อัมพาตแล้วยังสื่อสารไม่ได้อีก..ทำไม
เชื่อว่าหลายท่านคงได้รับความรู้เรื่องหลอดเลือดแดงสมองจากเพจนี้ได้อย่างมากมาย ทั้งอาการ การรักษา การป้องกัน วันนี้จะมาเล่าให้ฟังในอีกหน้าที่หนึ่งของสมองที่จะเสียไปได้ จากการเกิดอัมพาต..การสื่อสาร
การสื่อสารนั้นถูกควบคุมด้วยเนื้อสมองส่วนผิวสมอง (cortex) อันเป็นที่อยู่ของเซลประสาท พื้นที่บริเวณต่างๆของผิวสมองรับผิดชอบหน้าที่ที่ต่างกัน หรือแม้แต่บริเวณเดียวกันแต่คนละด้านก็อาจต่างกัน
ส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ต้นกำเนิดชุดคำสั่งในการพูด การประมวลผลคำพูดของมนุษย์ ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของสมองซีกซ้าย ตามรูปนะครับ จัดเป็นสมองด้านหน้า (ที่เป็นส่วนการควบคุมหน้าที่การทำงานซับซ้อน) อยู่หลังสุดของกลีบหน้าและล่างสุดอีกด้วย
เห็นไหมครับ การใช้คำพูดว่า หน้า หลัง ข้าง มันเข้าใจยาก เราก็เลยแบ่งสมองออกเป็นส่วนต่างๆระบุตัวเลขเป็นบริเวณชัดเจนเพื่อให้ง่าย เรียกระบบการแบ่งส่วนของผิวสมองนี้ว่า Brodmann System และส่วนของการควบคุมสัญญาณสื่อสารการพูดคือ Brodmann area 44 (..มันบังเอิญนะครับ บังเอิญ ผมมิได้มีเจตนาใดๆทั้งสิ้น)
หรือเรียกตามนักประสาทกายวิภาคที่ศึกษาบริเวณนี้เรียกว่า Broca's area ตามชื่อ Pierre Paul Broca ชาวฝรั่งเศส เรื่องราวของคนค้นพบ เดี๋ยวคงมีใครสักคนไปค้นแล้วรวบรวมมาให้ฟังแน่ๆเลย
คราวนี้ถ้าบริเวณนี้เกิดถูกทำลายไป ไม่ว่าจะมีเนื้องอกมาเบียด มีฝี มีการขาดเลือด ซึ่งการขาดเลือดนี้ก็มักจะเป็นหลอดเลือดที่มาเลี้ยงส่วนที่เป็นการเคลื่อนที่ของแขนขา ที่เรียกว่า motor cortex ซึ่งเลี้ยงโดยหลอดเลือด middle cerebral artery เราจึงมักพบว่า อ่อนแรงไปด้วยกัน แขนขาซีกหนึ่งกับการพูดไม่รู้เรื่อง
โดยเกือบทั้งหมด broca's area จะอยู่ที่สมองซีกซ้าย เรามักจะเคยรู้มาว่าถ้าเราถนัดมือด้านไหน แสดงว่าสมองอีกด้านเป็นฝั่งที่เด่นกว่า Broca's area จะอยู่ฝั่งนั้น ก็ไม่เป็นจริงเสมอไปนะครับ ..ส่วนใหญ่นะครับ..ก็ถนัดขวา Broca's จึงมักพบอยู่ฝั่งซ้าย แต่บางครั้งคนถนัดซ้าย Broca's ก็อยู่ฝั่งซ้ายได้นะ
เมื่อเกิดความเสียหาย ก็จะเกิดความบกพร่องการพูด เรื่องรับฟังและแปลผลจากการได้ยินปกติเพราะบริเวณที่ใช้แปลผลการฟังหรือ Wernicke's area (brodmann srea 22) ที่อยู่สมองส่วน parietal ยังปกติดี และสัญญาณเชื่อมระหว่าสองบริเวณนี้ เพื่อตรวจสอบคำพูดตัวเองว่าแม่นยำถูกต้องไหม ที่ชื่อ arcuate funniculus ยังปกติดี
หลักๆก็จะเป็นเรื่องของการพูดติดขัดไม่ลื่นไหลและไวยากรณ์ที่ผิดไป อาจจะมีพูดซ้ำไม่ได้ เช่นให้พูดว่า ประเทศไทยมีระบบการจัดการขยะที่ดีมาก ก็จะพูดว่า ไทย-มี-ดี ขยะ ขยะ-มาก คือการเปล่งเสียงคำไม่ติดเท่าไร แต่การเรียบเรียงคำพูด ไวยากรณ์ผิดปกติไปเลย ทำให้การสื่อสารทำไม่ได้
แต่ถ้าสั่งให้ทำตามเช่นยกมือ กำมือ อันนี้จะทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องสงสัยว่าบริเวณที่รับฟังผิดปกติไปด้วย
ที่พูดมาทั้งหมด เพียงเพื่อให้ทราบว่า การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาการสื่อสาร ผู้ดูแลต้องเข้าใจถึงข้อบกพร่องด้านนี้ของคนไข้ ว่าอาจจะตอบสนองหรือสื่อสารไม่ตรงกัน อาจต้องใช้ อวัจนภาษามากขึ้น ต้องอดทนเพราะว่าคนไข้เองเขาคิดได้ประมวลความคิดในสมองได้แต่จะพูดออกมาอีกอย่างครับ ตัวคนไข้เองก็ทุกข์และเศร้าเพราะว่าพูดสื่อสารไม่ได้ คนดูแลก็หงุดหงิดเพราะฟังไม่เข้าใจ มันจะทุกข์ทั้งคู่
ท่านลองจินตนาการ ว่าถ้าท่านไปอยู่ที่ประเทศยูกานดา ท่ามกลางคนที่พูดภาษาดาวพระศุกร์ ฟังภาษาไทยไม่ออก แล้วตอนนี้ปวดอึอย่างแรง ท่านถามเขาว่าห้องน้ำไปทางไหน แล้วเขาตอบมาว่า ห้องนั่งเล่นเอาไว้กินอาหารในตึกข้างหน้า ท่านจะทำอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น