14 กรกฎาคม 2559

ปฏิกิริยาจากการให้เลือด

เลือด..การปลูกถ่ายอวัยวะที่เกิดบ่อยที่สุด มีการให้เลือดกันวันละหลายพันยูนิทในแต่ละวัน มีการเชิญชวนบริจาคเลือด เมื่อผู้ที่ต้องการเลือดได้รับเลือดก็จะดีใจมาก เพราะปัจจุบันเลือดหายากและมีคนบริจาคน้อยลงทุกทีๆ แต่ว่าการให้เลือดมันก็มีโอกาสเกิดผลเสีย ผลข้างเคียงเช่นกัน มาดูกันนะครับว่าเกิดอะไรได้บ้าง เราจะได้ใช้เลือดกันอย่างเหมาะสม เพราะมันมีความเสี่ยงและหายาก บทความนี้ใช้ได้กับทุกคน ผมปรับเนื้อหาให้ง่ายๆครับ

    เม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic tranfusion reaction) อันนี้เป็นผลที่อันตรายมาก มีทั้งแตกทันทีเฉียบพลันและมาแตกภายหลัง สาเหตุส่วนมากเกิดจากการให้เลือดไม่ตรงหมู่เลือด บางทีเห็นว่าเลือดที่แขวนอยู่หมู่เดียวกับเรา แต่ยังมีหมู่เลือดอื่นๆ ที่ธนาคารเลือดต้องตรวจสอบอีกหลายหมู่นะครับเช่น duffy, kell ไม่ใช่แค่ ABO ที่เรารู้จักกันครับ แต่ว่าสาเหตุที่พบมากสุดจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบถุงเลือด คนไข้ ว่าตรงกันหรือไม่ ปิดฉลากผิด เจาะเลือดผิด พวกนี้มากกว่า ในโรงพยาบาลที่มีการพัฒนางานคุณภาพจะมีขั้นตอนการตรวจที่เข้มงวดมาก ลดโอกาสพลาดได้
  เมื่อเกิดเหตุเฉียบพลันก็จะไข้ หนาวทันที อาจมีปัสสาวะดำ เจาะเลือดแล้วซีดลงไปอีก ต้องรับหยุดเลือดแล้วทำการจองใหม่ แต่ว่าบางทีปฏิกิริยาก็ไม่ได้รุนแรงรวดเร็วมาก อาจเกิดช้าๆในรูปแบบ ปัสสาวะดำ ซีดลง หัวใจวาย การแข็งตัวเลือดผิดปกติ จึงจะจำเป็นต้องมีการติดตามผู้ป่วยหลังให้เลือดทุกราย  การรักษาจะเป็นการประคับประคองเป็นหลักครับ

ปฏิกิริยาภูมิแพ้ เนื่องจากเลือดที่เราได้รับมาจากคนอื่น หรือบางทีผลิตภัณฑ์บางอย่างเช่นเกล็ดเลือดมาจากผู้บริจาคหลายๆคนก็อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ได้เสมอ ไม่ว่าจะคัดกรองดีอย่างไรก็ตาม อย่างแรกก็ต้องแยกหมู่เลือดผิดข้างต้นไปก่อน ถ้าหมู่เลือดถูกต้องก็ยังเกิดแพ้ได้จากเม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือด หรือพลาสมาที่ติดมาจากผู้บริจาค

  พวกไม่รุนแรงเช่นหนาวๆสั่นๆ เลือดไม่แตก (non hemolytic transfusion reaction) ให้ยาแก้แพ้ลดไข้ก็มักจะดีขึ้นได้ และถ้ามีประวัติเป็นบ่อยๆก็ต้องให้ยาแก้แพ้และลดไข้ก่อนให้เลือดครั้งต่อไปและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ
เลือดที่กรองเอาเม็ดเลือดขาวออกมากๆ บางทีก็อาจแพ้รุนแรงถึงความดันตก หลอดลมตีบ หัวใจวายได้เหมือนแพ้อาหารแพ้ยารุนแรงครับ (anaphylactic reaction)

  หรืออาจเกิดเป็นระบบการหายใจล้มเหลว มีสารน้ำทะลักไปอยู่ในหลอดลม จากปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาว (transfusion related lung injuries)   การแพ้บางทีเกิดจากเกล็ดเลือดที่อาจติดไปกับถุงเม็ดเลือดแดง หรือจากการให้เกล็ดเลือดโดยตรง ทำให้เกิดการต้านเกล็ดเลือด (post transfusion purpura)  ทำลายทั้งเกล็ดเลือดที่เข้ามาใหม่และของเดิม ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ มีจ้ำเลือด เลือดออกได้ การรักษาอาจต้องให้สารต้านภูมิคุ้มกัน IVIG หรือถ่ายเลือด

  ปัญหาจากการมีสารน้ำเกิน เนื่องจากเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือด จะเป็นสารที่เรียกว่า colloid คือสามารถอุ้มน้ำไว้ไนเลือดได้ดีกว่าน้ำเกลือ ถ้าให้มากไปหรือผู้ป่วยนั้นการบีบตัวหัวใจไม่ดีอยู่แล้วก็จะเกิดน้ำเกิน หัวใจวายได้ มักจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีภาวะไตไม่ดี หัวใจไม่แข็งแรงอยู่เดิม ให้เลือดมากไปอาจอันตรายได้ ต้องควบคุมใกล้ชิด

    นอกจากนั้นการให้เลือดมากๆ ก็อาจทำให้โปตัสเซียมในเลือดสูงขึ้น เพราะเลือดที่มากๆหรือทิ้งไว้นานเม็ดเลือดเริ่มสลาย สารโปตัสเซียมก็ออกมามาก ได้รับโปตัสเซียมมากๆ หัวใจจะทำงานผิดจังหวะครับ   การให้เลือดมากๆเร็วๆก็ต้องอุ่นเลือดก่อน ไม่งั้นจะหนาวสั่นได้

   การให้เลือด โดยเฉพาะให้เม็ดเลือดแดงอย่างเดียวมากๆ สัดส่วนของน้ำเลือดที่มีสารแข็งตัวเลือดจะดูลดลง สัดส่วนเกล็ดเลือดจะลดลง อาจมีการแข็งตัวเลือดลดลง เกิดเลือดออกง่าย แต่ไม่ต้องให้พลาสมาหรือเกล็ดเลือดไปแก้ไขนะครับ จะให้แก้ไขเมื่อเกิดเลือดออกเท่านั้น

   การให้เลือดมากๆ โดยเฉพาะเท่าๆกับปริมาณเลือดเดิมที่มีในร่างกาย 70 ซีซีต่อนน.ตัวหนึ่งกิโลกรัมในผู้ใหญ่ อาจทำให้มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เพราะสารซิเตรตที่ใช้เก็บรักษาเลือดในถุงเข้าไปในร่างกายมากเกิน ซิเตรตจะไปจับเป็นสารประกอบกับแคลเซียมในเลือด แคลเซียมอิสระในเลือดที่ใช้งานได้จึงลดลง  การให้แคลเซียมทางหลอดเลือดเสริมก่อนจะมีอาการยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ถ้ามีอาการจากแคลเซียมต่ำเช่น เกร็ง กระตุก ต้องเสริมแคลเซียมนะครับ

  ปัญหาการติดเชื้อ แม้เทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อจากเลือดผู้บริจาคจะดีมากแต่ก็ยังมีโอกาสได้นะครับ สำหรับ HIV, ตับอักเสบ, HTLV, CMV พวกไวรัสพวกนี้อาจยังเล็ดลอดมาได้ แต่โอกาสก็น้อยๆๆมาก ถูกรางวัลที่หนึ่งสองรอบจะง่ายกว่าครับ  การติดเชื้ออีกอย่างคือ บางครั้งการเก็บเลือดไม่ได้อุณหภูมิ หรือแขวนไว้นานเกิน ก็จะมีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมาจะเจริญเติบโตจนเป็นปัญหาได้ เชื้อที่เป็นปัญหาบ่อยๆคือ Pseudomonas และ Staphylococcus เมื่อติดเชื้อจริงนี่คือการติดเชื้อในกระแสเลือดชัดเจน ต้องให้การรักษาและยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมครับ

  เห็นไหมครับ ผมว่าย่อๆย่อยๆ ยังเยอะอย่างยิ่งยวด เราควรให้เลือดให้เหมาะสมนะครับ
ข้อมูลมาจาก คู่มือการใช้โลหิตและส่วนประกอบโลหิตอย่างเหมาะสม ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม