24 กรกฎาคม 2559

ก่อนการเดินทางท่องเที่ยว เราควรดูแลสุขภาพอย่างไร

ก่อนการเดินทางท่องเที่ยว เราควรดูแลสุขภาพอย่างไร

คำแนะนำรวบรวมมาจากวารสาร New England journal of Medicine เมื่อ 20/07/2016 และแนบตารางวัคซีน ตารางยามาเลเรีย และสรุปตารางแนะนำมาให้นะครับ

1.วัคซีน โดยทั่วไปเป็นวัคซีนที่ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แนะนำให้ฉีดอยู่แล้วนะครับ คำแนะนำให้ระมัดระวังการเดินทางเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการระบาดของโรค เช่นหัดเยอรมันระบาดในประเทศ B ก็ควรทราบข้อมูลพื้นฐานของเราเองว่าได้รับวัคซีนหรือยัง หรือถึงเวลากระตุ้นหรือยัง ก่อนจะเดินทาง

1.1 ไข้หวัดใหญ่ ควรต้องฉีดป้องกันนะครับ
1.2 ไทฟอยด์นั้น ทางสหรัฐเขาแนะนำให้ฉีดก่อนมาเที่ยวใน AEC บ้านเรา เราอาจต้องฉีดถ้าไปเขตร้อนอื่นๆเช่น เอเชียใต้ อเมริกาใต้
1.3 บางประเทศหรือบางโซนจะมีการระบาดเฉพาะ ก็ต้องศึกษาดูประเทศที่เราจะไป หรือบางทีเป็นกฎว่าต้องฉีดก่อนเข้าประเทศด้วย เช่นวัคซีนไข้เหลืองก่อนเข้าอเมริกาใต้ แอฟริกาเหนือ
1.4 วัคซีนอหิวาตกโรค เฉพาะบริเวณระบาด โดยเฉพาะท่านที่จะเข้าไปในบริเวณที่มีภัยธรรมชาติ อย่างเช่น อาสาสมัครต่างๆ
1.5 ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ยังมีโปลิโออยู่ครับ ควรรับวัคซีนกระตุ้น
1.6 วัคซีน meningococcemia ต้องฉีดก่อนไปทำพิธีฮัจญ์ ภายใน 3 ปีนะครับ

2.มาเลเรีย เข้าแดนระบาดมาเลเรีย ในป่า เข้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ควรเริ่มยาก่อนเข้าบริเวณระบาดอย่างน้อย สามสัปดาห์และกินต่อเนื่องจนกระทั่งออกมาจากแดนระบาดแล้วไปอีกอย่างน้อย 7 วัน และอาจต้องระมัดระวังต่อไปอีก 3 เดือน
และการป้องกันโรคจากแมลงอื่นๆ เช่น ซิกาไวรัส ไข้เลือดออก หรือแม้แต่มาเลเรียก็ตาม สิ่งสำคัญคือออย่าให้ยุงกัด ทั้งการใช้มุ้ง หรือสารเคมีป้องกันยุง
ตารางขนาดยา แนบมาให้แล้วครับ

3.ท้องเสีย traveler’s diarrhea เกิดได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกไปจนถึง 4-5 วันหลังกลับมาจากท่องเที่ยว สาเหตุส่วนมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และก็มักจะหายเองได้แค่พักผ่อนและดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย การใช้ยาฆ่าเชื้อ ciprofloxacin ขนาด 500 มิลลิกรัมครั้งเดียวจะช่วยลดระยะเวลาการป่วยได้ดี และในประเทศที่มีการดื้อยา ciprofloxacin แนะนำใช้ azithromycin ขนาด 1 กรัม ครั้งเดียว เช่นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ไม่แนะนำกินยาเพื่อป้องกันนะครับ

4.อาการป่วยจากความสูง หมายถึงพื้นที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเลมากๆครับ เช่นประเทศโบลิเวีย เปรู เอกวาดอร์ ตะเข็บฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และยอดเขาสูงในแอฟริกาเช่นแทนซาเนีย ถ้าไปในที่สูงอาจเกิดอาการวิงเวียนได้ รวมทั้งการขาดออกซิเจนด้วย
ถ้าไปในที่สูงมากกว่า 2800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลอาจใช้ยา acetazolamide 125 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง ก่อนไปที่สูง 24 ชั่วโมง และกินไปจนกว่าจะลงมาต่ำกว่า 2800 เมตร และถ้าจะไปสูงกว่า 3500 เมตร ให้รีบขึ้นรีบลงเพราะเสี่ยงจะขาดออกซิเจน เมื่อมีอาการหน้ามืด ออกซิเจนต่ำให้รีบดมออกซิเจนครับ

5.ลิ่มเลือดดำอุดตัน การเดินทางมากกว่า 2 ชั่วโมงที่ต้องนั่งนิ่งๆ เพิ่มโอกาสหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันเพิ่ม 18% และถ้าบินมากกว่า 6 ชั่วโมงก็จะเพิ่มโอกาสหลอดเลือดดำอุดตันที่ปอด ผู้ป่วยที่ทราบว่าตัวเองเสี่ยงสูง เช่นเคยเป็นมาก่อน ขาบวมบ่อยๆเวลาห้อยเท้า เป็นโรคทางพันธุกรรม ต้องดื่มน้ำมากๆ ขยับขาขณะอยู่บนเครื่องบินบ้าง (วิธีอยู่ในคำแนะนำที่เหน็บอยู่หน้าเก้าอี้ท่าน) หรือเสี่ยงมาก เดินทางนานอาจใช้ถุงเท้าเพิ่มแรงดัน เป็นถุงใส่ขาและมีลมอัดมาเพิ่มแรงดันที่ขาครับ หรืออาจฉีดยา low molecular weight heparin ก่อนบิน และอีกครั้งในอีก24 ชั่วโมงถัดไป

ที่ฮามากคือ เขาเขียนว่าการอัพเกรดไปนั่งชั้นหรูๆ ไม่พบว่าลดการเกิด แต่การนั่งใกล้ทางเดินจะช่วยได้มากกว่า น่าจะเกิดเพราะมีการยืดขาบ่อยกว่า เดินมากกว่า นั่งเฟิร์สคลาสแล้วขี้เกียจลุก แอร์สวย สจ๊วตหล่อ อะไรประมาณนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม