27 มิถุนายน 2560

เหลืองจากแคโรทีน

กินฟักทองจนตัวเหลืองไปหมดแล้ว มันจริงไหม

ปรกติแล้วเมื่อเรามีอาการตัวเหลือง สิ่งที่เราจะคิดคือ เรามีสารบิลิรูบินคือสารเหลืองจากการทำงานของตับผิดปกติหรือเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกมากๆ (ฮีโมโกลบินมาก ก็จะสร้างสารเหลืองมาก) ระดับของบิลิรูบินที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่าเหลือง คือ 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การตรวจเหลืองก็จะดูที่ฝ่ามือ ตาขาว ใต้ลิ้น
แต่ภาวะบางอย่าง เราก็จะพบเหลืองได้เช่นกัน คือ แคโรทีนมากขึ้น และแคโรทีนไปสะสมทำให้เห็นเป็นสีเหลือง

ต่างกันอย่างไร..แคโรทีนจะสะสมที่เนื้อเยื่อไขมัน เราจึงพบที่ไขมันใต้ผิวหนัง จึงพบตัวเหลือง ***แต่ว่า ตาไม่เหลือง*** เห็นได้ชัดมากกว่าในเด็กนะครับ เพราะผิวเด็กจะใส ไร้ราคี ในผู้ใหญ่นั้นสีผิวจะถูกแปรปรวนตามปัจจัยต่างๆ จะบอกว่าเหลืองนั้นค่อนข้างยากครับ อีกอย่างคือ เด็กจะกินอาหารเสริมเป็นฟักทอง แครอท ที่มีแคโรทีนสูง หรือสีออกเหลืองๆ ในน้ำนมโคลอสตรัม นมแรกๆของแม่นั้นก็มีสีเหลืองจากแคโรทีนมากมายนี่เอง นมแม่ก็มีแคโรทีนสูงนะครับ

ส่วนผู้ใหญ่มักจะกินอาหารเสริมเป็น ข้าวบาร์เลย์หมัก องุ่นหมัก ไม่ค่อยมีแคโรทีน มีแต่แอลกอฮอล์

แคโรทีนนั้น เป็นสารตั้งต้นอันหนึ่งของการสร้างวิตามินเอในร่างกาย โดยอาศัยเอนไซม์หลายชนิดในการเปลี่ยนมาเป็นวิตามินเอ แต่ว่าร่างกายก็มีการกำหนดปริมาณวิตามินเอนะครับ เพราะวิตามินเอที่มากเกินไปจะเกิดพิษนั่นเอง
กินแคโรทีนมากๆ ร่างกายก็จะนำไปสร้างวิตามินเอประมาณหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือก็จะคั่งค้างไปสะสมตามไขมันใต้ผิวหนังนั่นเองครับ

ฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งในการเปลี่ยนจากแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอ คือ ฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วยที่ไทรอยด์ต่ำจึงอาจจะมีภาวะเหลืองที่ตัวและตาไม่เหลืองได้

ส่วนที่วิตามินเอเกินจนเกิดพิษมักจะเป็นวิตามินเอที่ได้ตรงๆ ไม่ผ่านการสังเคราะห์เช่น วิตามินเสริม ยารักษาสิวบางชนิด และที่สอนมาตลอดแต่ผมว่าอาจไม่เคยมีเคสในประเทศไทยเลยก็ได้ คือ ผู้ที่รับประทานตับหมีขั้วโลก !!!
สำหรับแคโรทีนที่เกินและเหลืองนั้น เพียงแค่เราลดปริมาณลง เหลืองก็ลดลงได้ในสองถึงสามสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจพิเศษมากมายอะไรเลย ยกเว้นว่าอาจพบกับโรคร่วมอื่นเช่น โคเลสเตอรอลในเลือดสูง เบาหวาน และเหลืองจากสารไลโคปีน ที่พบมากในมะเขือเทศ

ตอนแรกๆชื่อของโรคนี้คือ Xanthosis diabetica พบตั้งแต่ก่อนสงครามโลกคือปี 1904 ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้เป็นมังสวิรัติ อาจเพราะรับประทานผักที่มีแคโรทีนมากกว่า การแยกโรคออกนั้น แยกจากเหลืองจากสารบิลิรูบินและไลโคปีน ทำได้โดยการตรวจแยกสารทางฟิสิกส์ reflection spectoscopy เป็นการหักการหักเหและสะท้อนของแสงที่ผิวหนังที่จะมีรูปแบบเฉพาะสำหรับแคโรทีน และการวัดระดับเบต้าแคโรทีนในเลือดที่จะสูงกว่าปกติมากๆ ระดับเบต้าแคโรทีนก็จะสอดคล้องกันดีกับการวัดแสงที่ผิวหนังในเชิงฟิสิกส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม