22 ตุลาคม 2559

เชื้อดื้อยา อุบัติใหม่ที่น่ากลัว

เชื้อดื้อยา..สงครามครั้งใหม่ของมวลมนุษยชาติ

  ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 การใช้ยาปฏิชีวนะได้รักษาชีวิตคนมากมายจากโรคติดเชื้อ แม้ว่าเวลาต่อมาเชื้อโรคเองก็มีการพัฒนาการดื้อยาเพื่ออยู่รอดในยุคการใช้ยาปฏิชีวนะ มนุษย์เราก็พัฒนายาตัวใหม่เพื่อต่อสู้เชื้อที่ดื้อยาต่อไป สงครามนี้ในช่วงแรกมนุษย์เราชนะขาด แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ มนุษย์เราพัฒนายาปฏิชีวนะเพื่อสู้เชื้อดื้อยาออกมา..น้อยมาก..จนในหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ เชื้อโรคเริ่มรุกรานมนุษย์มากขึ้นจนเป็นปัญหาทั้งโลก องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ แม้กระทั่งประเทศไทยก็มีแผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้เชื้อดื้อยาเรียบร้อยแล้ว (global action plan)
    ตัวเลขสักหน่อย ในประเทศไทยได้ประมาณการณ์จากข้อมูลต่างๆ ว่าเรามีการติดเชื้อดื้อยาประมาณ 100,000 รายต่อปี โดยกลุ่มนี้เสียชีวิต 38,000 รายต่อปี   สูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่ 1% ของ GDP เทียบกับทางยุโรปและอเมริกา เราตายมากกว่านะครับ  จนคาดการณ์ทั้งโลกว่าในปี 2050 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะนำเป็นสาเหตุการตายมากสุด

  ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าโรคติดเชื้อมันจบไปแล้ว เรามารบกับ โรคหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง แต่ตอนนี้ศัตรูเดิมกลับมาทำลายเรา ด้วยความเก่งกาจมากขึ้น
    ทำไมศัตรูตัวนี้จึงกลับมาอีกและเป็นที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก (ในไทยที่มีปัญหามากคือ ESBL, CRE, CPE) สาเหตุหลักคือมนุษย์เราเองทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ส่วนสาหตุรองคือตัวเชื้อเองได้มีการกลายพันธุ์เพื่อให้อยู่ได้แข็งแรงมากขึ้น

  สาเหตุจากมนุษย์นั้นหลักๆคือการใช้ยาไม่เหมาะสม   การใช้ยาไม่เหมาะสมนั้น มีมากมายเลยนะครับ มีอะไรบ้าง หมอใช้ยาไม่เหมาะสม ใช้ยาเกินความจำเป็น ไม่ปรับยาตามผลเพาะเชื้อ ให้ยาไม่ถูกต้อง ไม่ถูกขนาด อันนี้ได้ดำเนินการควบคุมและแก้ไข ทั้งการให้คู่มือ ให้ความรู้ การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเคร่งครัด

  ระดับชุมชน ก็มีส่วนนะครับ การซื้อยาจากร้านชำ ร้านยา ที่อาจเป็นยาควบคุม ใช้ยาไม่ถูกเชื้อ ใช้ยาต่ำกว่าขนาดรักษา ใช้ยานานเกินไป และที่สำคัญคือ อย่าคิดว่ายาต้านปฏิชีวนะคือ..ยาแก้อักเสบ.. ตอนนี้กำลังรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆมากมายครับ
  ระดับการควบคุม อย. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ ได้กลับมาควบคุมเคร่งครัด มีพรบ. กฎกระทรวงที่ชัดเจนขึ้น  ยุทธศาสตร์ชาติโดย ครม. ก็ได้รับการอนุมัติแล้วครับ

   *** เอ..ทำไมมีกระทรวงเกษตรฯ ด้วยละ เพราะปัจจุบันเรามีการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์อย่างมากมาย เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ ทั้งในวัว หมู ไก่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและช่วยการเติบโต  ยาที่ตกค้างในสัตว์และเชื้อดื้อยาที่อยู่ในสัตว์ ส่งผ่านไปสู่สัตว์ตัวอื่นและดื้อยาไปเรื่อยๆ รวมทั้งตกค้างมาถึงในคนด้วย ตัวเลขล่าสุด พบเนื้อที่มีการตกค้างของยาและเชื้อดื้อยา อยู่ที่ 7% ของเนื้อในตลาด
  แม้กระทั่ง มีการใช้ยาในพืช ด้วยนะครับ   ยาในสัตว์และพืช เช่น เอนโร, โคลิสติน  ในปัจจุบันทางอย. และ กระทรวงเกษตร ได้ออกกฎหมายมาควบคุมการใช้เรียบร้อย ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การต่อสู้เชื้อดื้อยา

  การควบคุมการติดเชื้อ การล้างมือ การจัดการแยกผู้ป่วย ก็เป็นนโยบายสำคัญในการต่อสู้เชื้อดื้อยา ซึ่งตอนนี้ก็กำลังจัดทำอย่างเร่งด่วนครับ
  สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข วิจัยและนำร่องการป้องกันเชื้อดื้อยาในไทย พบมีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในดิน ในน้ำ ในอาหารเกือบๆ 25% สอดคล้องกับการใช้ยาในสัตว์ และไปทางเดียวกันกับการใช้ยาและการดื้อยาในคน เช่นกัน รวมทั้งพบยีนการดื้อยา colistin ..ยีน MCR-1 ที่จะดื้อกับยาไม้ตายของเราในการรักษาเชื้อดื้อยาเสียด้วย

  ขณะนี้ประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่ม G77 ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักครับ  สำหรับประชาชน ควรส่งเสริมการล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะใช้พร่ำเพรื่อ  กินยาฆ่าเชื้อที่หมอให้ให้ครบ ไม่แบ่งยาให้คนอื่น ไม่เก็บยาไว้ใช้เอง  การเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกต้องมีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย

  สามารถ ศึกษาข้อมูลต่อได้ที่ โครงการ STOP AMR (Anti Microbial Resistance) มีทั้งข้อมูลสำหรับประชาชน และ บุคลากรทางการแพทย์ครับ

https://www.hsri.or.th/amr

รายงานจาก ปาฐกถาเกียรติยศ "สมพนธ์ บุณยคุปต์" โดย ศ.นพ. วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ในงานประชุมใหญ่วิชาการโรคติดเชื้อประจำปี 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม