10 พฤษภาคม 2562

ประเด็นสำคัญในแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงประเทศไทยปี 2019

ประเด็นสำคัญในแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงประเทศไทยปี 2019
1. คนที่เป็นส่วนมากไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่มีอาการ ไม่เคยวัดความดัน คนที่ได้รับการวินิจฉัยยังไม่ได้เข้ารับการรักษาติดตามที่ดี และท้ายสุดคนที่อยู่ในการรักษาก็ยังคุมโรคไม่ได้ ทั้งสามข้อนี้คือปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งของโลกและของชาติ
2. การวัดและติดตามความดันที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเวลาและท่าทางการนั่งวัด ไปฉี่มาให้เรียบร้อย งดชา กาแฟ นั่งบนพื้นราบหลังติดพนัก เท้าติดพื้น แขนวางบนโต๊ะ โดยใช้เครื่องอัตโนมัติ ส่วนการใช้เครื่องแบบปรอท แนวทางนี้สอนละเอียดมาก
3. การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง ใช้ระดับความดันที่วัดได้ที่โรงพยาบาลเป็นหลัก (เพื่อลดความคลาดเคลื่อน) เกณฑ์สำหรับประเทศไทยคือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ส่วนการวัดความดันที่บ้านมีความสำคัญในการติดตามผลและแยกภาวะความดันโลหิตสูงอีกหลายแบบ การวัดที่บ้านจึงสำคัญไม่แพ้กัน
4. การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงใช้ข้อมูลสองอย่างเสมอคือ ระดับตัวเลขความดันโลหิต และ ความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอันใดอันหนึ่ง คือ มีอวัยวะที่ได้รับความเสียหายจากโรคความดันโลหิตสูง มีโรคหัวใจและหลอดเลือด มีโรคเบาหวาน มีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจตามการคำนวณมากกว่าร้อยละ 10 มีทั้งตัวเลขและความเสี่ยงจึงถือเป็น definite
5. ถ้ามีแต่ตัวเลขอย่างเดียวในครั้งแรกจะอยู่ในเกณฑ์ เกือบสูง (130-80-140/90) อาจเป็น (140/90-160/100) น่าจะเป็น (160/100-180/110) ส่วนตัวเลขที่วินิจฉัยได้เลยคือ 180/110 ที่เหลือจะต้องใช้ความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในข้อ 4 ร่วมด้วยเสมอ หากใข้ตัวเลขอย่างเดียวต้องติดตามความดันที่บ้านร่วมด้วย
6. เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสิ่งสำคัญคือต้องประเมิน ป้องกันและแก้ไข อวัยวะที่ถูกกระทบเช่นหัวใจโต โปรตีนรั่วทางปัสสาวะ หลอดเลือดแดงแข็ง หรือค้นหาโรคร่วมที่สำคัญแล้วควบคุม คือ เบาหวาน ไขมัน ติดบุหรี่ ประเด็นในข้อหกสำคัญมากในการเลือกใช้ยาที่ลดอัตราการตายในภาวะโรคร่วมต่าง ๆ
** 7.การรักษาที่สำคัญอันดับหนึ่ง ต้องทำ ช่วยลดอัตราการป่วยและตายชัดเจน คือ การปรับปรุงชีวิต ลดเค็ม เลิกบุหรี่ ลดเหล้า ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารและน้ำหนัก เกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวันนะครับ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องทำตลอดการรักษาไม่ว่าจะใช้ยาหรือไม่ก็ตาม
8. การใช้ยาจะใช้เมื่อเป็นโรคความดันแบบ definite หรือมีโรคร่วมหรือตามการพิจารณาของแพทย์ และต้องให้ไปปรับชีวิตมาก่อน 3-6 เดือนก่อนเริ่มยา เป้าหมายการรักษาคือความดันน้อยกว่า 130/80 ยกเว้นอายุมากกว่ากว่า 65 สามารถดึงลงมาได้ถึงไม่เกิน 140/90
9. ใช้ยากลุ่มหลักตัวเดียวก่อนแล้วค่อยเพิ่ม บางรายให้ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปตั้งแต่แรกตามความเหมาะสมได้ สามารถใช้ยาเม็ดรวมช่วยให้สะดวกได้ ถ้าใช้ยาสองชนิดยังไม่ดีและต้องใช้ยาสามชนิด..หนึ่งในสามชนิดควรมียาขับปัสสาวะร่วมด้วย และห้ามใช้ยากลุ่ม ACEI (อิปริ้ว -pril) ร่วมกับ ARB (ซาตาน -sartan) ใช้ยาตามข้อบ่งใช้ทางการแพทย์
10. การติดตามปรับยา ติดตามการปรับดำเนินชีวิต ติดตามผลตัวเลขความดันที่บ้าน ติดตามการดำเนินโรค ติดตามโรคร่วมที่เกิด เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา ไม่ใช่แค่วินิจฉัยครั้งแรกแล้วกินยาไปตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม