18 กรกฎาคม 2564

มอลต้า ความโรแมนติก และโรคบรูเซลล่า

 เราไปเที่ยวมอลต้ากันไหมครับ น่าสนใจนะ

มอลต้าเป็นเกาะเล็ก ๆ สองเกาะกลางทะเลเมดิเตอเรเนียน ตรงจุดเกือบตรงกึ่งกลางทะเลเลยครับ ถ้าเราหลับตานึกถึงประเทศอิตาลี ประเทศรูปรองเท้าบูทยาว ๆ ทางยุโรปใต้ เราไล่สายตาลงมาจนสุดรองเท้า เราจะเจอเกาะซิซิลี หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวโรแมนติกแห่งหนึ่งของโลก แหม... คิดถึงน้องแอร์โฮสเตสคนนั้นจัง... มาต่อเรื่องของเราดีกว่า

ใต้ลงไปจากเกาะซิซิลีเล็กน้อย จะมีเกาะสองเกาะประกอบกันเป็นประเทศมอลต้า คือเกาะ Malta และเกาะ Gozo รวมพื้นที่เพียงแค่ 316 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าเกาะภูเก็ตของเราอีก ฟังผมเล่ามาแล้วทุกคนคงจะเดากันได้ใช่ไหมครับ ว่าประเทศมอลต้ามีเศรษฐกิจหลักและจีดีพีของประเทศมากจากการท่องเที่ยวนั่นเอง ด้วยความที่เป็นเกาะสวยกลางทะเล เป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่วโลก ซึ่งข้อเท็จจริงอันนี้ ไม่ได้เป็นจริงแค่ในยุคปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่มอลต้ายังเป็นที่นิยมและหมายตาของนานาชาติมาตั้งแต่โบราณ

มีบันทึกเรื่องราวของเกาะมอลต้ามาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ก่อนยุคสมัยของอียิปต์และโรมัน เพราะตำแหน่งของมอลต้า อยู่กึ่งกลางอารยธรรมของโลก ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ยุโรป ในแต่ละยุคสมัยก็จะมีการเดินเรือสำรวจ การเข้ายึดครอง ไปทั่วทะเลเมดิเตอเรเนียน และแน่นอนเกาะมอลต้าก็ไม่รอดเงื้อมมืออาณาจักรต่าง ๆ ทำให้นอกจากธรรมชาติอันสดสวยกลางทะเลสุดคลาสสิก มอลต้ายังอุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมและเรื่องเล่าจากอดีตมากมาย เป็นอีกหนึ่งจุดขายของมอลต้าครับ

ท้ายสุดในปี 1813 มอลต้าตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตลอดกาลคือ อาณาจักรบริเตน อยู่ในการปกครองของอังกฤษถึง 150 ปีก่อนจะได้รับเอกราช บทบาทสำคัญของมอลต้าภายใต้การปกครองของอังกฤษคือ เป็นฐานทัพเรือ โดยเฉพาะเป็นจุดสำคัญของกองเรือราชนาวีอังกฤษเพื่อเข้าโจมตีอิตาลี และจุดพักเรือสำคัญของสัมพันธมิตรใจสมรภูมิรบที่แอฟริกาเหนือ

ใครชอบเล่มเกม Sniper Elite เกมสายลับลอบสังหารในสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาค 3 และ 4 คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแถบนี้นั่นเองครับ ทั้งอิตาลีและแอฟริกา

นั่นคือมอลต้านั้นเป็นฐานทัพ มีกองทัพอังกฤษมาขับเคลื่อนประเทศในยุคก่อนได้อิสรภาพมาตลอด และหนึ่งในทหารที่มีชื่อจากมอลต้าคือ ผู้กอง David Bruce (ยศในขณะประจำการที่มอลต้าในช่วงปี 1883-1888) แต่ผู้กองบรูซ ไม่ได้เป็นนักรบ ผู้กองบรูซเป็นคุณหมอนักธรรมชาติวิทยาต่างหาก โยเฉพาะเรื่องของนก ornithology (ประเทศเราก็คือ อ.รังสฤษฎ์ กาณจนะวณิชย์ ครับ)

เราขอพักมอลต้าไว้สักครู่ แล้วเดี๋ยวจะกลับมาที่มอลต้าอีกครั้ง

คุณหมอบรูซ ท่านเป็นคนอังกฤษก็จริงครับ แต่ท่านเกิดในต่างแดน ในปี 1855 ครอบครัวท่านย้ายไปที่ดินแดนหนึ่งของอาณาจักรอังกฤษ คือ ออสเตรเลีย ในเวลานั้นดินแดนออสเตรเลียยังเป็นป่าดงพงพี เต็มไปด้วยธรรมชาติซึ่งที่นั่นได้หล่อหลอมเด็กชายบรูซให้รักธรรมชาติ ชอบค้นคว้าศึกษาแบบออกไปค้นคว้าจริง ไปหาข้อมูล บันทึก วิเคราะห์ หาข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงในธรรมชาติกับตำราเล่มหนา ๆ ที่มีมานาน

เมื่ออายุประมาณ 6 ขวบก็ย้ายกลับมาที่อังกฤษเพื่อมาศึกษาเล่าเรียน จนได้เข้าศึกษาที่ University of Edinburgh ที่ตอนแรกตั้งในเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ ในสาขาย่อยสัตววิทยา ตามความสนใจของหนุ่มบรูซ แต่ในปี 1877 ในช่วงแรกที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนั้น หนุ่มน้อยบรูซป่วยเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อ อาการหนักทีเดียว หลังจากนั้นนั่นเอง ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวและคำชักชวนของเพื่อน ๆ จึงหันมาเรียนแพทยศาสตร์

ตลอดเวลาที่เรียนแพทยศาสตร์ นศพ.บรูซ ก็ยังชอบศึกษาธรรมชาติ พยายามตั้งสมมติฐานและเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ค้นคว้า วาดรูป ทำแผนผังแผนภูมิ ในยุคสมัยนั้นเพิ่งค้นพบเชื้อโรค เพิ่งค้นพบกล้องจุลทรรศน์แบบที่ใช้ได้แพร่หลาย เพิ่งตื่นรู้สาเหตุต่าง ๆ ของโรคครับ ทำให้ในยุคสมัยนั้นเกิดความท้าทายในการเรียนรู้ ระหว่างผู้สอนที่มีความรู้ยุคเก่ากับความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่มากในยุคนี้ อารมณ์เหมือน digital disruption ในยุคปัจจุบัน และนศพ.บรูซก็เป็นเช่นนั้นเสียด้วย

หลังจากจบแพทย์ คุณหมอบรูซก็ทำงานรักษาคนและศึกษาธรรมชาติอย่างที่ตัวเองรัก พร้อมกับแต่งงานกับ 'คู่ชีวิต' ของจริง เพราะมีใจรักการศึกษาค้นคว้าเหมือนกัน ที่สำคัญคือเธอมีความสามารถทางศิลปะสูงมาก เธอจึงช่วยถ่ายทอดความรู้ ทฤษฎีและข้อสรุปต่าง ๆ ของหมอบรูซมาเป็นแบบภาพ หรือที่ปัจจุบันก็ถือ infographic เรียกว่ามีผู้กำกับศิลป์ส่วนตัว แถมไปไหนไปกัน ออกงานนี้ ไปงานนั้น สู้ร่วมกันมาตลอด ...โห ซึ้งง่ะ แอบบอกว่าตอนจบซึ้งกว่านี้อีกนะ รอติดตาม

จนในปี 1883 ชื่อเสียงหมอบรูซที่โด่วดังในแง่ศึกษาต้นตอ สมมติฐานของโรคและนำมาบรรยายได้อย่างเข้าใจ แถมมีอินโฟกราฟฟิกที่สุดอลังการอีกด้วย ทางกองทัพจึงได้ทาบทามให้เข้าทำงาน ซึ่งหมอบรูซและภรรยา ก็ไม่รอช้า ชอบผจญภัย ชอบความท้าทายอยู่แล้ว จึงรับงานทันที และจุดหมายปลายทางนั้นคือ ... มอลต้า

เอาล่ะ กลับมามอลต้าครั้งนี้ เรามีคุณหมอบรูซและภรรยามาด้วย ถ้าใครคิดว่าจะได้มาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ท่ามกลางบรรยากาศโรแมนติกล่ะก็ มันไม่ใช่แบบนั้นครับ

ที่มอลต้าปี 1884 มีโรคประหลาดเกิดขึ้น โรคที่ไม่มีใครอธิบายได้ เกิดทั้งในค่ายทหารอังกฤษและชุมชนรายรอบค่ายทหารนั้น โดยที่มีการวิเคราะห์โดยเสนารักษ์และคนท้องถิ่นแถวนั้นเรียบร้อย ตั้งชื่อว่า Mediterranean fever หรือ Malta fever แน่นอน ไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่าชื่อพื้นที่เกิดเหตุ แต่ในเวลานั้นถือว่าดังพอควร ทำให้เหล่าทหารไม่อยากมาอยู่พื้นที่นี้ ก็คงจะมีแต่ผู้กองบรูซ ที่ยินดี

ผู้กองได้ศึกษารูปแบบของไข้ที่เกิด พบว่าลักษณะของไข้มอลต้า ไม่เหมือนกับที่เคยพบเห็นมาในตำรา คือมีไข้ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นช้า ๆ สูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุด แล้วจึงค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ เช่นเดียวกัน และลดลงจนเป็นปรกติ แล้วก็เริ่มขึ้นใหม่ วนเวียนไปเรื่อย ๆ เราเรียกลักษณะไข้แบบนี้ เป็นรูปคลื่นแบบนี้ว่า undulant fever

แวะมานอกเรื่องซักหน่อย รูปแบบของไข้นี่สำคัญมากนะครับ สามารถแยกโรคเบื้องต้นได้เลย และคุณหมอบรูซท่านคิดว่าโรคนี้น่าจะเป็นโรคใหม่ ก็จากรูปแบบของไข้ที่ไม่เคยพบและอธิบายได้มาก่อน

1. ไข้ขึ้นเร็ว ขึ้นสูง แล้วไม่ลดลงเลย เรียก sustained fever เช่น ไข้เลือดออก

2. ไข้ขึ้นสูง ขึ้นเร็วลงเร็วแบบฟันปลา โดยเวลาไข้ลงจะลงจนเป็นปรกติ เราเรียก intermittent fever เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด

3. ไข้สูงแบบข้อสาม แต่เวลาไข้ลด จะไม่ลดเป็นปรกติ ยังสูงอยู่ เรียกว่า remittent fever เช่น ไข้รากสาด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

4. ไข้สูง ขึ้นสูงเร็วและคงที่ เวลาลดก็ลดลงเร็ว ลงเป็นปกติแล้วทิ้งระยะไว้พักหนึ่ง อาจจะครึ่งวันถึงสองวันแล้วกลับมามีไข้ซ้ำ เรียก relapsing fever เช่น มาเลเรีย

แต่ undulant fever ไม่เคยพบมาก่อน ไม่เคยมีการระบุเชื้อโรคมาก่อน บรูซจึงตัดสินใจหาเชื้อตัวใหม่ที่จะมาอธิบายอาการนี้ เลิกคิดว่าเป็นเชื้อเดิมที่เคยรู้จัก เขาได้ทำการชันสูตรศพทหารในค่ายที่เสียชีวิตจากโรคนี้ และก็พบเชื้อใหม่ เชื้อที่ยังไม่มีใครพบมาก่อนเรียกชื่อตอนนั้นว่าเป็นจีนัส micrococcus และชื่อของเชื้อนี้คือ Micrococcus melitensis คือเชื้อที่ก่อโรคนี้และมีพาหะคือ แพะ !! ทำไมจึงเป็นแพะ แพะมาจากไหน

หลังจากที่บรูซพบว่าสาเหตุของ undulant fever, Malta fever คือแบคทีเรียไมโครคอคคัส เขาก็เริ่มออกไปสืบค้นชาวบ้านในเมือง Valletta เมืองหลวงของมอลต้าที่มีรายงานโรคนี้ เขาก็พบว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีอาการเหมือนทหารในค่ายเลย เมื่อเขาขอทำการตรวจศพ ก็พบเชื้อไมโครคอคคัสเช่นกัน เขาจึงสรุปว่าน่าจะเป็นโรคเดียวกัน ติดต่อถึงกัน

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่มีเชื้อไมโครคอคคัสนี้คือ พวกเขาเป็นเกษตรกรเลี้ยงแพะและนำนมแพะเข้ามาส่งในกองทัพเป็นประจำ แสดงว่า ถ้าไม่ชาวบ้านนำเข้ามาติด ก็ทหารติดออกไปหาเขา ติดกันทางไหนล่ะ จะได้ป้องกันได้ ..คำตอบคือ ยังไม่รู้ แต่เบื้องต้นทางกองทัพสั่งห้ามคนนอกเข้ามาส่งนมแพะ และเลิกใช้นมแพะไปสักระยะ ปรากฏว่าโรค undulant fever ในค่ายทหารกลับลดลง แสดงว่าโรคเข้ามาทางคนส่งนมแน่นอน แล้วคนส่งนมได้โรคจากไหน

ถ้าคุณยังจำได้ บรูซของเรามีความสนใจเรื่องสัตววิทยาอยู่แล้ว และเป็นนักเรียนแพทย์ยุค disruption อีกด้วย เขาเลยออกไปหาคำตอบเพราะคิดว่า คำตอบต้องอยู่ที่นั่น ที่หมู่บ้านคนเลี้ยงแพะนั่น และเขาก็ได้คำตอบ

ที่หมู่บ้าน ปรากฏมีแพะที่ล้มป่วยขณะท้อง ตายคลอด หลังติดโรคก็ป่วยและค่อย ๆ ตายไป ส่วนตัวผู้ก็จะมีอาการอัณฑะอักเสบ ขยายขนาดใหญ่ ค่อย ๆ ล้มป่วยและตาย บรุซเข้าไปหาเหตุและพบการระบาดของ micrococcus ในแพะ เป็นสาเหตุการป่วยของแพะเหมือนกับที่เจอในคน และที่สำคัญคือ พบเชื้อโรคที่ติดต่อได้ใน นมแพะ อีกด้วย (สมัยนั้นยังไม่มีการพาสเจอร์ไรซ์และสเตอริไรส์แบบนี้นะครับ) บรูซจึงได้สรุปว่า โรค Malta fever ก็เกิดจาก Micrococcus melitensis ที่มีแหล่งรังโรคคือแพะ และคนติดมาจากการดื่มนมแพะ (ภายหลังพบว่ามาจากสารคัดหลั่งต่าง ๆ ด้วย) นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อีกโรค ในยุคสมัยที่มีการพบวัณโรค ไข้รากสาด มาเลเรีย ชื่อของ David Bruce ก็ขึ้นหิ้งอีกหนึ่งคน

นอกเหนือจากการค้นพบมูลเหตุของโรคไข้มอลต้า นำไปสู่การรักษาและการป้องกันโรคอย่างถูกต้องและควบคุมโรคได้ คุณหมอบรูซได้มีโอกาสไปสืบค้นโรค หาสาเหตุของโรคระบาดในแอฟริกาอีกหลายที่ และได้ค้นพบโรคปรสิตในเลือด Trypanosoma อันมีแมลงเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย หนึ่งในเชื้อก่อโรคมีชื่อตามบรูซว่า Trypanosoma Brucei

ในปี 1905 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ของ micrococcus ที่ทำให้เกิดโรค undulant fever หรือ Malta fever เป็น Brucella ตามชื่อของบรูซ และเรียกโรคที่เกิดจากบรูเซลล่าว่า Brucellosis นั่นเอง

ยังครับ ความโรแมนติกของมอลต้ายังไม่จบไป

เดวิด บรูซและภรรยาคือ Mary Elisabeth Steele ทั้งคู่เดินทางไปทั่วแอฟริกาพร้อมกัน ช่วยเหลืองานซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ จนบั้นปลายชีวิต เดวิด บรูซกลับมาอยู่อังกฤษ ได้รับยศสุดท้ายเป็นพลตรีแห่งกองทัพอังกฤษ ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบ มีลูกศิษย์มากมาย ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 50 ปี จนในปี 1931 ภรรยาผู้ชราได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ จากไปอย่างสงบข้างกายบรูซผู้ยิ่งใหญ่ คุณหมอบรูซทำพิธีศพอย่างเงียบ ๆ แต่ในใจเศร้าสร้อยเหลือที่จะบรรยาย งานศพใช้เวลาเพียงไม่กี่วันและเมื่องานศพของภรรยาสิ้นสุดลง คุณหมอบรูซก็จากไปอย่างสงบ เพื่อเดินทางท่องโลกกับภรรยาของเขาอีกครั้ง ตลอดไป

จบบริบูรณ์

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังยืน และกลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม