06 มีนาคม 2564

หนังสือ เวชปฏิบัติ : ไข้ในโรคเขตร้อน (Principle and Practice of Fever in the Tropics)

 หนังสือ เวชปฏิบัติ : ไข้ในโรคเขตร้อน (Principle and Practice of Fever in the Tropics)

โรคเขตร้อน เป็นโรคที่เกิดในภูมิภาคประเทศแถบศูนย์สูตร ด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศเฉพาะแบบทำให้เชื้อโรคและสัตว์พาหะมีรูปแบบต่างกันในภูมิภาคต่าง ๆ ประเทศไทยเราก็อยู่แถบนี้ และมีโรคในเขตร้อนมากมาย

โรคพวกนี้หาอ่านจากตำราฝรั่งได้ยากนะครับ เพราะไม่ใช่โรคที่เขามีข้อมูลมากนัก ส่วนมากในบทนี้ของตำราฝรั่งก็จะมาจากผู้แต่งผู้เชี่ยวชาญในแถบเขตร้อนนี่เอง เช่น โรคเมลิออยโดสิส ที่แทบจะหาอ่านจากตำราฝรั่งและรีวิวทางวิชาการในวารสารชื่อดังได้ยาก (ส่วนมากวารสารและตำราชื่อดังจะมาจากยุโรปและอเมริกา)

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมโรคติดเชื้อในเขตร้อน ข้อมูลการระบาด พยาธิสรีรวิทยา อาการและอาการแสดง การตรวจทางห้องปฏิบัติการรวมถึงการตรวจทางโมเลกุล การรักษาและการป้องกัน ที่สำคัญคือ ข้อมูลมาจากประเทศไทยและประเทศแถบนี้ อ้างอิงต่าง ๆ ส่วนมากคืองานวิจัยของไทยเรา เขียนโดยพื้นฐานประเทศที่มีโรคแบบนี้มากมาย ดังนั้น ไม่ใช่แค่ข้อมูลแน่นแต่ยังมีเทคนิค กลเม็ด ความคุ้มค่าคุ้มทุนในการตรวจการรักษาอีกด้วย เป็นการตรวจการรักษาที่มีในบ้านเมืองเรา

หนังสือเล่มนี้สามารถใช้เป็นอ้างอิง สามารถใช้ในการศึกษา อ่านสอบ สามารถใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง ผมรับรองว่าทุกโรงพยาบาลต้องเจอโรคกลุ่มนี้แน่นอน โดยเฉพาะในระดับโรงพยาบาลอำเภอ หนังสือเล่มนี้ถือว่าเหมาะมากครับ เนื้อหาดี เขียนเข้าใจง่าย ใช้ได้กับทุกระดับ

ตัวอย่างที่มีในเล่มเช่น โรคฉี่หนู โรคไข้รากสาดใหญ่ (ไทฟัส) โรคมาเลเรีย โรคไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคซิกา ฝีในตับ ไข้ไม่ทราบสาเหตุในเขตร้อน ไข้จากยารักษาโรค เห็นไหม โรคที่พบบ่อยมากและหาตำราอ่านยากครับ

วิธีการส่งสิ่งส่งตรวจ ส่งอะไร ช่วยวินิจฉัยได้แค่ไหน การเลือกใช้ยาที่ถือว่าดีมากเพราะเป็นฐานข้อมูลจากประเทศไทยเราเองครับ

ตำราเล่มขนาดเอสี่ กระดาษปอนด์อย่างดีเย็บกาวแน่น หนา 400 หน้า โดยบรรณาธิการ ชญาสินธุ์ แม้นสงวน และ ฉัตรพร กิตติตระกูล พิมพ์ครั้งแรก โดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ราคาปก 750 บาท สั่งซื้อที่ได้ที่เว็บไซต์คณะเวชศาสตร์เขตร้อนครับ

อาจเป็นรูปภาพของ หนังสือ และข้อความพูดว่า "6 Mahidol University Facuity Tropical Nedicine Principles. and Practice of Fever in the Tropics เวชปฏิบัติ: ไข้ในโรคเขตร้อน บรรณาธิการ ชญาสินธุ์ แม้นสงวน ฉัตรพร กิตติตระกูล"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม