07 มกราคม 2561

DC synchronized Electrical Cardioversion และ การให้ adenosine

บ่ายๆอันแสนน่าเบื่อ คุณหมอชราหน้าหนุ่มท่านหนึ่งนั่งทบทวนเวชระเบียนอยู่ในไอซียู เป็นเวลาที่สงบเงียบไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ กับทีมพยาบาลทีมเดิม คุณพยาบาลมิว คุณพยาบาลเจี๊ยบเลียบด่วน และน้องใหม่คุณพยาบาลแกล
กริ๊งงง...สวัสดีค่ะ ไอซียูค่ะ ...ค่ะค่ะ เคสอะไรนะคะ ได้ค่ะ จะตามไปดูนะคะ
คุณพยาบาลเจี๊ยบรับโทรศัพท์แล้วหันมาบอกกับคุณหมอว่า "คุณหมอคะ ห้องรอผ่าตัดโทรมาขอความช่วยเหลือ คนไข้มารอผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดี จับชีพจรได้เร็วมากอัตราการเต้น 200 ครั้งต่อนาที คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ คุณหมอดมยากับหมอผ่าตัดช่วยเหลือคนไข้ด่วนในห้องอีกห้อง ขอให้เราไปช่วยค่ะ"
คุณหมอตกลง บอกให้เอาชุดฉุกเฉินและเครื่องกระตุกหัวใจไปด้วย เครื่องแบบถือหิ้วไปได้มีแบตเตอรี่ชาร์จไว้แล้ว และสั่งว่า "เจี๊ยบคุณอยู่นี่แหละ เดี๋ยวผมไปกับมิวและแกลเอง แม้สองคนเขาจะเป็นน้องใหม่ แต่เขาก็สวย..เอ้ย..เก่งพอตัว"
พูดจบ ทั้งสามก็เคลื่อนที่ หยิบโน่นนี่ไปด้วยกัน ทิ้งให้คุณพยาบาลเจี๊ยบยืนมองตาปริบๆอยู่คนเดียว
ขณะที่กำลังจะเดินไปห้องรอผ่าตัดที่ใกล้ๆกัน มีรองเท้าแตะใส่ในรพ.เหลือแค่สองคู่ คุณหมอชราก็เสียสละให้คุณพยาบาลทั้งคู่ แต่คุณมิวบอกว่า "รองเท้าคู่ใหญ่ไปค่ะ เดี๋ยวมิวจะสะดุดล้ม คุณหมอใส่ไปก่อน เดี๋ยวมิวไปใส่ของห้องผ่าตัดก็ได้" นึกในใจว่าคุณหมอช่างสุภาพบุรุษเสียนี่กระไร
มาที่ห้องรอผ่าตัด พยาบาลห้องผ่าตัดรายงานว่า ชีพจร 180 ครั้งต่อนาที คนไข้เหนื่อยมากแต่ยังรู้ตัวดี ความดันโลหิต 100/70 คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่คุณหมอสั่งไว้แผ่นนี้ค่ะ คุณหมอรับมาอ่านด้วยความรวดเร็วพร้อมกับมองจอภาพ ตอนนี้ต้องแข่งกับเวลา ...SVT...supraventricular tachycardia
หันไปบอกลูกทีมทั้งสอง ..ความดันยังดี แต่เราต้องช่วยแล้วล่ะคนไข้เริ่มเหนื่อย คุณมิวคุณช่วยเปิดเส้นเลือดดำ เอาที่ต้นแขนเลยนะใกล้หัวใจเท่าไรยิ่งดี เราไม่มีเวลาใส่สายสวน ผมเชื่อว่าคุณทำได้เร็วกว่า..ส่วนคุณแกลช่วยใส่ออกซิเจนและติดสายวัดสัญญาณคลื่นหัวใจเข้ากับเครื่องช็อกไฟฟ้าของเรา
ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินอย่างรวดเร็ว ไม่สับสน ไม่ซ้ำซ้อน เพราะทีมนี้ฝึกฝนจนเข้าใจกันอย่างดี มือของคุณหมออยู่ที่หลอดเลือดแดงที่คอ สายตาดูจอมอนิเตอร์ไม่กระพริบ พร้อมกับเสียงใสๆ ที่ทั้งคู่รายงานว่า...สายน้ำเกลือเรียบร้อยค่ะ อุปกรณ์ดีฟิบ (defibrillator) พร้อมค่ะ..
คุณหมอสั่งการ "คุณมิว ผมจะฉีดยา adenosine 6 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดใกล้หัวใจ แบบ double syringe ฉีดเสร็จแล้วฉีดน้ำเกลือดันต่อไปทันทีให้ยาเข้าสู่หัวใจเร็วที่สุด เพราะยาจะหมดฤทธิ์ในสิบวินาที เมื่อฉีดยาพวกเราต้องเตรียมซีพีอาร์ทันที หากฉุกเฉิน พร้อมนะ ส่วนคุณแกล..."
ยังไม่ทันพูดจบ แกลก็ร้อง..ว้าย..หลอดยา adenosine ที่กำลังดูดใส่หลอดฉีดยาตกลงกับพื้น พร้อมจังหวะเดียวกับที่คุณมิวเหยียบหลอดยานั้น ...กร๊อบบบบบ !!!! หลอดยา adenosine แตกออกพร้อมกับเลือดออกจากเท้าคุณมิว
"ขอโทษค่ะ มันหลุดมือ adenosine หลอดสุดท้ายด้วย" คุณแกลหน้าซีด
คุณหมอต้องรีบจัดการสถานการณ์ "ไม่เป็นไรคุณแกล ขวัญเอ๊ยขวัญมานะครับ คุณมิวคุณนั่งและดูแลตัวเองก่อน คุณพยาบาลห้องผ่าตัด..คุณเมรีญา คุณไปช่วยคุณมิวนะ เดี๋ยวผมอยู่กับคุณแกลสองคนสองต่อสองได้"
"ทำไงดีคะ หมอ" คุณพยาบาลแกลกลับมามีสติตามเดิม ราวกับ wonder woman
"เอาอย่างนี้ เราคงต้องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า ที่เรียกว่า Synchronized Electrical Cardioversion เพราะเราไม่มียาแล้ว ปรกติเราจะช็อกเมื่อระดับความดันไม่คงที่ หรือใช้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือกรณีนี้แหละ คือ ไม่มียา"
พูดยังไม่ทันจบ คุณแกลก็เลื่อนเครื่องกระตุกหัวใจมาใกล้ๆ หยิบ paddle ส่งให้หมอ ตัวเองหยิบเจลที่ใช้นำไฟฟ้าและลดการบาดเจ็บของผิวหนังมาคอยท่า และถามว่า "คุณหมอจะใช้พลังงานเท่าไรคะ"
"ใน SVT ไม่มีภาวะอื่นผมขอเริ่มที่ 50 จูลส์นะครับ อย่าลืมกดปุ่มซิงโครไนส์ด้วยนะ" คุณหมอไม่ลืมที่จะย้ำประเด็นนี้เพราะเราต้องการปล่อยพลังงานไฟฟ้าในจังหวะที่หัวใจบีบตัวสูงสูด เพื่อทำให้หัวใจทำงานเป็นจังหวะเดียวกัน เพื่อทำงานพร้อมกัน จุดนำไฟฟ้าแรกเริ่ม SA node จะกลับมาทำงานตามปรกติ หากปล่อยไฟฟ้าไม่ตรงจังหวะไปปล่อยตรงคลายตัว อาจทำให้หัวใจสับสนเต้นพริ้วได้
ยังไม่ทันที่จะลงมือ คุณพยาบาลมิวก็บอกขึ้นมาว่า "คุณหมอไม่ใช้ยาให้คนไข้สงบลงและแก้ปวดหรือคะ ..และดูประวัติ ถามคนไข้แล้วค่ะ ว่าไม่ได้กินยาดิจ๊อกซิน และไม่กินยาอย่างอื่น ไม่มีโรคร่วมอื่นเลยค่ะ"
คุณหมอเกือบลืม ด้วยความที่รีบร้อนมาก ดีที่คุณมิวทักเอาไว้และนึกชมคุณมิวที่ช่วยดูประวัติว่าหากเต้นเร็วจาก automatism เช่น ยาดิจิตาลิส หรือโรคที่ทำให้เกิดใจเต้นเร็วมากๆ (catecholamines related) การช็อกจะไม่ค่อยได้ผล จะได้ผลดีในกรณีทางเดินไฟฟ้าไหลวนหรือ กลไก Re-Entry
"ใช่สิ ขอยา มิดาโซแลม (ยากลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์เร็วหมดฤทธิ์เร็ว) ห้ามิลลิกรัมด่วนครับ" แล้วก้มลงบอกคนไข้ว่า เขาต้องช่วยนะ อาจมีอาการเจ็บเล็กน้อย ไม่ต้องกลัว
...นี่ค่ะ คุณเจี๊ยบโผล่ออกมายื่นยาให้...ทุกคนตกใจ มาได้ไงเนี่ย ..คุณเจี๊ยบเลียบด่วนบอกว่าหัวหน้าให้มาช่วยทางนี้ แต่พอคุณเจี๊ยบเลียบด่วนโผล่มา เสียงเตือนเครื่องก็ดัง พร้อมกับหมอบอกว่า "เฮ้ย อะไรกัน อยู่ดีๆก็เต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตคนไข้เริ่มตก เอาล่ะต้องรีบแล้ว" คุณเจี๊ยบรีบฉีดยา คุณหมอประทับแพดเดิ้ลลงบนอกคนไข้ คุณแกลปรับพลังงานไปที่ห้าสิบจูลส์และกดซิงโครไนส์
"ชาร์จ...ทุกคนถอยห่างออกไปจากเตียงพร้อมนะครับ สาม..สอง..หนึ่ง " สิ้นเสียงคำว่าหนึ่งคุณหมอชรากดปุ่ม shock พร้อมกันที่แพดเดิ้ลสองข้าง เครื่องยังไม่ช็อกทันที รอจับจังหวะหัวใจบีบตัวสูงสุดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ..บึ่กกก ร่างกายคนไข้กระตุกเล็กน้อย (ไม่หมือนในหนัง กระตุกอย่างกับเต้นปานามา) และแล้ว และแล้ว
ปี๊บบบๆๆๆๆ (กรุณาอ่านด้วยความเร็ว 180 ครั้งต่อนาที)...ปี๊บ...ปี๊บ...ปี๊บ..(อ่านช้าลงด้วยความเร็ว 80 ครั้งต่อนาที)
คลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปรกติ อัตราลดลงจาก 180 เหลือ 80 คุณหมอสั่งวัดสัญญาณชีพ พบว่าความดันโลหิตกลับไปเป็น 130/80 ตามเดิม หายใจสม่ำเสมอช้าลง คนไข้ดูง่วงๆจากฤทธิ์ยานอนหลับ คุณหมอชราโล่งอก คุณแกลยิ้มสวยๆให้หมอชราหนึ่งครั้ง แล้วหันไปดูคุณมิว ก้มหน้าก้มตาบันทึกเหตุการณ์การช่วยเหลือเมื่อสักครู่ ที่เท้ามีผ้าก๊อสพันเอาไว้
คุณเจี๊ยบเดินไปเอารถเข็นมาเพื่อจะพาคุณมิวไปทำแผล แปลกดี พอคุณเจี๊ยบเลียบด่วนออกไปแล้วดูเหมือนเหตุการณ์ต่างๆจะดีขึ้น
ทีมคุณหมอผ่าตัดและดมยาเข้ามาพอดี ทางทีมไอซียูจึงขอกลับ
ระหว่างทางกลับ คุณหมอก้มหน้า มือสั่นปากสั่น เอ่ยตะกุกตะกักว่า "เอ่อ..คุณแกล ครับ เอ่อ..."
คุณแกลหน้าแดงก่ำ เขินมาก ยิ้มอายๆ "มีอะไรคะหมอ "
...ตึ่ก ตึ่ก ตึ่ก
...ตึ่ก ตึ่ก
...ตึ่กก
...
หมอรวบรวมความกล้าพูดออกไป "วันหลัง พก adenosine มาสักสามหลอดนะครับ"
จบบริบูรณ์
หวังว่าคงได้ไอเดีย การทำ DC synchronized Electrical Cardioversion และ การให้ adenosine นะครับ

1 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม