21 ตุลาคม 2559

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

วันนี้เห็นคนง่วง..หลับ..จึงนึกถึงโรคนี้ขึ้นมาได้ โรคหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea)

ก่อนหน้านี้เคยกล่าวถึง โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการควบคุมที่สมองผิดปกติ (ondine's curse) และจากความอ้วน (pickwikian syndrome) วันนี้เราจะมารู้จักอาการหยุดหายใจ หรือหายใจน้อยลงขณะหลับ
ทำไมถึงมีความสำคัญ..ถ้ามีภาวะนี้ก็จะส่งผลต่อโรคต่างๆที่เป็นอยู่.มักจะแย่ลง โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นความดันโลหิตสูงขึ้น คุมไม่ได้ โรคหัวใจแย่ลง รวมไปถึงเรื่องหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี เสียบุคลิกภาพ คุณภาพชีวิตแย่ลง

ปกติแล้วเวลาที่เราตื่นอยู่นั้น ระบบต่างๆในร่างกายมันเปิดสวิตช์เต็มที่ครับ อาการหยุดหายใจจึงไม่เกิด ถึงแม้เราจะอ้วนเพียงใด ระบบประสาทและการเกร็งตัวหย่อนตัวของกล้ามเนื้อคอหอย จะทำให้หายใจราบรื่น แต่เมื่อเวลาเราหลับ ระบบต่างๆในร่างกายจะลดการทำงานลง ระบบประสาทไม่ได้ตื่นตัวเต็มที่ การควบคุมคอหอยทำได้ไม่ดี เวลาที่ควรจะขยายเพื่อเพิ่มลม กำจัดแก๊สที่คั่งในปอด ทำได้ไม่ดี แก๊สเสียคั่ง ออกซิเจนลดลง ตรงนี้แหละครับถ้าเกิดบ่อยๆมากๆ การขาดออกซิเจนนี่แหละครับจะส่งผลเสียต่อร่างกาย

อุบัติการณ์ในโลกนี้ เกือบ 60% พบในคนอ้วน มีเนื้อเยื่อบริเวณคอหอย หรือในคอหอยมาก หรือมีการควบคุมกล้ามเนื้อผิดปกติในอัมพาต..ถามว่า หยุดหายใจทำให้เกิดอัมพาตหรืออัมพาตแย่ลง ก็จริงนะครับ แต่ว่าที่พบมากกว่าคือ เจ้าอัมพฤกษ์อัมพาตนี่แหละทำใกห้ารหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น สาเหตุจริงๆและจะเกิดขึ้นเมื่ออายุเท่าไหร่..ยังไม่ชัดเจนครับ
นอกจากนอนกรน มีอาการอย่างอื่นอีกไหม พบมากคือง่วงและหลับในเวลาที่ไม่ควรหลับ ตามเกณฑ์การคัดกรองที่เรียกว่า Epsworth Sleepiness Scale ได้แก่ นั่งอ่านหนังสือ, ดูทีวี, นั่งเฉยๆในที่พลุกพล่าน, เป็นผู้โดยสารรถ, เอนหลังพักตอนเที่ยง, นั่งคุยกันอยู่..แล้วหลับ!!, นั่งพักหลังกินข้าวเที่ยง, และ ขับรถอยู่ รถติดก็หลับ ระดับคะแนน 0-3 คะแนนตั้งแต่ 11 ก็จะเริ่มผิดปกติ ต้องไปตรวจร่างกายและทำการทดสอบการนอนหลับที่เรียกว่า polysomnography

การทำ polysomnogram นั้น จะให้ผู้ตรวจนอนให้ห้องสบายที่สุด แอร์เย็น เงียบ เตียงนอนนุ่มๆ บรรยากาศดี แต่...จะมีสายต่างๆติดอยู่นะครับ เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเคลื่อนที่ของทรวงอกเพื่อดูการหายใจ วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ท่านคงคิดว่า มันสบายจริงหรือเนี่ย เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงในขณะนอนหลับครับ ก็จะมีการวัดค่าหลายอย่าง เช่น จะดูว่าหยุดหายใจมากกว่า 10 วินาทีหรือไม่ หรือหายใจน้อยลงหรือไม่ และจะนับว่าหยุดหายใจรุนแรงถ้า เกิดเหตุการณ์หยุดหายใจหรือหายใจน้อยๆ มากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง

คิดดูคร่าวๆ สองนาทีเกิดหนึ่งครั้ง หยุดหายใจสะดุ้งเฮือก..คุณจะหลับสบายไหม คุณภาพชีวิตจะดีไหมล่ะ จึงต้องมีการรักษาเพื่อช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หลับสบายขึ้น กรนน้อยลง โรคความดันโลหิตไม่แย่ลง แต่ว่าจะช่วยเพิ่มประโยชน์ในโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่นั้น การศึกษาล่าสุดที่ลงใน SAVE trials เมื่อเดือนที่แล้วบอกว่า ไม่ได้ลดการเกิดโรคหัวใจ แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

การรักษาที่ใช้มากก็มีทั้งการผ่าตัด และการใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจเวลานอน ส่วนการใช้ยายังไม่ช่วยครับ เครื่องมือที่ใช้บ่อยคือ เครื่องช่วยหายใจตอนนอน เพิ่มแรงดันขณะหลับ เป็นเครื่องเป่าลมขนาดเท่า กล่องใส่ ipad สองกล่องซ้อนกัน มีสายต่อออกมา ปลายสายเป็นหน้ากากครอบอาจเป็นครอบปากหรือครอบจมูก ทำจากพลาสติกและซิลิโคนนิ่มๆ รัดกับศีรษะเวลานอนครับ ก็จะหลับสบาย
ไม่แนะนำให้ซื้อใช้เองนะครับ ต้องเข้ารับการตรวจและปรับเครื่องโดยแพทย์และทีมงานเป็นประจำครับ ปัจจุบันมีศูนย์การตรวจการนอนหลับมากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน สามารถเข้ารับการปรึกษาได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม