02 ตุลาคม 2559

ตึกกรอสส์

ตึกกรอสส์ เวอร์ชั่นของผมเอง . จากความทรงจำล้วนๆครับ

วิชามหกายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาที่หมอทุกคนในประเทศไทยตื่นเต้น สนุกสนาน เร้าใจ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียนแพทย์  คือ วิชาการชำแหละอาจารย์ใหญ่นั่นเองครับ เป็นวิชาที่เราได้สัมผัสร่างกายมนุษย์อย่างละเอียดถี่ยิบ ทุกเส้นประสาท ทุกเส้นเลือด ผ่านมือ ผ่านตามาหมดแล้วครับ  เช่นเคยวันนี้ผมจะพาท่านย้อนอดีตไปที่ ตึกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกเรียนที่.."ขลัง" ที่สุดตึกหนึ่งแห่งศิริราช

ตึกกรอสส์ เป็นตึกแบบโบราณ ตึกเรียนหลังแรกๆของศิริราชสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2468 เดิมมีสองชั้น ได้ต่อเติมขึ้นเป็นสามชั้น มองจากภายนอกสมัยนั้นยังไม่ทาสีใหม่ เป็นสีขาวหม่นๆ รูปตึกเป็นแบบตะวันตกสมัยสงครามโลก สมัยแรกเป็นอย่างไร ผมไม่มีข้อมูล แต่สมัยที่ผมเป็นเฟรชชี่ เป็นแบบนี้
   เดินเข้าไปจากประตูใหญ่ด้านหน้า เป็นโถงบันไดใหญ่ แบ่งตึกออกเป็นปีกด้านตะวันออกและตะวันตก บันไดเป็นบันไดไม้ขนาดใหญ่วนขึ้นไปชั้นสอง ได้อารมณ์แบบบ้านทรายทองครับ มองไปด้านซ้ายหรือฝั่งตะวันตกจะเป็นห้องทำงานของอาจาย์และห้องเรียนเล็คเชอร์ เป็นห้องเล็กๆวางเก้าอี้ไม้แบบเป็นสเตจครับ ที่เด็ดมากคือ หน้าชั้นเป็นกระดานดำแบบสองแผ่น เลื่อนขึ้นลงแบบชักรอกครับ เขียนด้วยชอล์ก
  ที่เด็ดกว่านั้น ภาพต่างๆที่ฉายไปที่หน้าชั้น เป็นเครื่องฉายสไลด์ แบบต้องใช้ฟิล์มสไลด์เลื่อนเข้าออกนะครับ ถ้าอาจารย์ท่านใดจะใช้แผ่นใส..แผ่นใส เด็กๆรุ่นนี้จะรู้จักไหม ก็มีเครื่องฉายแผ่นใสอยู่หน้าห้อง  ครับ..ผมไม่ได้มองว่าเก่า ผมมองว่านี่คือ สิ่งที่สร้างแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมาแล้วรุ่นต่อรุ่น
   สมัยที่ผมเรียน ห้องเรียนมักจะเต็ม มีการสร้างห้องเล็กข้างๆ ถ่ายวงจรปิดมาที่ห้องเล็ก ส่วนมากก็พวกมาสายครับ ต้องระเห็จมาห้องนี้

  กลับมาที่โถงใหญ่ คราวนี้มองไปทางขวาจะเป็นห้องเจ้าหน้าที่ ห้องรับบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ครับ และเป็นโซนเก็บอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ผ่านเข้าไปอีก จะเป็นห้องทึบๆ ไว้เก็บร่างอาจารย์ใหญ่ส่วนหนึ่งเอาไว้ที่นี่ครับ กระดูก ชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อเอาไปใช้เรียน ใช้สอบ .. ไคลแม็กซ์อยู่ที่ หลังเวลา 18.00 น ตึกจะปิดประตูหน้าครับ ประตูหลังจะปิดประมาณ 19.00 ผมไม่แน่ใจนัก ทำให้เหล่า นศพ. ต้องเดินผ่านห้องนี้เพื่ออกประตูเล็กๆในห้องนี้ครับ มีหลอดไฟสลัวๆ  เดินผ่านโถง ผ่านห้องเก็บอุปกรณ์ ผ่านห้องอาจารย์ใหญ่ !!! ทางเดินเล็กๆ เร้าใจดีนัก
   ..เอ้า..ตื่นๆๆๆ  ไปต่อครับ ลึกต่อจากห้องเก็บอาจารย์ใหญ่จะเป็นทางเชื่อมไปตึกที่ต่อเติมใหม่ มีประตูบานเลื่อนกั้นไว้ เชื่อมไปยังพิพิธภัณฑ์ เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร เก็บงานและแสดง การศึกษากายวิภาคของมนุษย์และสัตว์ เปรียบเทียบตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนถึงปัจจุบัน แสดงวิวัฒนาการของกายวิภาคและโครงกระดูกมนุษย์อย่างละเอียดครับ

  กลับมาที่โถงบันได เราจะไปชั้นที่สองครับ บันไดไม้ หน้ากว้าง วนไปชั้นสองและชั้นสาม เดินแต่ละก้าวจะดังครับ ตึกๆเอี๊ยดอ๊าดๆ เป็นเสียงประกอบการเดินที่ระทึกใจอย่างมากเวลาเย็นๆค่ำ ที่บอกว่าระทึกใจและศักดิ์สิทธิ์ คือ ที่ฝาผนังตลอดทางเดินบันไดไปจนถึงชั้นสอง จะมีรูปวาดและรูปถ่ายแบบโบราณของบูรพาจารย์ศิริราช โดยเฉพาะอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ตั้งแต่คนแรก เรียงรายกัน เฝ้ามองนักเรียนแพทย์ทุกรุ่นทุกคน ด้วยความห่วงใย ทุกวันที่เราต้องผ่านทางเดินบันไดนี้ ท่านอาจารย์จะเฝ้าดู เฝ้าเตือนใจพวกเราทุกขั้นบันไดครับ
  มองไปทางฝั่งตะวันออก นี่คือ ห้องชำแหละศพอันศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยโต๊ะชำแหละกว่า 60 โต๊ะ ในห้องใหญ่และห้องย่อย เพดานสูง กระจกและประตูบานเฟี้ยม พัดลมเพดานพัดแต่กๆๆ มีห้องเก็บล็อกเกอร์เล็กๆ โต๊ะยาวสำหรับ เรียนกลุ่ม สองสามตัว พร้อมหุ่นโครงกระดูกในห้องนั้นเสร็จสรรพ ด้วยความที่ตำรากายวิภาคศาสตร์ตอนนั้นหนามากๆครับ เราใช้ Cunningham's texbook, Grant's method of anatomy และ Grant's atlas of anatomy เรียกว่า รวมๆกันได้สมุดโทรศัพท์หน้าขาวสองเล่ม อ่านจนจำได้กันเกือบหมด เช้าๆใครมาเร็วก็มานั่งทบทวนที่ห้องนี้ได้  บรรยากาศเงียบ.บบบ.มากกก

   โต๊ะชำแหละแต่ละโต็ะเป็นโต๊ะไม้แข็ง กว้างประมาณเมตรกว่าๆ ยาวสักเกือบสองเมตร ร่างอาจารย์ใหญ่นอนสงบนิ่งอยู่บนโต๊ะ มีผ้าพลาสติกสีเทาเงินคลุมอยู่ แต่ละโต๊ะมีนักเรียนสี่คนเก้าอี้สตูลกลมสี่ตัว ใต้โต๊ะจะมีชั้นวางหีบไม้อยู่หนึ่งหีบทุกโต๊ะ ในหีบนั้นบรรจุกระดูกมนุษย์เอาไว้เรียนคู่กับร่างอาจารย์ใหญ่ ตลอดทั้งปี รักษากันเท่าชีวิตครับ
มีเสาสแตนด์ไม้เอาไว้วางตำรา ความสูงระดับสายตาสองเสา สำหรับตำราและสมุดภาพ นักเรียนทั้งสี่คน สลับกันช่วยกันชำแหละเทียบกับตำราที่อีกสองคนจะช่วยกันอ่านครับ
  ท้ายห้องจะมีถังเก็บชิ้นส่วนอาจารย์ใหญ่ชิ้นเล็กๆที่ชำแหละออกมาเช่น ชิ้นผิวหนัง เนื้อเยื่อ รวมๆกัน ไปฌาปนกิจตอนท้ายปี ถังใส่ฟอร์มาลินเอาไว้ราดร่างอาจารย์ก่อนคลุมเก็บในแต่ละวันไม่ให้แห้ง  อ่างล้างมือที่ต้องใช้สบู่เพียงแบบเดียวในโลกที่ช่วยลดคราบฟอร์มาลินได้คือ..สบู่ซันไลต์
  ในห้องแต่ละห้องจะมีกระดานดำแผ่นใหญ่พร้อมชอล์กสีต่างๆ เพื่อร่างภาพต่างให้เข้าใจง่าย..แบบ อินโฟกราฟฟิก ในปัจจุบัน

  ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นห้องทำงานของอาจารย์ ธุรการภาควิชา อันนี้ผมไม่เคยเข้าไปครับ ไม่เคยเข้าไปแก้ F แต่อย่างใด เราเก็บไว้ในอาจารย์ทำงานต่อนะครับ

  เอาละเราไปกันต่อนะ จากโถงบันไดชั้นสอง ขึ้นบันไดวนไปชั้นที่สาม เช่นกันครับยังเป็นบันไดไม้แผ่นใหญ่ เสียงดังแอดอาดตามเดิม มองไปที่ฝาผนังคราวนี้บรรยากาศจะซอฟต์ลงมาหน่อย จะมีภาพวาดการแพทย์ยุโรปโบราณ สมัยกรีก ฮิบโปเครตีส คำประกาศสิทธิผู้ป่วย ฉบับ hippocratic oath
   ชั้นสาม ในฝั่งตะวันตก เป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์กายวิภาคคองดอน  เป็นเกียรติให้กับ ศาสตราจารย์ เอ็ดการ์ ดาวิดสัน คองดอน ผู้รวบรวมชิ้นส่วนทางกายวิภาคต่างๆ เอาไว้สอนนักเรียน มีหุ่นโครงกระดูกของสองบุคคลสำคัญคือ พระยาอุปกิตติศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ผู้ที่อุทิศตนให้กับการศึกษาแพทย์เป็นคนแรก อาจารย์ใหญ่คนแรก  และ โครงกระดูกของศาสตราจารย์สุด แสงวิเชียร ผู้บุกเบิกการศึกษากายวิภาคศาสตร์ของไทย

   พิพิธภัณฑ์เป็นที่รวบรวมสิ่งที่น่าสนใจทางกายวิภาค การชำแหละชั้นยอด ส่วนต่างๆของร่างกายอย่างละเอียด ชิ้นส่วนต่างๆชำแหละและใส่บล็อกไว้ มีการระบายสีชนิดพิเศษเพื่อระบุชื่อต่างๆไม่ให้สีนั้นสูญหายตามกาลเวลา (albuminous paint) ตัวอย่างความผิดปกติทางกายวิภาค แฝดสยาม ชิ้นส่วนกระดูกหูที่เล็กที่สุดในร่างกายใช้เรียนได้ตลอดครับ และที่สุดของที่สุด มีที่เดียวในโลก ชิ้นเดียวในโลก คือ ตู้เก็บสามตู้ เส้นประสาททั้งร่าง หลอดเลือดแดงทั้งร่าง หลอดเลือดดำทั้งร่าง ครบทุกเส้นในตำแหน่งเดิม ชำแหละอย่างละเอียดยิบย้อมสีสวยงาม ไม่ขาดไม่เกิน ฝีมือ อ.เพทาย ศิริการุณ
    บุคคลภายนอกสามารถเข้าชมได้ฟรีครับในวันเวลาราชการ   ส่วนอื่นๆของตึกจะไม่อนุญาตให้เข้าชม เว้นแต่สองพิพิธภัณฑ์นี้ครับ

  ในปีกตึกฝั่งตะวันตก จะเป็นห้องเรียนวิชาจุลกายวิภาคศาสตร์ คือ การศึกษาร่างกายในส่วนเล็กๆระดับเซลด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะมีตู้เก็บกล้อง เท่าจำนวนนักเรียน ห้องส่องกล้องโล่งกว้าง เช่นกันครับเพดานสูง บานเฟี้ยม พัดลมผนัง โต๊ะไม้ยาว สี่แถวรอบห้อง เป็นช่องให้แต่ละคนนำกล้องตัวเองมาเรียน มาศึกษา ในลิ้นชักและตู้เก็บของข้างเก้าอี้ จะมีกล่องเก็บสไลด์เนื้อเยื่อต่างๆบรรจุอยู่สามกล่อง เอาไว้ใช้ดูตลอดปี สามารถเดินไปดู ทายกันระหว่างนักเรียน
   นอกจากนี้ยังมีกล่องเก็บชิ้นส่วนของตัวอ่อนหมูในระยะต่างๆ ของแต่ละสัปดาห์การเติบโต ผ่าและย้อมลงสไลด์ เท่าจำนวนนักเรียน กล่องเก็บสไลด์ร่างกายระบบประสาท เพื่อศึกษากายวิภาคระบบประสาทในชั้นปีที่สาม

  ที่อยากบอกคือ สไลด์เหล่านี้ บูรพาจารย์ได้เก็บรวบรวมทำขึ้นทีละน้อยๆ จากนักเรียนแพทย์ไม่กี่สิบ จนเป็นร้อยๆคน ให้มีเรียนอย่างเพียงพอ ต้องอาศัยความพยายามและอดทนอย่างมากจึงจะได้สื่อการเรียนที่ดีอย่างนี้ ท่านอาจารย์ สรรใจ แสงวิเชียร เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เริ่มทำสไลด์ตัวอ่อนหมูเพื่อมาใช้เรียนวิชาวิทยาเอ็มบริโอนั้น ท่านอาจารย์สุด แสงวิเชียร บิดาของท่านต้องตื่นแต่ตีสามตีสี่ เพื่อไปรอเอาตัวอ่อนจากโรงฆ่าสัตว์เป็นเวลาหลายสิบปี จึงจะได้มาครบทุกระยะสัปดาห์ ให้กับนักเรียนทุกคน ท่านอาจารย์สรรใจเล่าให้ฟัง ให้พวกเราตั้งใจเรียน เพื่อสมกับความพยายามของครูบาอาจารย์ที่เสียสละให้ลูกศิษย์มาจนถึงยุคปัจจุบัน
  สมัยนั้น ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มี4G ไม่มีgoogle เราอ่าน เราท่อง เราจด เราดูกล้อง เราชำแหละ จนกระทั่งยุคของผม ก็ยังทำวิธีแบบนั้น ปัจจุบันน้องรุ่นหลังๆอาจไม่ได้ใช้สื่อแบบนี้แล้ว แต่อยากให้รู้ว่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้รับยกย่องเชิดชูเกียรตินั้น ท่านอาบเหงื่อต่างน้ำเพียงใด เพื่อให้นักเรียนรุ่นหลังมายืนในจุดที่ยืนอยู่นี้

  แม้ปัจจุบันการเรียนการสอนวิชากายวิภาคจะเปลี่ยนไป มีสื่อการสอน มีเพาเวอร์พ้อยต์ มีแอปสามมิติ และจะเปลี่ยนสถานที่ไม่ได้เรียนที่ตึกกายวิภาคศาสตร์ หรือ ตึกกรอสส์ อันเลื่องลือแล้ว
   อาคารตึกกรอสส์ก็ยังตั้งตระหง่าน มีมนต์ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตำนานที่เล่าขานอีกนานเท่านาน

  ขอรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม