12 มิถุนายน 2560

Mondor's disease

วารสาร New England Journal of Medicine ลงภาพนี้ในสัปดาห์นี้ น่าสนุกดี ผมก็ไม่เคยเห็นนะเรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน 

 ชายกลางคนอายุ 53 ปี มีอาการเจ็บบริเวณหัวนมและหน้าอกขวา 4 วันแล้ว อาการเจ็บคงที่และถ้ายกมือขวาก็จะเจ็บมากขึ้น พร้อมๆกันนั้นก็มี "เส้น" คลำได้ใต้ผิวหนัง เจ็บๆ เรียงตัวจากหัวนมมาที่ท้องน้อยขวาเลย  ไม่มีหนอง ไม่มีน้ำไหลจากหัวนม ไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ ไม่มีไข้   ไม่เคยผ่าตัดใดๆ
   ไปตรวจก็ได้ทำอัลตร้าซาวนด์หลอดเลือด พบว่า "เส้น" ที่ว่านั้นคือหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังที่มีการตันจากลิ่มเลือดดำและอักเสบ ทำให้เห็นเป็นลำและกดเจ็บ ดูแล้วก็ไม่มีก้อนใดๆ ที่เต้านม  ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็น Mondor's disease

   เรารู้จักลิ่มเลือดดำอุดตันกันมาแล้วแน่นอน ผมนำเสนอเรื่องเลือดดำอุดตันมามากมาย แต่ว่าส่วนมากคืออุดดันที่หลอดเลือดดำขนาดใหญ่ของร่างกายซึ่งเป็นหลอดเลือดดำที่ชั้นลึก ที่เรียกว่า deep vein thrombosis จะมีอันตรายต่อชีวิตมากหากเกิดขึ้นแล้วหลุดไปอุดที่ปอด  แต่กับหลอดเลือดดำตื้นๆที่เราเห็น ที่เราเจาะเลือด ที่เราแทงเส้นน้ำเกลือ ก็ตันได้ครับ
   นี่คือลักษณะการตันของหลอดเลือดดำชั้นตื้นและโดยมากก็จะเกิดร่วมกับการอักเสบทำให้มีอาการเจ็บปวดบริเวณนั้นๆ เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเกิดก่อนกัน ว่าการอักเสบเกิดก่อนแล้วจึงตัน หรืออุดตันก่อนแล้วหน่วงนำให้อักเสบ จึงเรียกรวมๆว่า thrombophleblitis (thrombo,thrombus ลิ่มเลือดดำ  phleblitis หลอดเลือดดำอักเสบ...ถ้าเป็นเลือดแดงจะเป็น arteritis) 
   อาการที่เกิดหลอดเลือดดำตื้นๆที่บริเวณหน้าอก หน้าท้อง เต้านม แล้วมีอาการเจ็บโดยเฉพาะเวลาขยับนี้ คุณหมอ Henri Mondor ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบและรายงานเป็นคนแรก
   
    สัมพันธ์กับอุบัติเหตุ การกระแทกบริเวณนั้น การผ่าตัดเต้านม...เสริมอึ๋มด้วยหรือไม่ ... อาการเป็นเองหายเอง แค่ให้ยาแก้ปวดและลดอาการอักเสบเท่านั้น และที่สำคัญไม่ค่อยสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง อันนี้จะต่างจาก Trousseau's Syndrome  ที่เป็นการตันและอักเสบของหลอดเลือดดำชั้นตื้น เป็นๆหายๆตามที่ต่างๆที่ไม่ใช่บริเวณที่พบบ่อย เช่นที่แขน อันนี้สัมพันธ์กับมะเร็ง ผู้ค้นพบ Armand Trousseau อายุรแพทย์ชาวฝรั่งเศส ก็พบลักษณะนี้กับตัวเอง !!! และหลังจากนั้นเขาก็เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

   ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาแก้ปวดต้านการอักเสบ 6 สัปดาห์ก็หายเป็นปกติและไม่เกิดซ้ำอีกเลย

ภาพและข้อมูลจาก NEJM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม