05 ตุลาคม 2559

ไมเกรน กับ ergots

ไมเกรน กับ ยาแก้ปวด ergotamine ตกลงมันใช้ได้ไหม..

แชร์กันมากทีเดียวในโลกออนไลน์ พูดกับปากต่อปาก ยา ergotamines มันอันตราย อย่าไปใช้เลยนะ จริงเท็จแค่ไหน ผมหาข้อมูลจาก คณะเภสัช มหิดล, อาจารย์แพทย์, คนไข้, ร้านยา, international guidelines (AAN, AHS) เอามาสรุปให้ฟังง่ายๆเป็นข้อๆ เรียงวิธีคิดลำดับจากข้อหนึ่ง เป็นภาษาที่เราทุกคนเข้าใจ อ่านเรียงลำดับไปนะครับ

1. ไมเกรน เป็นโรคที่มีความซับซ้อน อาการหลากหลาย มีทั้งปวดหัว เวียนหัว ชาตัว ปวดซีกเดียว ปวดทั้งหัว มีเสียงเตือน กลัวแสง ฯลฯ และในทางตรงกันข้าม อาการปวดหัวก็ไม่ได้หมายถึงจะเป็นไมเกรนทุกครั้งไป ครั้งที่แล้วใช่ ครั้งนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆก็ได้ แม้ว่าอาการจะเหมือนกัน ...ควรรับการวินิจฉัยโดยแพทย์ครับ อย่าคิดเอง อย่าไปเทียบอาการตัวเองกับใครทั้งนั้น

2. ยาแก้ปวดไมเกรนเฉียบพลัน มีหลายตัวหลายการศึกษา แต่ละคนก็ตอบสนองต่อยาแต่ละตัวไม่เหมือนกัน จึงมีความหลากหลายในการเลือกใช้ยามาก แต่อย่าลืมว่าการใช้ยาไม่ได้มีแต่ประโยชน์ เราต้องคำนึงถึงข้อห้าม ข้อควรระวัง ในทุกครั้งที่มีการให้ยา

3. ยาที่ใช้เป็นอันดับต้นๆได้แก่ ยากลุ่ม triptans เช่น eletriptan sumatriptan zolmitriptans พวกนี้รักษาได้ทั้งอาการปวดและอาการกลัวแสงกลัวเสียง รองมาคือ NSAIDs คือยาลดปวดต้านการอักเสบทั่วไป เช่น ibruprofen, naproxen ใช้ได้ปานกลาง ระวังผลเสียต่อโรคหัวใจและกระเพาะอาหาร   ยาเม็ดพาราเซตามอล ก็ยังใช้ได้ดี

4.  ยากลุ่มเออร์กอต ergotamine เป็นยาเก่าแก่ที่ใข้ในการรักษาไมเกรนได้ดีเช่นกัน ค่าเฉลี่ยในการลดปวดอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังกิน ในรูปแบบการค้ามีทั้งแบบผสมคาเฟอีน 100 มิลลิกรัม และไม่ผสม เช่น cafegot, avamigran, tofago, poligot-CF, Ergosia  ยาจะไปออกฤทธิ์ในการกระตุ้นสารสื่อประสาทซีโรโทนิน ทำให้หลอดเลือดบีบตัว แก้ไขอาการปวดไมเกรนจากหลอดเลือดขยายตัว

5. แต่ ergotamine ก็ไปออกฤทธิ์อีกหลายจุด ไม่ใช่แค่ไปบีบหลอดเลือดอย่างเดียวจึงเป็นที่มาของผลข้างเคียงต่างๆของยา ergotamine ที่เราเห็นตามสื่อ ที่พบบ่อยและอันตรายคือทำให้หลอดเลือดที่จำเป็น ที่บางคนก็ตีบแคบอยู่แล้ว ตีบแคบจนถึงขั้นตีบตันไปเลยก็มี ได้แก่ หลอดเลือดแดงที่แขนขา หลอดเลือดแดงที่หัวใจ หลอดเลือดแดงที่สมอง และ ความดันโลหิตที่จะสูงขึ้นมากๆ

6. เกิดกับทุกคนเลยหรือไม่ ก็ไม่ทุกคนนะครับ มักจะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบ หรือเสี่ยงจะตีบ ดังนั้นการใช้ยาต้องคิดถีงข้อควรระวังอันนี้มากๆเลยนะครับ ถ้ามีโรคเหล่านี้ไม่ควรใช้ยา ergotamine ครับ  และถึงคุณไม่มีโรคหลอดเลือด ก็ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 6 เม็ดต่อวัน และ ไม่เกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์ ไม่งั้นก็อาจเกิดอันตรายจากหลอดเลือดตีบและความดันขึ้นได้เช่นกัน

7. อีกข้อที่อันตรายคือ ยา ergotamine ต้องไปทำลายที่ตับด้วยเอนไซม์ ถ้าเราเกิดใช้ยาใดๆ ที่ไปยับยั้งการทำงานของเจ้าเอนไซม์นี้ ยา ergotamine ก็ถูกทำลายน้อยลง อยู่ในตัวเรานานขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์มากขึ้น แต่จะทำให้เกิดพิษ ในข้อห้า มากขึ้น จึงต้องแจ้งแพทย์ และ เภสัชกรทุกครั้งที่จะใช้ยา ergotamine ว่าคุณ ใช้ยาใดๆอยู่  ในทางตรงข้ามถ้ากำลังใข้ยา ergotamine ก็ต้องระมัดระวังการใช้ยาในข้อ 8 เช่นกัน

8. ยาดังกล่าวมีดังนี้
  azithromycin, clarithromycin ... ยาฆ่าเชื้อส่วนมากใช้กับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  ketoconazole, itraconazole, voriconazole ... ยาฆ่าเชื้อรา
  verapramil ... ยาลดความดันและควบคุมการเต้นจังหวะหังใจ
  ritonavir, cobicistat... ยาต้านไวรัส ใช้มากในการรักษาไวรัสเอชไอวี และ ตับอักเสบซี
  triptans ... ยารักษาไมเกรน ในข้อสาม นั่นเอง
  nitrates ... ยาขยายหลอดเลือดในโรคหัวใจ
  telaprevir ... ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี
เลือกมาที่ต้องห้ามจริงๆ อันตราย ยังมีที่เกิดปฏิกิริยาแต่ไม่อันตรายอีกเยอะมาก

9. ดังนั้นก่อนจะใช้ยา ergotamine คิดสองข้อ ข้อแรก เราเป็นไมเกรน เราวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นไมเกรนจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่ใช่ปวดหัวไมเกรน ก็ไม่มีข้อบ่งชี้การใช้ ergotamine เลย

10. ตรวจสอบข้อห้ามการใช้ ในข้อ 5,6 ระวังและติดตามการใช้ ในข้อ 6 ระวังยาที่จะเกิดปฏิกิริยารุนแรงในข้อ 8 ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง และ #อย่าประมาทในการใช้ยาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม