19 มิถุนายน 2560

COX 2 แบบบ้านๆ

เมื่อวานเราได้ลงวารสารเรื่องของยา COX2 วันนี้เรามารู้จัก COX 2 แบบบ้านๆกัน

ยาลดปวดต้านอาการอักเสบที่ใช้มากนั้นเราก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ สเตียรอยด์ กับ ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non steroidal anti inflammatory drugs) นั่นเอง เรียกสั้นๆว่าเอนเสด (NSAIDs) นิยมใช้ลดการอักเสบเช่นข้ออักเสบ เอ็น กล้ามเนื้อ แก้ปวดได้ลดไข้ได้ เพราะไข้และปวดก็เกิดจากการอักเสบนั่นเอง
เอนไซม์สำคัญที่ควบคุมการเกิดสารอักเสบคือ เอนไซม์ CycloOxygenase หรือ COX เจ้ายาเอนเสดมันไปยับยั้งตรงนี้แหละครับ การอักเสบก็ลดลง ยาก็เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ไดโคลฟีแนก ไพรอกซิแคม อินโดเมธาซิน พวกเราน่าจะคุ้นๆหูกันตลอด

เรื่องของเรื่องคือ ยากลุ่มเดิมนี้จะไปยับยั้งเอนไซม์ค๊อกซ์ ในทุกๆแบบย่อย COX 1-2-3 แต่ทว่าเอนไซม์ที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการอักเสบจริงๆ เป็นเอนไซม์ที่เราอยากหยุดมันคือ เอนไซม์ COX-2 เจ้าเอนเสดแบบแรกๆนี้ยับยั้งทั้งหมด อาจจะสัดส่วนไม่เท่ากันในแต่ละตัว ปัญหาอยู่ที่มันยับยั้ง COX-1 ด้วยนะสิ
COX-1 นี่ทำงานในการปกป้อง เหมือนหยินหยางของ COX-2 เอนเสดไปยับยั้ง COX-2 เราสบายและเราก็ไม่อยากให้มันไปยับยั้งตัวปกป้องคือ COX-1 ซึ่งคอยปกป้องหลอดเลือด ปกป้องหัวใจ ปกป้องกระเพาะอาหาร ทางเดินอาหาร เกล็ดเลือดจับตัวกัน

เมื่อ COX-1 ถูกยับยั้งปัญหาคือ ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ ที่เรากล่าวถึงคือ กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผลนั่นเอง แล้วจะทำอย่างไรให้ COX-1 ไม่ถูกยับยั้ง

เราก็ผลิตยาใหม่สิครับ ให้เฉพาะเจาะจงกับ COX-2 เข่น celecoxib, lumiracoxib, etoricoxib มีผลการทดลองหลายการศึกษาที่ดีและแม่นยำว่าลดการเกิดเลือดออกทางเดินอาหารน้อยกว่า เอนเสดกลุ่มเดิมชัดเจน ดูท่าจะไปด้วยดี แพงแต่ดี มันเกิดมีปัญหาว่า rofecoxib เกิดมีรายงานเรื่องการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอัมพาตเพิ่มมาก จนต้องถอนตัวจากตลาด จึงเป็นที่กังขาเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านหัวใจและหลอดเลือด จนต้องประกาศเตือนการใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหัวใจและหลอดเลือด (สมมติฐานว่าไปยับยั้ง COX-2 จึงต้องไปผ่าน COX-1 มากขึ้น เพิ่มการเกาะตัวของเกล็ดเลือดมากขึ้น เลือดก็อุดตัน)
เรียกว่าได้หลายอย่าง เสียหลายอย่าง ปัจจุบันถ้าเสี่ยงโรคหัวใจมากอาจให้ Naproxen กับยาลดกรด PPI จะช่วยลดโอกาสเลือดออกและเสียชีวิตได้

แต่พอเวลาผ่านไป การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด การป้องกันโรคดีขึ้น จึงมีคำถามว่าสถานการณ์ยังเหมือนเดิมหรือไม่ ตกลงเลือดออกน้อยลงจริงไหม หัวใจแย่ลงจริงไหม
การศึกษา PRECISION (industrial sponsorship) และ CONCERN (non industrial sponsorship) พบว่าการให้ Celecoxib สามารถลดเลือดออกทางเดินอาหารได้อย่างชัดเจน และที่กลัวว่าโรคหัวใจจะแย่ลงนั้น ทั้งสองการศึกษานี้พิสูจน์ว่าก็ไม่ได้แย่ไปกว่า naproxen

ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อมูลไม่มากพอที่จะเอาไปขยายผลว่าเป็นจริงทั้งกับ เอนเสดและCOX-2 ทุกตัวครับ
เราว่ากันเพียงแค่เลือดออกทางเดินอาหารส่วนบนเท่านั้นนะครับที่น้อยกว่าเพราะเจ้า ยาลดกรดหรือยาปกป้องกระเพาะอื่นๆสามารถป้องกันได้ ทางเดินอาหารส่วนล่างก็ยังเสี่ยงเช่นกัน และยังจะโทษอื่นๆอีก ดังนั้นการจะใช้เอนเสดหรือค๊อกซ์ทู ควรมีข้อบ่งใช้ข้อควรระวังอย่างชัดเจนครับ

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดเลือดออกและการป้องกันเลือดออกทางเดินอาหารจาก NSAIDs ที่เคยเขียนไปแล้ว

http://medicine4layman.blogspot.com/2015/08/blog-post_8.html

http://medicine4layman.blogspot.com/2015/06/nsaids.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม