08 เมษายน 2559

คดีทางการแพทย์

สวัสดีวันศุกร์ครับ จริงๆแล้วผมไม่อยากยุ่งหรือชี้นำเรื่องแบบนี้เท่าไร คดีความเป็นเรื่องของ 2 คนและพยานแวดล้อมที่ไม่มีคดีไหนเหมือนกัน ในฐานะหมอที่เรียนกฎหมาย ไม่ใช่นิติเวช แต่เป็น นิติอายุรศาสตร์ ขอมองกลางๆแบบนี้
ผมตัดความรู้สึกของอายุรแพทย์ เพื่อนแพทย์ ผู้เสียหาย และ นิติศาสตร์บัณฑิต ออกไป มองแบบ realistic

ผมมองว่าไม่มีใครผิดครับ การมองการคิดขึ้นกับบทบาทของแต่ละบุคคล ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ลองไปหาหนังเรื่อง อุโมงค์ผาเมือง ดูนะครับจะเข้าใจคดีนี้เลย ความจริงอันหนึ่งเดียวแต่ถูกมองด้วยคนที่ต่างออกไป ย่อมได้เรื่องราวหลากหลาย แต่ก่อนก็เคยคิดว่าการตัดสินคดีทำไมขัดกับความรู้สึกเรา พอมาเรียนวิธีพิจารณาความอาญาจึงได้เข้าใจว่า เจตนารมณ์กฎหมายไม่ได้ "หา" คนผิด แต่เพื่อลงโทษคนผิด ซึ่งการพิจารณาความทางกฎหมายก็อาศัยข้อกฎหมายมาประกอบเหตุการณ์จริง เหมือนการวินิจฉัยทางการแพทย์เลย เป็นเหตุผลและมีการทบทวนกลับว่า ข้อเท็จจริงทางกฎหมายเข้าได้หรืออธิบายเหตุการณ์ได้หรือไม่ คล้ายกับหมอที่สรุปโรคจากประวัติ ตรวจร่างกาย ผลตรวจพิเศษ และคิดกลับว่า โรคที่คิดมันอธิบายเหตุที่เกิดได้หรือไม่ ถ้าอธิบายได้ไม่หมดจะมีการวินิจฉัยแยกโรคหรือเปล่า
โดยผู้พิพากษาพิจารณาจากหลักฐานในคดีครับ โดยผ่านขั้นสอบสวน อัยการ พยานผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน แล้วเอาข้อเท็จจริงมาคิด เหมือนกับเราไปทำข้อสอบนะครับ เราไม่สามารถไปซักประวัติเองได้ ก็ต้องอาศัยข้อมูลที่มีให้มากที่สุด หลายๆฎีกาที่ผมอ่านสอบ ก็ต้องใช้หลักกฎหมายเป็นสิบๆในการวินิจฉัยอรรถคดีเช่นกัน และส่วนมากการพิพากษาจะเป็นเหตุเป็นผลมากๆ แต่เป็นเหตุผลนี่คือ ยึดตามตัวบทกฎหมายนะครับ ไม่ใช่จาก realistic เพราะท่านไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริงขณะนั้น

ส่วนหมอก็ใช้วิธีคิดเดียวกัน เก็บข้อมูลจากประวัติ ตรวจร่างกาย ผลแล็ป แล้วเอามาประมวลความคิดเป็นการวินิจฉัยและการรักษา ข้อต่างที่สำคัญ และ ผมคิดว่าที่คือ True Gap ที่แท้จริง คือ หมอรักษาคนไข้เป็น realtime นะครับ อาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ "เป็นพลวัติ" ไม่ได้เกิดแล้วเกิดเลย มองย้อนหลังได้แค่ส่วนเดียวต้องมองติดตามไปข้างหน้าด้วย และเราใช้ "การดำเนินโรค" มาช่วยในการวินิจฉัยด้วย ไม่ใช่ว่า ข้อมูลออกมาเป็นโรคนี้โดยอาจจะเป็นโรคอื่นๆตามลำดับความเป็นไปได้อีก3โรค เมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลมากขึ้น อาการหรืออาการแสดงอื่นๆ ผลการตรวจเพิ่มขึ้น ไอ้โรคลำดับรองอาจแซงมาเป็นอันดับหนึ่งได้ นี่คือ วิทยาศาสตร์ ที่เปลี่ยนแปลงตามสิ่งพบใหม่ๆได้

โรคต่างๆไม่ได้มีอาการพร้อมๆกันตามตำราครับ การพิพากษาคดีใช้หลักการเช่นกันกับการวินิจฉัยและรักษา มองความจริงเดียวกัน แต่การพิพากษาคิดจากเหตุการณ์ที่จบไปแล้วและมีหลักฐานครบถ้วน มีการสรุปที่แข็งแรง

แต่การรักษา มองไปข้างหน้าเก็บข้อมูลทีละขั้น ตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่ครบ แต่ก็รอไม่ได้ไม่งั้นการเกิดอันตรายได้ และกว่าจะได้ครบเหมือนการพิจารณาคดี เราก็จะมองได้เฉกเช่นอัยการ ผู้พิพากษาเช่นกัน แต่เราต้อง " พลวัติ" หรือ dynamics ตามอาการและข้อมูลที่เปลี่ยน ยิ่งหมอแต่ละคน คนละเวลาไม่ต้องพูดกันเลย เห็นข้อมูลที่ต่างกันมาก จะเห็นและทำเหมือนกันได้อย่างไร
เขียนมาเสียยาว ไม่ได้ชี้ ใครถูกใครผิด แต่จะชี้ "ช่องว่าง" ที่เกิดขึ้นทำให้ "มุมมอง" ต่างกัน สุดท้ายผลที่เกิดก็จะ "ต่างกัน"

ผมเชียร์ ศาลพิเศษพิจารณาคดีวิชาชีพครับ ไม่ใช่แค่หมอ รวมถึงพยาบาล เภสัช วิศวกร สถาปนิก ที่ต้องมีผู้ชำนาญการที่ตรวจสอบได้ มีวาระ ไม่ผูกขาด และ ควรมาจากการเลือกตั้ง ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม