02 สิงหาคม 2562

การอ่านในยุค digital disruption

การอ่านในยุค digital disruption
เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับว่าการอ่านมันเปลี่ยนรูปแบบไป จากที่เคยเป็นหนังสือหรือกระดาษ ตอนนี้เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องแท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่ารูปแบบการนำเสนอจะเปลี่ยนไป
จากที่เป็นเรื่องราวร้อยเรียง คราวนี้ต้องทำเป็นคำ ๆ ที่สำคัญต้องปรุงอร่อย สะกดใจในคำเดียว เพราะว่ามีอาหารมากมายเสิร์ฟถึงมือ เป็นอำนาจของผู้เสพที่จะเลือกอ่านจากสื่อใด บีบบังคับให้ผู้เขียน ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องปรับแนวการเขียนไปด้วย ต้องดึงดูด ต้องเร้าใจ ต้องแปลกใหม่และไม่น่าเบื่อ
แต่เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนมากนัก และที่สำคัญเรามองในแง่ดีเราสามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลด้วยการนำเสนอที่หลากหลาย เข้าถึงง่ายและราคาไม่แพง
ขอมากล่าวถึงออดิโอบุ๊กและพ็อดแคสต์ก่อน สื่อชนิดนี้เป็นเสียง หมายความว่าเราสามารถละสายตาจากหน้าหนังสือและตัวอักษรได้ เราสามารถทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอ่านมากขึ้น เช่น เวลาผมขับรถไปไหนมาไหน จะฟังสื่อเสียงแบบนี้ หรือเวลาออกกำลังกายเสียบหูฟังก็ใช้ได้ เราสามารถ "อ่าน" วิชาการ วารสาร บทวิจัยได้ตลอดเวลา
ออดิโอบุ๊ก คือ หนังสือเล่มนั่นแหละครับ เพียงแต่มีคนอ่านให้ฟัง เดิมทีน่าจะออกแบบให้ผู้ที่ขาดโอกาสทางการมองเห็นได้เรียนรู้ แต่ตอนนี้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน มีหลากหลายเนื้อหา ส่วนมากจะเป็นนิยาย คำอ่านจะเป็นตัวอักษรเป๊ะ ๆ ในแอปพลิเคชั่นดี ๆ สามารถคั่นหนังสือที่เป็นจุดอ่านได้เหมือนหนังสือเล่ม
พ็อดคาสต์ มันก็คือรายการวิทยุออนไลน์นั่นแหละครับ สามารถฟังย้อนหลัง ฟังซ้ำได้ ปัจจุบันมีแอปฟังมากมาย youtube, joox, spotify, soundcloud คุณสามารถเลือกเรื่องที่สนใจและสมัครสมาชิกเอาไว้ มันจะแจ้งเตือนเอง พ็อดคาสต์เชิงวิชาการหรือให้ความรู้จะเหมือนมีคนมาเล่าให้ฟัง แน่นอนว่าเนื้อหาจะไม่ครบถ้วน แต่จะไม่น่าเบื่อเหมือนอ่านเอง
ยกตัวอย่างที่ผมฟังบ่อย ๆ ในแง่วิชาการคือ JAMA clinical reviews ที่จะนำความรู้หรือบทความที่ลงในวารสาร JAMA นำมาสรุปให้ฟังหรือเชิญผู้ทำวิจัย ผู้เขียนวารสารมาสัมภาษณ์ อื่น ๆ เช่น PeerView Internal Medicine, NEJM journal watch
แต่ด้วยความว่าเรื่องราวของพ็อดคาสต์หรือออดิโอบุ๊ก จะเป็นเรื่องราวที่ผู้จัดทำต้องการสื่อ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังสนใจ การฟังพ็อดคาสต์จึงไม่สามารถใช้ตอบคำถามหรือศึกษาเรื่องราวที่เรากำลังศึกษาได้ การฟังจึงเป็นเพียงการเติมความรู้ ที่เราจะนำไปใช้ได้ ไม่ใช่การฟังเพื่อระบุสืบค้นหาเป้าหมายที่ต้องการ
ด้วยความที่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ราคาไม่แพง สามารถพกพาได้สะดวก เราสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อทดแทนหนังสือไม่ว่า การอ่านเพื่อความรู้วิชาชีพ การอ่านเพื่อเติมความรู้และประสบการณ์ หรือการอ่านเพื่ออารมณ์และความรู้สึก ได้ทั้งสิ้นข้อดีคือไม่ต้องพกพามาก สะดวก ข้อเสียคือต้องใช้พลังงานแบตเตอรี่ การอ่านผ่านหน้าจอนาน ๆ ถ้าไม่ใช่จอแบบอีอิงค์ในเครื่องอ่านอีบุ๊ก อ่านผ่านหน้าจอจะแสบตามาก แต่ข้อเสียประการสำคัญคือ สมาธิ เพราะเราอาจถูกดึงดูดจากสาเหตุอื่นได้ง่าย
ด้วยเหตุนี้ผมจึงยืนยันว่าการใช้หนังสือเล่มหรืออีบุ๊กยังดีกว่าหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องแท็บเล็ต เครื่องจะเหมาะกับการสืบค้นหาคำตอบหรือทำงานมากกว่าให้อ่านเอาจริงเอาจังในระยะยาวครับ
ถ้าใครติดตามผมมาตลอดจะทราบว่าผมใช้เครื่องอ่านอีบุ๊กเยอะมาก ด้วยสาเหตุที่สายตาผมไม่ค่อยดีนัก แสบตาปวดตาง่าย การอ่านด้วยจอแอลซีดีเป็นระยะเวลานาน ๆ จะปวดตา อย่างที่สองคือผมมีคลังหนังสือที่ใช้งานมากเวลาออกนอกสถานที่ก็ไม่ต้องพก อย่างที่สามคือราคาหนังสืออีบุ๊กมันถูกกว่าหนังสือเล่มเยอะเลย แต่สุดท้ายก็อ่านรวม ๆ กันไปครับ เครื่องพวกนี้มันแค่ช่วย "อำนวยความสะดวก" ถ้าเราใช้เป็นก็เสือติดปีก แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็สิ้นเปลืองเปล่าครับ
เครื่องมืออีกอย่างที่จะมาช่วยเราคือสื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอทางยูทูป จะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้มาช่วยย่อย ช่สยสรุป ช่วยพรีวิวหรือรีวิวหนังสือ อย่างถ้าเราต้องการสืบค้นเรื่องที่พัฒนาความรู้เช่นเรื่องวิธีการทำสมุดทำมือ มันก็มีหนังสือให้อ่านและมีคลิปวิดีโอที่มีผู้จัดทำได้ลงในโลกออนไลน์เอาไว้ด้วย ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ง่าย ร่นระยะเวลาที่ต้องค้นคว้า ต้องจด ต้องบันทึก ต้องสรุป ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นสามารถอ่านหนังสือในกลุ่มนี้หรือเพิ่มเวลาในการอ่านกลุ่มอื่น หรือมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นมากขึ้นครับ
สื่อเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ เว็บบล็อก ห้องสมุดออนไลน์ สามารถช่วยการอ่านได้ทั้งสามหัวข้อหลัก แต่ต้องมีทักษะในการคิดและแยกแยะข้อมูลเท็จจริง ออกจากข้อคิดเห็นด้วยนะครับ สื่อพวกนี้มีข้อดีคือรวดเร็ว ง่าย สะดวก แต่ก็มีข้อควรระวังเรื่องความน่าเชื่อถือ
จะเห็นว่าข้อดีที่สำคัญคือสะดวก พร้อมใช้พกพาง่าย ที่สำคัญคือมีสื่อหลากหลายให้เราได้เข้าถึงมากขึ้น เป็นโอกาสที่เราจะประหยัดเวลาและใช้เวลาไปจัดสรรงานอย่างอื่นได้มากขึ้น ปัจจุบันท่านสามารถหาหนังสือชนิด pdf, epub, mobi, txt ได้มากมาย ขนาดหนังสือแต่ละเล่มก็ไม่ได้ใหญ่มากเรียกว่ารวมกันเป็นร้อย ๆ เล่มใช้ไมโครเอสดีการ์ดอันเดียวเอาอยู่เลย
ข้อเสียสำคัญคือ มันดึงดูดความสนใจในทางอื่นได้ง่าย ทำให้สมาธิเราลดลง การอ่านแบบจับใจความหรืออ่านเพื่ออรรถรสอาจจะถูกรบกวนได้ง่ายครับ ดังนั้นการใช้เครื่องมือใด ๆ จำเป็นต้องทราบข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะใช้อย่างดีและปรับใช้ให้เหมาะสมด้วยครับ
ผมยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือในยุค digital disruption สำหรับตัวผมเองแล้วกัน เผื่อท่านใดจะปรับไปใช้เป็นแนวทางของตัวเองได้
..สื่อสังคมออนไลน์ ผมใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเพื่อตามข่าวสารทางวิชาการเท่านั้น ไม่ได้อ่านอย่างจริงจัง ส่วนจดหมายจะใช้ติดตามข่าวหนังสือออกใหม่หรือวารสารที่สมัคสมาชิกอยู่ครับ
..เครื่องแท็บเล็ต ผมใช้เป็นสื่อกลางการดาวน์โหลดข้อมูล เพื่อนำมาเก็บไว้อ่านอีกครั้ง หรือใช้อ่านเปเปอร์ วารสาร ที่ความยาวไม่มากใช้เวลาอ่านไม่นาน และที่สำคัญคือใช้ฟัง podcast ครับ
..โทรศัพท์ อันนี้ไม่ใช้เลยครับ อันเล็ก เสียสายตา เปลืองแบตด้วย
..เครื่องอ่านอีบุ๊ก หลัก ๆ คือหนังสือเพื่อการพัฒนาความรู้ หนังสือบันเทิง ภาคภาษาอังกฤษจะอ่านที่นี่ ด้วยหนังสือราคาไม่แพง พกพาง่าย แถมมันมีดิกชันนารีในตัวนี่แหละครับ ฝึกภาษาไปด้วย อีกเครื่องจะไว้ใช้เก็บตำราและวารสารเอามาอ่านทีหลัง (แต่ก็มีนิยาย pdf ภาษาไทยพอสมควร)
แต่ถ้าถามว่าส่วนมากผมอ่านที่ไหน ขอตอบว่าหนังสือเล่มเป็นหลักนะครับ ยังเป็นคนรักหนังสือเล่ม การจับกระดาษ สูดกลิ่น ตัวอักษรสบายตา ได้คั่นหนังสือ มันมีค่าทางใจและอารมณ์มากเลย ลองคิดดูนะอ่าน "กลิ่นกาสะลอง" จากหนังสือเล่มกับจากมือถือ อันไหนฟินกว่ากัน
สุดท้ายนี้ยังขอประชาสัมพันธ์งานของตัวเองครับ คืองานเสวนา สุขใจที่ได้อ่าน ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ หนังสือแห่งความทรงจำ ใครที่รักหนังสือ ใครที่เริ่มรัก ใครที่อยากเริ่มต้น หรือใครที่อยากมาพบปะกิจกรรม บุ๊คคลับ แบบนี้ที่ห่างหายไปนานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มาพบปะกันได้ บ่ายวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคมนี้ เวลา 13.30-16.00 ที่ร้านกาแฟบรรยากาศดี ID Workspace ID WorkSpace ตรงข้ามโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชวีมา เยื้อง Terminal 21 นิดเดียว เรามาดื่มกาแฟ และสนุกสนานด้วยกันนะครับ มาไปถูก สอบถามได้ทางข้อความส่วนตัวได้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม