจากการศึกษา 7.5%) ส่วนในกลุ่มยาหลอกเกิด 81.3% (มีที่ต้องออกจากการศึกษา 2.5%) เช่นกันกับประโยชน์ โทษก็ไม่ต่างกันทางสถิติ

สรุปว่า การให้ยา ivermectin ในขนาดที่ใช้ในการศึกษานี้ (ปรับขนาดจากห้องทดลอง เพื่อระดับยาที่สูงพอในปอด) ไม่ได้ช่วยให้การหายเร็วขึ้นไปกว่ายาหลอก และมีผลข้างเคียงไม่ต่างจากยาหลอก (แต่อย่าลืมว่า ผู้เข้าวิจัยแทบไม่มีอาการและหายเอง) ซึ่งเป็นตัวเลขผลข้างเคียงที่สูงพอสมควร

บวกลบคูณหารเรื่องการใช้ยาที่ไม่ต่างจากยาหลอกและมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา การศึกษานี้บอกเราว่า หากอาการไม่มาก การใช้ยา ivermectin ไม่เกิดประโยชน์ในแง่หายเร็ว (ไม่ได้วัดประโยชน์ในแง่อื่นเลยด้วย)

แต่ก็ยังบอกไม่ได้ ว่า ivermectin ไม่ดี หรือใช้ไม่ได้ในโรคโควิด เพราะระเบียบวิธีวิจัยยังไม่ดีนัก และไม่ครอบคลุมผู้ป่วยครบทุกกลุ่ม ยังคงต้องรอข้อมูลต่อไป

แม้การศึกษาลงในวารสารชื่อดังว่า "no benefit" แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเลิกคิดยาตัวนี้ไป ยังคงต้องศึกษาต่อไปครับ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีของใหม่ที่หลักฐานดีกว่ามาหักล้างความรู้เดิมได้ตลอดครับ

ที่มา
López-Medina E, López P, Hurtado IC, et al. Effect of Ivermectin on Time to Resolution of Symptoms Among Adults With Mild COVID-19: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2021;325(14):1426–1435. doi:10.1001/jama.2021.3071

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม