ปัจจุบันเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันแล้ว จริงๆเข้ามาตั้งนานแล้ว ไหนใครเป็นสมาชิกแล้วยกมือหน่อย (เราไม่ใช้คำว่าแก่นะครับ ไม่เอา)
แพทย์ทุกสาขาคงต้องรับมือกับผู้สูงวัยแน่ๆ ยกเว้นกุมารแพทย์ กับ สูติแพทย์ ผู้สูงวัยไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่อายุมากเท่านั้น เหมือนกับเด็กก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ การดูแลจึงต้องมีความเข้าใจกายวิภาค สรีรวิทยาของการเปลี่ยนแปลงในผู้สูงวัยจึงจะสามารถดูแลได้ดี
การทำงานของร่างกายที่ถดถอยลงย่อมส่งผลแน่นอน กับการออกฤทธิ์ การกำจัดยา ไหนจะสารพัดยาที่ได้ในแต่ละโรค ยาซ้ำยาซ้อน ซึมเศร้า ไม่กินข้าวไม่กินยา เวลาผมทบทวนยาคนไข้สูงวัยที่เข้ามาในไอซียูแต่ละคน เรียกว่าไม่ต่ำกว่า 5 ตัว มากๆเข้า ..เอ จะให้ตัวไหน ต่อ จะหยุดตัวไหน งงเหมือนกัน
คุณหมอ Mark Beers ได้รวบรวบการศึกษาต่างๆที่เกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงวัยที่ไม่เหมาะสมหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหา ไม่ว่าจะทำให้หกล้ม มีปฏิกิริยาระหว่างยา ต้องปรับยาเมื่อไตเสื่อม เรียกรายชื่อและข้อแนะนำเหล่านี้ว่า Beers' criteria (ไม่อยากใช้คำว่า criteria เลย อยากใช้ consensus หรือ recommendation มากกว่า) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1991 ต่อมาเนื่องจากวันเวลาที่เปลี่ยนไป ยาตัวใหม่เกิดขึ้น ยาเก่าเลิก ใช้ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นก็มีการปรับปรุงเรื่อยๆล่าสุดทาง american geriatrics society (เวชศาสตร์ปัจฉิมวัย) ได้ปรับปรุงรายการใหม่ในปี2015 เพิ่มเติมจากปี 2012
รายการนี้แบ่งออกเป็นยาที่ใช้ในระบบต่างๆ หลายระบบ ผมขอยกตัวอย่างนะครับ
1. ยาแก้แพ้ antihistamine ยากลุ่มแรกรุ่นแรก ที่มีฤทธิ์ต้านระบบประสาทโคลิเนอร์จิกรุนแรง และออกฤทธิ์นาน แนะนำให้หลีกเลี่ยง เนื่องจากเสี่ยงต่อการวูบและล้ม เช่นยา คลอร์เฟนนิรามีน (ถ้าจำได้ผมถึงขั้นต้มขิง กินแทน คลอร์เฟนิรามีน)
2. ยาฮอร์โมนเพศชาย แอนโดรเจน แนะนำหลีกเลี่ยงเพราะเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมาก (ระดับความมั่นใจในคำแนะนำสูงมากและหลักฐานเชิงประจักษ์แน่นหนา)
3. ยาเบาหวาน sulphonylureas ที่ออกฤทธิ์นาน คือ chlorpropramide และ glibenclamide แนะนำหลีกเลี่ยงเพราะออกฤทธิ์นานเกินไป..ในผู้สูงวัย..เพิ่มโอกาสความเสี่ยงน้ำตาลต่ำ
Beers' criteria ถือกำเนิดในอเมริกา แน่นอนล่ะว่าการใช้ยาต่างๆของยุโรปกับอเมริกานั้นบางอย่างก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้สูงวัยในยุโรปอาจไม่ปลอดภัยจากคำแนะนำนี้ เพราะยาบางในยุโรปไม่มีก็ไม่ถูกระบุในแนวทาง
ทางยุโรปจึงจำเป็นต้องสร้างแนวทางคล้ายๆกันแต่ออกแบบสำหรับสภาพแวดล้อมฝั่งยุโรป เรียกว่า screening tool of older persons prescriptions ใช้ชื่อย่อว่า‘‘STOPP’’ เพื่อบอกถึงแนวทางการสั่งยาให้เหมาะสมและเกิดผลเสียน้อยที่สุด พร้อมกันนั้นก็ออกแนวทางเพื่อกระตุ้นเตือนให้แพทย์คิดถึงการสั่งยาที่จะเกิดประโยชน์กับผู้สูงวัยหากมีภาวะเหมาะสมเรียกว่า screening tool to alert to right treatment หรือใช้ชื่อย่อว่า "START" ปัจจุบันก็เวอร์ชั่นสอง ปี 2016
จำง่ายดีนะครับ STOPP และ START ยกตัวอย่างละอัน
stopp .. ระมัดระวังยากลุ่ม benzodiazepines ที่ออกฤทธิ์นาน หรือ อนุพันธ์ของมันที่ออกฤทธิ์นาน เช่นยา diazepam ที่เราใช้กันมากมาย เพราะเพิ่มความเสี่ยงการหกล้ม การซึมลง โดยเฉพาะถ้าใช้ต่อเนื่องนานเกินหนึ่งเดือน
start .. การใช้ยา L-dopa ในโรคพาร์กินสันที่ไม่มีสาเหตุอื่นๆ และโรคมีผลต่อการเคลื่อนที่และชีวิตประจำวัน
หลังแนวทางประกาศใช้ การให้ยาอย่างไม่เหมาะสมลดลงมากมายในยุโรปลดลงจาก 30% เหลือแค่ 2.5%
การใช้ยาในผู้สูงวัยจึงไม่ใช่แค่ ทราบวินิจฉัย ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ขนาดยา เท่านั้น ต้องพิจารณาอย่างอื่นๆอีกตามเกณฑ์ที่แนะนำ ไม่ว่าจะขับยาออกไหม ตาจะมองเห็นเม็ดยาไหม หักครึ่งเม็ดทำได้ไหม ให้ยาวันละสามครั้งจะลืมไหมหรือจะกินซ้ำหรือเปล่า มียามากๆจะกินผิดซองไหม สำคัญนะครับ เพราะสักวันแนวทางนี้ ท่านก็ได้ใช้
แนวทางทั้งหมดสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีนะครับ กดหาจากกูเกิ้ลได้เลย ผู้สูงอายุเราจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น...คุณพร้อมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือยัง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น