21 มีนาคม 2564

สรุปเนื้อหาจากการพูดคุยเรื่อง "ตำราแพทย์ แพงและหายากจริงหรือ" โดยแขกรับเชิญ แอดมินเพจและเจ้าของร้านหนังสือออนไลน์ "Meditext ซื้อตำราแพทย์เป็นเรื่องง่าย ๆ"

 สรุปเนื้อหาจากการพูดคุยเรื่อง "ตำราแพทย์ แพงและหายากจริงหรือ" โดยแขกรับเชิญ แอดมินเพจและเจ้าของร้านหนังสือออนไลน์ "Meditext ซื้อตำราแพทย์เป็นเรื่องง่าย ๆ"

🤔🤔"ตำราแพทย์ยุคปัจจุบันเข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น"

*ในอดีต ผู้จัดจำหน่ายตำรามักจะส่งให้กับคณะแพทย์ ห้องสมุด หรือการซื้อทีละมาก ๆ ให้กับตัวแทนจำหน่าย แต่ปัจจุบันทางสำนักพิมพ์และตัวแทนมีช่องทางมากขึ้นในการติดต่อสื่อสารกับผู้อ่านโดยตรง ทำให้ผู้อ่านมีสิทธิ์มีโอกาสเลือกหาเลือกซื้อตำราที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น

*ช่องทางการสื่อสารที่มีมากขึ้นทำให้เราได้มีโอกาสเลือกซื้อได้มากขึ้น สะดวกขึ้น

🤔🤔"การซื้อตำราแพทย์จากต่างประเทศหรือผ่านตัวแทนในประเทศ ยากง่ายต่างกันหรือไม่"

* ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศคือผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้งสิ้น บางตัวแทนจำหน่ายไม่ได้มีเป้าหมายทางธุรกิจเป็นประเทศไทย จึงไม่ส่งมาไทยหรือส่งมาก็อาจติดปัญหามากเพราะไม่มีตัวแทนคอยจัดการการขนส่ง หลายครั้งมีปัญหาศุลกากร ภาษี (มีหนังสือหลายชนิดที่ต้องภาษี) หรือการสั่งหนังสือเข้ามาสต๊อกมาก ๆ ก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มมาก

* การคำนวณปริมาณการขายจึงสำคัญ บางตัวแทนต่างประเทศก็เลือกไม่ส่งมาไทยเพราะเพิ่มต้นทุน

* ตัวแทนจำหน่ายตำราแพทย์ในไทยตอนนี้มีประมาณ 10-12 ราย ที่น่าจะครอบคลุมการนำเข้าตำราแพทย์กระแสหลักที่ต้องการได้ และมีผู้คอยช่วยเหลือดูแลและติดต่อกับทางสำนักพิมพ์หากเกิดปัญหา ยกเว้นตำรากระแสรองที่ต้องใช้เวลานานเช่นกัน

* ร้านค้าออนไลน์ ตัวแทนจำหน่าย และสำนักพิมพ์สามารถส่งข้อมูลเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ทำให้การซื้อหาตรงขึ้น นำข้อมูลตรงนี้มาจัดสรร ทำให้การกระจายหนังสือที่ผู้คนนิยมซื้อ ไปในแหล่งนั้น ๆ ได้มากกว่าเดิม จากที่ต้องรอห้องสมุด หรือตามใจตัวแทนจำหน่ายว่าจะเลือกเล่มใดมาทำกำไร

🤔🤔"การมาถึงของเทคโนโลยีและโลกดิจิตอล ส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อหรือไม่"

* ดิจิตอล สำนักพิมพ์ไม่ได้มองว่าข้อมูลดิจิตอล หนังสือดิจิตอลจะมาแทนที่หนังสือเล่ม ดังนั้นทางสำนักพิมพ์จึงจะขายทั้งแบบเล่มกับแบบดิจิตอลไปพร้อมกัน อาจจะเหมือนกัน หรือมีเฉพาะบางบทบางตอนในแบบดิจิตอล แต่ละมีคู่กัน และส่วนมากจะขายเป็นแพ็กเกจคู่

* หลายสำนักพิมพ์เปลี่ยนโมเดลธุรกิจหลัก ไปขายข้อมูลหนังสือดิจิตอลกับเว็บให้บริการข้อมูลการแพทย์ และเว็บเหล่านี้เอาไปเผยแพร่อีกทีหนึ่ง ส่วนข้อมูลดิจิตอลที่มาทำเป็นอีบุ๊ก ยังไม่ได้เติบโตมากเท่าไรนัก

* ตอนนี้ตำราเล่มยังขายดีกว่าอีบุ๊กมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่นิยมอ่านตำราเล่มมากกว่า

* หลายสำนักพิมพ์หรือตัวแทนจำหน่าย ใข้ข้อมูลดิจิตอลเป็น "พรีวิว" เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าของตน เช่น ฟังก์ชั่น "look inside" ของเว็บ amazon หรือสั่งตัวอย่างจาก kindle, amazon e-book ที่จะมีคำนำ สารบัญ และเนื้อหาบางส่วนมาให้เลือกและตัดสินใจ
ทั้งหมดนี้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น "ทั้งสองแบบ"

🤔🤔"หนังสือที่หลุดออกมาเป็น pdf, epub เนื่องจากเป็นฐานดิจิตอลที่หลุดง่าย ลอกง่าย มีผลไหม"

* มีผลน้อยมาก จาก สนพ.ไม่ได้ไล่ล่ากลุ่มนี้มากนัก (แต่ก็เอาผิดตามกฎหมายได้ครับ) บางสนพ. ถือเป็นการ "เปิดตา" คนซื้อและทำโอกาสขายมากขึ้น

* หลายสนพ. เปิดแพลตฟอร์มของตัวเองที่จะสามารถอ่านได้จากแอปของตัวและลิ้งก์ไปอีบุ๊กของตัวเองด้วย เพื่อกันการก๊อปปี้หนังสือ (ยกตัวอย่างบ้านเราก็ meb, naiin)

* เนื่องจากยอดอีบุ๊กของตำรายังไม่เป็นสัดส่วนมากนัก การไหลรั่วของข้อมูลดิจิตอลจึงยังไม่กระทบ ณ เวลานี้

🤔🤔"หนังสือที่มาจำหน่ายในไทย แพงกว่าที่อื่นไหม"

* ส่วนมากถูกกว่าในอเมริกา ยุโรป เพราะราคาขายในแต่ละภูมิภาคไม่เท่ากัน การตั้งราคาของภูมิภาคเอเชียจะราคาถูกกว่าที่อื่น และแน่นอนในประเทศไทยด้วย

* อีบุ๊กที่กระแสหลักและออกมาใหม่ ราคาไม่ต่างจากหนังสือเล่ม (อันนี้ยืนยัน อาจจะต่างกันร้อยสองร้อย แต่ที่ต่างมากคือ ระยะเวลาการส่ง และภาษีศุลกากร)

* หลายสำนักพิมพ์มี international edition ที่เนื้อในเหมือนของยุโรปและอเมริกาทุกประการ แต่จะกำหนดจำหน่ายในบางประเทศเท่านั้น ราคาของ international edition จะถูกกว่าเล่มหลักพอสมควร (ผมซื้อแบบนี้ตลอดเลยครับ)

🚩🚩ผมสรุปสั้น ๆ ว่าตำราแพทย์ที่มาจำหน่ายในบ้านเรา ตอนนี้หาซื้อได้ง่ายขึ้น ตรงความต้องการมากขึ้น และหากสั่งผ่านตัวแทนในไทยจะมีความสะดวกมากกว่าสั่งเองในระดับหนึ่ง ในราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศ เรียกว่าสะดวกสบายและตรงความต้องการมากกว่าเดิมครับ

ส่วนอีบุ๊กคงยังไม่สามารถมาแทนหนังสือเล่มได้ในเวลาอันใกล้นี้แน่นอน ตอนนี้ยังเป็นเพียงส่วนเติมเต็มและอำนวยความสะดวกเวลาพกพาเสียมากกว่า

อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ การลงทุนซื้อตำรามาอ่าน ไม่ใช่เอามาดองหรือเอามาทำเป็นของขลังให้อุ่นใจ ถือว่าคุ้มมาก ไม่แพง ผลตอบแทนมากมาย และอยากให้ซื้อแบบถูกลิขสิทธิ์เพื่อสนับสนุนผู้แต่งและสำนักพิมพ์ บางทีอนาคตเราอาจมี bookshop ของแม็คกรอฮิลล์, เอลซีเวียร์, เจพีบราเธอร์ส, หรือแอมะซอน มาเปิดร้านให้เราได้เลือกก็ได้นะครับ

"ความรู้ใหม่ ตำราแพทย์ที่ไม่มีแบบฝึกหัดท้ายเล่ม เสียภาษีต่างจากหนังสือที่มีแบบฝึกหัดท้ายเล่ม และการสำแดงสินค้า บางทีต้องแกะห่อดูกันเลย"

ขอขอบคุณร้าน Meditext ซื้อตำราแพทย์เป็นเรื่องง่ายๆ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม