13 พฤษภาคม 2562

African Swine Fever

African Swine Fever
"ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ งดนำเนื้อสัตว์เข้าประเทศเพราะความกังวลเรื่อง ASF" เสียงหวาน ๆ ของเจ้าหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องก่อนที่จะลงที่สนามบินนานาชาติเถาหยวน ประเทศไต้หวัน ลุงหมอมองตาน้องแอร์ฯ คนนั้นอย่างซึ้งตรึงใจ และคิดว่าจะนำมาเล่าบอกกัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงน้องแอร์ ฯ สาวสวยคนนั้น
โรค African Swine Fever ก็แปลตรงตัวนะครับ ไข้หมูแอฟริกัน เป็นโรคติดเชื้อไวรัส Asfarviridae virus ในหมู ทั้งหมูบ้านและหมูป่า แรกเริ่มเดิมทีพบที่แอฟริกาที่ประเทศเคนยา ปี 1921 หลังจากนั้นการติดต่อลุกลามมาถึงยุโรปเริ่มที่ประเทศโปรตุเกสในปี 1957 แน่นอนด้วยการคมนาคมที่สะดวก การเดินทางโดยเรือ เครื่องบิน หลังจากนั้นลุกลามไปถึงยุโรปตะวันออก ข้ามฝั่งแอตแลนติกไปถึงคิวบา
โรคนี้เป็นโรคของหมู ไม่ก่อโรคในมนุษย์ เชื้อก่อโรคเป็นไวรัส ทำให้หมูป่วย ซึม ไข้ มีจุดเลือดออก ถ่ายเหลว กินไม่ได้ เรียกว่าคล้ายไข้เลือดออกรุนแรงในมนุษย์เลย อัตราการเสียชีวิตสูงมาก หมูตายเกือบ 100% การติดต่อผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง การกินเนื้อติดเชื้อ เห็บหมู บางส่วนก็ติดผ่านการสัมผัสและการนำพาของคนเลี้ยง
ปี 2018 มีการระบาดใหญ่ในประเทศจีน ถึงปัจจุบันก็ยังมีการระบาดพบในแอฟริกา จีน มีรายงานการระบาดในเวียดนาม ล่าสุดพบที่ฮ่องกง ทางการฮ่องกงสั่งประหารหมูไปหลายพันตัวเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายโรค
หลายประเทศมีการควบคุมการนำเข้าสัตว์และเนื้อสัตว์ แม้ไวรัสจะไม่ทนร้อนแต่อาจอยู่ในภาวะอากาศเย็นได้นาน หมูคงไม่เดินทางข้ามประเทศ แต่คนจะนำเนื้อปนเปื้อนเข้าประเทศต่าง ๆ ได้
ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคในคนครับ และข้อมูลล่าสุดเท่าที่ผมสืบค้นได้ ยังไม่พบการระบาดของเชื้อโรคนี้ในประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงโรคนี้จะมีอีกโรคหนึ่งคือ classical swine fever (hog cholera or pig plague) ที่มีลักษณะโรคคล้าย ASF ทุกประการต่างกันที่ลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่เป็น Flaviviridae virus และมีวัคซีนป้องกัน
ใครจะเดินทางข้ามประเทศระวังเรื่องการนำเนื้อสัตว์เข้าประเทศนั้น ๆ ด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม