23 ตุลาคม 2559

วัณโรคดื้อยา

รำลึกถึงพ่อหลวง..ในหลวง กับ การรักษาวัณโรค

"...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสนพระราชหฤทัยและมีบทบาทสำคัญยิ่งต่องานสาธารณสุขของชาติ รวมทั้งงานป้องกันและรักษาโรคปอด มาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ โดยเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชของพระบามสมเด็จอพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ท่านทรงทราบว่าชาวไทยเป็นวัณโรคกันมาก อีกทั้งไม่มีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยและขาดแคลนยารักษาโรค จึงพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ซึ่งเป็นเพลงแรกที่พระราชทานให้วงดนตรีนำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศลเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับพระราชทานแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผลงานฝีพระหัตถ์ออกประมูลในงานเดียวกัน เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการต่อต้านโรคร้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และได้ทรวงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือกิจกรรมต่อต้านวัณโรคเสมอมา
ในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์พระราชทานให้สภากาชาดไทยเพื่อสำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการผลิตวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองคุณภาพวัคซีนบีซีจีที่ผลิตในประเทศไทย..."

บทความนี้ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารวัณโรคและโรคทรวงอก ในปี พ.ศ. 2539 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานป้องกันและรักษาโรคปอด

สงคราม  ทรัพย์เจริญ พ.บ., พ.ด. (กิตติมศักดิ์)

วัณโรค  เป็นเชื้อที่ก่อโรคกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน มนุษย์ก็มีการปรับตัวเพิ่อรักษาวัณโรคพัฒนายาในการรักษาออกมามากมาย เหมือนกับเชื้อโรควัณโรคที่จะต้องพัฒนาตัวเพื่อชนะยาที่เราคิด จึงเป็นการกำเนิดเชื้อวัณโรคดื้อยา ปัญหาที่เริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้มากมายและเร่งด่วนเหมือนแบคทีเรีย  โดยธรรมดาเชื้อวัณโรคก็ตายยากอยู่แล้วนะครับ อยู่ในดินในน้ำได้เป็นสิบๆปี เอาว่าเชื้อที่ไม่ดื้อเราก็รักษากัน 6-9 เดือนอยู่แล้ว ถ้าเป็นเชื้อดื้อยา ก็จะรักษากันนาน 2-3 ปี หรืออาจต้องกินยากดเชื้อไปตลอด
   ทำไมจึงดื้อยา..เหมือนกับแบคทีเรียนะครับ ส่วนมากเกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสม กินยาไม่ครบ สูตรยาไม่ถูก มีบางรายเท่านั้นทีาโชคร้ายเกิดจาก การติดเชื้อดื้อยาตั้งแต่ต้น โชคดีอย่างหนึ่งคือ เจ้าพวกเชื้อวัณโรคดื้อยามันไม่ค่อยแพร่กระจาย และ ไม่ค่อยติด ไม่เหมือนเชื้อธรรมดาที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่า

   คนไข้กลุ่มนี้จะไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือรักษาไปแล้วกลับมาแย่ลง กลับมาพบเชื้อในเสมหะ แต่ในยุคปัจจุบันเราพัฒนาการตรวจระดับโมเลกุล ที่สามารถพบความไวของเชื้อได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ก่อนหน้านี้เราต้องเอาเชื้อไปเพาะเชื้อ รอเชื้อขึ้นแล้วเอาไปทดสอบความไว ใช้เวลาอย่างน้อยเดือนสองเดือนนะครับ วิธีใหม่ที่ตรวจระดับโมเลกุลหรือระดับยีน จะร่นระยะเวลาจากหลายเดือนเป็นแค่ สองสามวันครับ ทั้งการทดสอบ geneXpert, หรือ line probe assays ซึ่งปัจจุบันเป็นรุ่นที่สอง สามารถตรวจหาความไวของยากลุ่มหลัก ยากลุ่มรอง (Hain test)
   การทดสอบใหม่นี้จะช่วยบอกว่าเป็นวัณโรคหรือไม่ ดื้อยาหลักในการรักษาหรือไม่ เป็นเชื้อดื้อยาที่เรียกว่า  multidrug resistant คือ ดื้อยา isoniazid และ rifampicin หรือไม่   หรือว่าเป็นเชื้อ XDR คือดื้อยากลุ่มแรก และดื้อยากลุ่มรองคือยาฉีด aminoglycosides และ ยากิน quinolones เพื่อทำให้เราสามารถจัดกลุ่มการรักษาได้ดีขึ้นเร็วขึ้น

    การกินยาสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมากครับ และการตรวจจับเชื้อดื้อยาตั้งแต่ต้นก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ปัจจุบัน สมาคมปราบวัณโรค และ สมาคมอุรเวชช์ ..ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดแนวทางการตรวจและรักษา รวมทั้งจัดกายาใหม่ในการรักษาวัณโรคเช่น   bedaquiline, delamanid รวมถึงการใช้ยาเดิมมาพัฒนาในการรักษา คือ linezolid และ clofazimine
   ครับ หมายถึงในหลวงรัชกาลที่เก้านั้น สนใจการรักษาและการควบคุมวัณโรคในตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่านครับ เสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  ให้การสนับสนุนกิจการของทั้งสองสมาคม จนประเทศไทยสามารถจัดการวัณโรคได้ดีมากประเทศหนึ่งเลยนะครับ แม้เราจะเป็น hot spot ของเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะจังหวัดทางฝั่งภาคตะวันตกของประเทศไทย เราก็ยังจัดการและควบคุมได้ดี เป็นพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่ สมเด็จพระราชบิดา ในหลวงรัชกาลที่เก้า ที่สนใจกิจการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการควบคุมวัณโรคครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม