11 กรกฎาคม 2559

พิษแก๊สวีเอ็กซ์ และ สารฆ่าแมลง

ใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Rock บ้างครับ นำแสดงโดย นิโคลัส เคจ, ฌอน คอนเนรี่, เอ็ด แฮริส เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับกลุ่มทหารที่ใช้แก๊สพิษ VX มาเรียกค่าไถ่รัฐบาล มีอยู่ฉากหนึ่งที่พระเอกของเรา นิโคลัส เคจ ถูกพิษวีเอ็กซ์แก๊สแล้วหยิบอุปกรณ์เหมือนกระบอกยาวๆทิ่มไปที่หัวใจแล้วรอดจากแก๊สนี้มาได้ วันนี้เราจะมาเรียนอายุรศาสตร์จากภาพยนตร์ครับ (ปกติผมจะตั้งที่คนไข้ แต่คิดว่าทั้งชีวิตคงไม่มีวันพบผู้ป่วยโดนพิษ VX ) เรื่องราวจริงๆมันนิดเดียวนะครับแต่เมื่อมาอยู่ในเพจเราก็ต้องขยาย ให้ชัดให้เข้าใจ

    ท่านคงคิดว่าเรื่องพิษแบบวีเอ็กซ์นี้มันไกลตัว ความจริงคือไม่ใช่เลยลักษณะพิษของมันเหมือนกับการเกิดพิษจากสารฆ่าแมลงที่ใช้กันมากๆคือสาร organophosphate, organochlorine, carbamate  ที่เรายังพบได้บ่อยๆครับ เพียงแต่เจ้าวีเอ็กซ์แก๊ส และแก๊สที่เอามาทำเป็นอาวุธนั้นจะถูกปรับแต่งโครงสร้างเคมี ให้ฟุ้งกระจายได้เร็ว แทรกซึมเนื้อเยื่อได้ดี ออกฤทธิ์เร็วในหลักวินาที เพื่อใช้เป็นอาวุธอันตรายซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามเย็นโดยสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ความจริงแรกเริ่มเดิมทีนักเคมีชาวอังกฤษ Ranajit Ghosh ได้ทำมาเพื่อเป็นสารฆ่าแมลงจนเมื่อได้พัฒนาไปเป็นอาวุธที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ที่ชื่อ venomous agent X หรือ วีเอ็กซ์

   มีการใช้วีเอ็กซ์หลายครั้งในสงครามโดยเฉพาะบันทึกจากสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างอิรักและอิหร่าน โดยซัดดัม ฮุสเซน และนี่ก็เป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาของการมีอาวุธเคมีที่อเมริกายกเป็นเหตุ โจมตีอิรัก แต่นั่นไม่ได้ทำให้แก๊สพิษนี้โด่งดังเท่าการใช้แก๊สพิษต่อระบบประสาทแบบเดียวกับวีเอ็กซ์ คือ แก๊สพิษซารินที่เจ้าลัทธิโอมชินริเกียวใช้ทำร้ายคนในสถานีรถไฟญี่ปุ่นในปี 1994 และการใช้ในสงครามกลางเมืองซีเรียเมื่อสองปีก่อน นอกจากวีเอ็กซ์และซาริน ยังมี ทาปาน, ไซโคลซาริน อีกด้วย
   มันไปออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยตรง และเนื่องจากระบบประสาทนี้ควบคุมการทำงานของร่างกายทุกระบบ จึงกล่าวได้ว่าเมื่อสัมผัสกับแก๊สเหล่านี้มันจะยึดอำนาจร่างกายเราทันทีเลย  ปกติระบบประสาทเราจะสั่งการจากสมองหรือไขสันหลังโดยใช้กระแสไฟฟ้า แต่เมื่อไปถึงอวัยวะส่วนที่สั่งการไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน หรือต่อมต่างๆ สายไฟไม่ได้ไปต่อกับปลายทางนะครับ กลับมีช่องว่างเล็กๆอยู่ เรียกบริเวณนี้ว่า neuromuscular synapes ไฟฟ้าวิ่งผ่านไม่ได้จึงต้องอาศัยสารสื่อประสาท (neurotransmitter) สื่อจากปลายประสาทไปยังอวัยวะปลายทางคล้ายบุรษไปรษณีย์

   เมื่อสารสื่อประสาทที่ชื่อ acetylcholine ทำหน้าที่ของมันในการสื่อสารแล้ว จะมีหน่วยคอยทำลายเป็นเอนไซม์ที่ชื่อ Ach esterase ไม่งั้นอวัยวะปลายทางก็จะถูกกระตุ้นไม่เลิก การทำงานระหว่าง acethlcholine และตัวทำลาย acetylcholine จึงเป็นสมดุลของระบบประสาทที่ดี  แก๊สวีเอ็กซ์หรือสารฆ่าแมลงต่างๆจะไปยับยั้งเอนไซม์ acetylcholine esterase ทำให้อวัยวะส่วนปลายถูกกระตุ้นไม่หยุด เกิดเป็นผลเสีย เสียอย่างไรมาดูกันครับ
   สารคัดหลั่งต่างๆจะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมามหาศาลโดยที่คุมไม่อยู่ เกิดน้ำมูกน้ำลายมาก เสมหะมหาศาลจนขับออกไม่ทัน นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หายใจไม่ได้นะครับ ลำไส้เคลื่อนที่อย่างรุนแรงมีน้ำและสารคัดหลั่งมากทำให้ปวดรุนแรง ถ่ายเหลวไม่เลิก หลอดลมตีบรัดตลอดเวลา ม่านตาหดเกร็งตามสำนวนของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์แก๊สซาริน ใช้คำอธิบายว่า "the world going black"คือเมื่อหดเกร็งจะเห็นม่านตาเล็กเท่ารูเข็ม แสงผ่านยากจึงมืด

   กล้ามเนื้อจะกระตุกหรือหดเกร็งตลอดเพราะเจ้าสารสื่อประสาทจะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงาน กระตุ้นมากก็ทำงานมากเกินไปเกิดเกร็งมาก และบางส่วนก็หดเกร็งจนหมดพลังงานกลายเป็นอัมพาตไป ที่ทำให้เสียชีวิตคือกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน หายใจไม่ได้  และเมื่อเข้าสมองก็จะหมดสติ ชักเกร็ง และหยุดหายใจ

   ปัญหาคือวีเอ็กซ์และซาริน มันเข้าสู่เซลต่างๆและแพร่กระจายไปทั่วร่างกายเร็วมาก ในหลักไม่ถึงหนึ่งนาที ถ้าเป็นสารฆ่าแมลงตามครัวเรือนจะไม่มีสมบัติระเหยเร็วและแทรกซึมเร็วแบบนี้ จึงจะเป็นพิษจากการดื่มกินทางทางเดินอาหารมากกว่าจากการสูดดมครับ และต้องใช้ระดับสูงมากพอควรจึงเกิดพิษ ใช้เวลานานกว่าประมาณ 20-30 นาที   ต่างจากแก๊สอาวุธเคมีที่ใช้ความเข้มข้นไม่มากแต่แพร่อย่างเร็วมาก ค่า LD50 คือค่าเฉลี่ยที่จะเกิดพิษอยู่ที่ 10 มิลลิกรัม ขณะที่ต้องฉีดยาบ้าเข้าทางหลอดเลือดตั้ง 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม คิดคร่าวๆที่คนหนักห้าสิบกิโลกรัม ก็ขนาด 1000 mg หมายถึงเจ้าอาวุธแก๊สเหล่านี้ใช้ความเข้มเล็กน้อยก็แสนจะอันตรายครับ

  ที่แย่กว่านั้นสารพิษ organophosphate นี้นอกจากจะออกฤทธิ์เร็วแรง ออกฤทธิ์ทันทียังมีบางส่วนแทรกตัวในเนื้อเยื่อไขมันและในเม็ดเลือดแดง เมื่อระดับพิษอิสระในเลือดตกลงมา สารสะสมจะออกมาโจมตีร่างกายอีกระลอกหนึ่งอีก เรียกว่ารอดครั้งแรกยังมีดาบสองสังหารซ้ำอีก
ตอนต่อไปจะกล่าวถึงว่า มันน่ากลัวขนาดนี้ แล้วเราจัดการมันอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม