10 กรกฎาคม 2564

การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ของวัคซีน CoronaVac

 การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ของวัคซีน CoronaVac (SinoVac) ลงตีพิมพ์ในวารสาร the Lancet เมื่อ 9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ขอเล่าแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ นะ

ก่อนหน้านี้เพจเราได้นำเสนอการศึกษาทางการแพทย์แบบ randomized controlled trial ครบทุกตัวไปแล้ว ยกเว้นซิโนแวค โดยได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาที่ซิโนแวคได้อนุมัติใช้จากองค์การอนามัยโลกไปแล้ว แต่วันนี้คือการศึกษาเต็มรูปของวัคซีนซิโนแวคครับ

การศึกษานี้ทำขึ้นในประเทศตุรกี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2020 ถึงมกราคม 2021 โดยทำในอาสาสมัครสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีโอกาสติดโรคสูงแต่ก็สามารถเรียกมาติดตามอาการต่าง ๆ ได้ง่าย ส่วนอีกกลุ่มเป็นประชาชนทั่วไป แต่ไม่ได้เก็บข้อมูลพร้อมกันนะครับ เขาตั้งใจศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพียงแต่ว่าคนมาสมัครยังไม่ถึงเป้าหมายก็เลยต้องเริ่มสมัครกลุ่มประชาชนทั่วไปก่อนที่กลุ่มแรกจะเก็บครบ

** การเก็บกลุ่มตัวอย่างไม่พร้อมกัน แม้จะใช้ระบบสุ่มที่ดี แต่มันเป็นคนละกลุ่มที่เสี่ยงไม่เท่ากัน ดังนั้นเวลาคำนวณผลต้องดูกลุ่มย่อยและภาพใหญ่ด้วยว่าต่างกันไหม และการศึกษานี้มีประเด็นต้องคิดเพิ่มหนึ่งอย่างที่สำคัญ คือ การประกาศใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน***

ระหว่างการเก็บข้อมูลศึกษา รัฐบาลตุรกีได้ประกาศให้วัคซีนซิโนแวคครับ นั่นทำให้คนที่ได้รับการสุ่มให้ยาหลอก จะต้องกลับมารับข้อมูลว่าตัวเองได้ยาหลอกนะ ตอนนี้มาตรฐานของตุรกีกำหนดให้ฉีดแล้ว ยังสมัครใจทดลองไหม ตามกฎการศึกษาวิจัยในคน Declaration of Helsinki .. ผู้วิจัยเขาก็ทำตามนั้นครับ และอธิบายมาว่า การสุ่มตัวอย่างก็ยังเหมือนเดิม แต่ข้อมูลมันไม่ปกปิดแล้วล่ะครับ มันก็เป็นจุดด้อยอันหนึ่งของการศึกษา

เรามาว่ากันต่อ

เมื่อสุ่มคนอายุตั้งแต่ 18 ปี ที่ต้องยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อโควิดจากการทำพีซีอาร์ ไม่มีข้อห้ามเช่นตั้งครรภ์ กินยากันเลือดแข็ง การศึกษานี้ไม่ได้จำกัดคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี โดยกลุ่มแรกบุคลากรทางการแพทย์จะมีน้อยกว่ากลุ่มหลัง สุ่มแยกให้วัคซีนครึ่งหนึ่ง ยาหลอกครึ่งหนึ่ง ส่วนกลุ่มบุคคลทั่วไป สุ่มให้ยาหลอกหนึ่งในสาม ให้วัคซีนสองในสาม (การสุ่มไม่เท่ากันก็ให้มันเสร็จเร็วนี่แหละครับ)

วัคซีนที่ใช้ก็ใช้ของซิโนแวค ผู้วิจัยบอกว่าบริษัทซิโนแวคเขาแค่สนับสนุนวัคซีน ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย ส่วนยาหลอกก็คือเอาทุกอย่างที่เหมือนวัคซีน ยกเว้นไม่มีไวรัสที่เสื่อมฤทธิ์นั่นเอง ไม่ใช้น้ำเกลือ (แต่ไม่ได้บอกนะว่า ยาหลอกของเขา กับ น้ำเกลือ มันต่างกันไหม) โดยฉีดสองเข็มห่างกัน 14 วัน ในชีวิตจริงเราฉีดห่างกัน 28 วัน ด้วยข้อมูลที่ว่าระดับภูมิสูงกว่าฉีดห่างกัน 14 วัน

"เป้าหมายหลักของการศึกษา" อยากเน้นตรงนี้ วัคซีนทุกตัวตั้งเป้าเหมือนกันคือ การติดเชื้อแบบมีอาการ โดยยืนยันการติดเชื้อจากวิธี RT-PCR และเริ่มนับตั้งแต่ 14 วันหลังฉีดเข็มสองครบแล้ว ส่วนผลอย่างอื่นเช่น ผลปกป้องหลังเข็มแรก ลดการตาย ลดการนอนโรงพยาบาล คือผลการวิจัยรอง ดูไว้เฉย ๆ แต่เอามาตัดสินไม่ได้

นอกจากนี้งานวิจัยนี้ ยังสุ่มเก็บตัวอย่างของซีรั่มคนที่ได้ยาหลอกและได้วัคซีนว่าหลังจากได้รับแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูงตอบสนองดีไหม (วัดระดับภูมิ) และตรวจหาระดับ Neutralizing Antibody (วัดว่าภูมิที่มีมันปกป้องได้จริง ทำงานได้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่ามี) จริง ๆ น่าจะทำทุกคนนะ แต่ก็เอาเถอะ

จากที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนนโยบายกลางคัน ระหว่างทดลอง การศึกษาจึงต้องแยกคิดคือ intention to treat คิดวิเคราะห์โดยคิดการแบ่งกลุ่ม การสุ่มในตอนแรกที่ตั้งใจ และ per protocol คือ คิดคนที่ได้วัคซีนครบจริงในขั้นสุดท้าย ถือว่ามีมาตรฐานการวิจัย เอาล่ะ ผมสรุปไว้ก่อนแล้วกันว่า เขาแยกคิดสองอย่างนี้ แต่ผลมันไม่ต่างกัน..โอเค

และเหมือนงานวิจัยวัคซีนโควิดทุกตัว คือเป็น preliminary report ยังไม่จบการศึกษา ที่เอามารายงานได้เพราะมันด่วน ต้องรีบใช้ และจำนวนผู้ป่วยมีอาการมันถึงเป้าหมายขั้นต่ำที่เขากำหนดแล้วว่า หากมีผู้ป่วยในกลุ่มรับวัคซีนเท่านั้นเท่านี้คนนะ สามารถรายงาน prelim report ได้แล้ว ความเชื่อมั่นดีแล้ว สำหรับการศึกษานี้เขากำหนดไว้ที่ 11 รายที่ได้วัคซีน และ 29 รายที่ได้ยาหลอก จะมีได้ประสิทธิภาพวัคซีนที่ 60% (WHO กำหนด 50%) ที่ความชุกการระบาด 1-2% เมื่อได้เกณฑ์เขาก็เก็บข้อมูลและรายงานผลเลย

ผลการศึกษาเป็นดังนี้

1. คนที่เข้าร่วม 10,218 คน แบ่งเป็นกลุ่มยาวัคซีน 6650 รายและยาหลอก 3568 ราย ติดตามจนครบการศึกษามากกว่า 90% แต่จะมีคนวิเคราะห์แบบ per protocol มากกว่าที่ตั้งใจเพราะเปลี่ยนใจเปลี่ยนกลุ่มหลังการประกาศใช้วัคซีนของรัฐบาลตุรกี

2. อายุเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มคือ 45 ปี และแทบไม่มีโรคร่วมใด .. ประชากรที่เข้าร่วมยังแข็งแรงและมีสุขภาพดี ไม่ได้มีการคิดแยกกลุ่มประชากรอายุมากหรือมีโรคร่วม อันนี้อาจมีข้อสังเกตเพราะคนกลุ่มใหญ่แข็งแรง โอกาสติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือติดเชื้อรุนแรงมันไม่มาก

3. ผู้ติดเชื้อมีอาการ

ในกลุ่มวัคซีนมี 9 รายจาก 6559คน (คิด per protocol) หรือ 31.7 รายต่อพันคนปี

ในกลุ่มยาหลอกมี 32 รายจาก 3470 คน (per protocol) หรือ 192.3 รายต่อพันคนปี

*** ไม่มีใครป่วยเข้าโรงพยาบาลเลยในกลุ่มวัคซีน การลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเป็น 100% แต่ว่า event rates มันต่ำมาก ผมฟังหูไว้หู ไม่ได้เชื่อ 100% ***

4. คิดเป็นประสิทธิภาพวัคซีน 83.5% ช่วงค่าความเชื่อมั่น (65.4-92.1) ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่ค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 50% และขอบเขตล่างมากกว่า 30% แต่ช่วงความเชื่อมั่นค่อนข้างกว้าง อาจจะเพราะมี bias มากระหว่างทดลอง

5. ผลข้างเคียงที่เกิดประมาณ 20% ของผู้ฉีดวัคซีน และ 17% ในยาหลอก ผลไม่ต่างกัน เกือบทั้งหมดเป็นผลที่คาดเดาไว้แล้วและอาการไม่รุนแรง คือ ไข้ต่ำ ปวดเมื่อย แต่ที่พบมากสุดคือ อ่อนเพลีย (ผมก็เจอนะ 555) ผลแทรกซ้อนรุนแรงคือแพ้รุนแรงเกิดในกลุ่มวัคซีน 6 รายและยาหลอก 5 ราย แต่ไม่มีรายงานเสียชีวิต

6. เมื่อนำตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปวิเคราะห์ 'ปริมาณ' ภูมิคุ้มกันที่เกิด พบว่าในคนที่รับวัคซีนเกิดภูมิถึง 89% ในขณะที่คนปรกติเกิดภูมิ 4% (อาจเกิดจากการติดเชื้อ) และเมื่อเรามาพิจารณาคนที่ภูมิขึ้นทั้งหลาย ถามว่ามันเป็นภูมิคุ้มกันที่ปกป้องได้จริง (neutralization antibody) จริงไหม ก็พบว่าเพียงไตเตอร์ 1/15 ก็สามารถกำจัดเชื้อ สูงถึง 92% ของกลุ่มที่ภูมิขึ้น...เป็นภูมิที่ใช้ได้จริง

7. *** จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อแบบมีอาการ หลังฉีดเข็มแรกจนไปถึงหลังฉีดเข็มสองทันที แทบไม่ต่างจากผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอก ความแตกต่างดังที่กล่าวมา 6 ข้อจะเกิดเมื่อรับวัคซีนเข็มสองครบถ้วนไปประมาณ 2 สัปดาห์ **** อันนี้แม้ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก เอามาคิดคำนวณเปรียบเทียบอะไรไม่ได้ แต่ต่างจากวัคซีน mRNA และ Viral Vector ที่ปกป้องได้พอสมควรตั้งแต่เข็มแรกอย่างชัดเจน***

สรุปจากการศึกษาทดลองว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวกครบสองเข็มห่างกัน 14 วันและเมื่อติดตามผลหลังฉีดสองเข็มไปอย่างน้อย 14 วัน พบว่า ลดการป่วยโควิดแบบมีอาการได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก โดยประสิทธิภาพวัคซีนอยู่ที่ 85% ผลข้างเคียงหลังฉีดพบประมาณ 20% เกือบทั้งหมดอาการไม่รุนแรง และสามารถกระตุ้นให้เกิด Neutralizing Antibody ได้ดีที่การวัดผลหลังฉีดไม่ประมาณไม่เกิน 14 วัน

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ การศึกษาส่วนมากทำให้ผู้ที่อายุน้อยและแข็งแรงดี โอกาสเกิดโรครุนแรงไม่มาก และตัวเลขจริงของการเกิดโรคแบบมีอาการรุนแรงก็แทบไม่มี จึงต้องระวังในการแปลผลและนำไปใช้กับบุคคลทั่วไปทั้งหมด อีกประการคือ ความโน้มเอียงจากนโยบายการฉีดวัคซีนฉุกเฉินของตุรกีที่มีผลต่อผลการศึกษา

ลิงค์ฉบับเต็ม อ่านฟรี
https://www.thelancet.com/…/PIIS0140-6736(21)0142…/fulltext…

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม