18 เมษายน 2559

แนวคิดใหม่ในการรักษาไขมัน

แนวคิดใหม่ในการรักษาไขมัน

ถ้าใครตามเพจ Thai heart หรือ 1412 cardiology พบว่าช่วงนี้ได้ลงบทความเกี่ยวกับการรักษาไขมันในเลือด และกำลังจะมีแนวทางใหม่จากทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา สำหรับการรักษาไขมันในเลือดนั้นผมเคยเขียนไปหลายครั้ง เนื่องจากตั้งแต่ปี 2013 มีการเปลี่ยนแปลงการรักษาระดับหน้ามือหลังมือออกมาจากอเมริกา หลังจากนั้น สมาคมวิชาชีพทั้งยุโรปและอเมริกาก็ได้ปรับปรุงเรื่อยมา จน ณ วันนี้ ปี 2016 ข้อมูลแห่งการรักษา การศึกษา ได้สรุปออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน ผมต้องขอกล่าวก่อนนะครับว่า ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลทั้งการศึกษาเล็ก การศึกษาใหญ่ การศึกษาแบบทดลองในคนที่คุณภาพสูง การรวบรวมการศึกษาแบบมีหลักเกณฑ์หลักการ ผ่านการถกเถียงปรับปรุงและสรุปไปในแนวทางเดียวกันทั้งโลก
สำหรับหมอตัวเล็กๆอย่างผมนั้น ได้อ่านทบทวนอย่างมีสติแล้วเกือบทุกๆอัน พบว่ามีประโยชน์จริงครับถึงแม้ว่าฐานะทางการเงินของไทยเราจะยังไม่ดีเท่าเขา แต่ถ้าเทียบการตรวจและการใช้ยาแล้วนั้น คุ้มกว่าการต้องมาเจ็บปวดล้มตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกมาก
เรื่องเนื้อหานั้น เชิงลึก-- อ.1412 เขียนให้เราอ่านหมดแล้ว ผมขอสรุปไม่กี่ข้อ ให้ชาวบ้านเราๆได้ตามทันครับ

1. ประเด็นนี้สำคัญ เราใช้ยาลดไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค และลดอัตราตายจากโรค ไม่ได้ใช้เพื่อลดระดับไขมันอีกต่อไป คิดคล้ายๆกับการฉีดวัคซีนนั่นแหละครับ เพียงแต่ต้องกินยาทุกวัน

2. ต้องกินทุกคนไหม -- เราให้กินเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงครับ เนื่องจากการลดความเสี่ยง เราจะลดกันตลอดไป กินยาตลอดถ้าทนยาได้ -- การเฟ้นหาคนที่กินยาจึงมีความสำคัญมาก ไม่ใช้แค่ผลเลือดอย่างเดียว ต้องมาเข้าสมการและใช้ปัจจัยแห่งความเสี่ยงอื่นๆมาคำนวนด้วย

3. คำนวนอย่างไร -- จริงๆแล้วมีเครื่องคำนวนมากมาย แนะนำให้ใช้ Thai CV Risk Score ที่เป็นแอปพลิเคชั่นสำเร็จบนแอนดรอยด์และไอโอเอส ที่มาจากข้อมูลการศึกษาของคนไทย ซึ่งอัตราการเกิดไม่สูงเท่าต่างชาติ (อนาคตไม่แน่) จากการศึกษา RAMA-EGAT หรือจะใช้เครื่องคำนวน ASCVD risk estimator, Framingham Risk Score ที่มีแอปในมือถือก็ได้ครับ ลองดาวน์โหลดแล้วกดเล่นดูก่อน

4. ถ้าไม่เสี่ยง -- ความเสี่ยงท่านเพิ่มขึ้นตามอายุ ความดัน น้ำตาล ระดับไขมัน ทุกอย่างเป็นพลวัติ ควรมีการติดตามป้องกันสม่ำเสมอครับ รวมทั้งควบคุมสุขภาพตัวเองไปพร้อมๆกัน การควบคุมอาหารและออกกำลังกายจะควบคุมไขมันในเลือดได้แค่บางส่วน ไม่ถึง 20% เพราะส่วนมากที่เป็นปัญหา เกิดจากการสังเคราะห์ไขมันที่ผิดปกติในร่างกายครับ แต่ว่าการออกกำลังและควบคุมอาหารก็ต้องทำควบคู่กับการกินยาไปตลอดครับ

5. ถ้าเป็นโรคอยู่แล้วล่ะ-- เส้นเลือดตีบ อัมพาต อย่างนี้ไม่ต้องคำนวณความเสี่ยงครับ กินเลยตลอดชีวิต

6. ถ้าต้องกินยา -- กินแล้วไม่เป็นจริงหรือ เราแค่ลดปัจจัยเสี่ยงไม่กี่อย่างจากการกินยา แต่ก็ช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้ชัดเจน ในการศึกษาทดลองเขาจะควบคุมปัจจัยต่างๆมากมาย ซึ่งในชีวิตจริงไม่มีใครมาคุมเราเลย ผลการป้องกันที่ได้คงไม่สูงเท่าในการทดลองครับ การไม่เกิดโรคต้องควบคุมหลายๆอย่างด้วยกัน

7. หยุดยาได้ไหม -- ไม่แนะนำครับ เราไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนที่บอกว่า ลดไปถึงเท่าไหร่แล้วความเสี่ยงจะลดลง เกือบ 90% บอกว่ากินยาแล้วอัตราการเกิดโรค อัตราการตายลดลง แต่ไม่ได้บอกว่า ลดลงต่ำเท่าไหร่จึงจะหยุดยา ถ้าเมื่อเริ่มยาแล้วไม่ควรหยุดยาถ้าไม่เกิดผลเสีย ไม่ว่าผลทางสุขภาพหรือการเงิน ถ้าหยุด ความเสี่ยงจะเพิ่มครับ

8. กินตลอด ไม่ตายจากยาหรือ -- ยาเกิดผลเสียได้ แต่ระดับที่เล็กน้อย เทียบประโยชน์จากยาแล้วคุ้มกว่ามาก ที่กลัวว่าตับพังนั้น จริงแล้วเกิดน้อยและมักมีเหตุอื่นด้วย การทำงานของตับอาจผิดปกติเล็กน้อยแค่ชั่วคราว ที่พบแล้วเป็นปัญหาคือกล้ามเนื้อถูกทำลาย และเพิ่มโอกาสการเกิดเบาหวาน แต่ปัญหาสองข้อนี้ไม่มากนะครับและถ้าประเมินก่อนกินและมีการติดตามการรักษาก็ไม่ต้องกังวล ผมยังไม่เห็นแนวทางของไทย แต่คิดว่ามีเรื่องนี้แน่ๆ

9. เปลืองตังค์ -- คิดเรื่องความคุ้มค่าแล้วคุ้มมากถ้าเสี่ยงครับ และปัจจุบันก็มียาหลายตัวที่หมดสิทธิบัตร หรือ มี ยาสามัญออกมาที่ประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยไปกว่ายาต้นฉบับเลยครับ จริงอยู่ว่าการศึกษาที่ออกมาทั้งหลายทำในช่วงที่ยามีสิทธิบัตรและมีผลประโยชน์ ผมสนใจเรื่องนี้ด้วยแต่ก็พบว่า ยาทุกตัวที่ทำการศึกษาออกมาได้ประโยชน์พอๆกัน ใครใคร่เลือกตัวใด อ้างอิงการศึกษาใด ไม่แตกต่างกันมากนักครับ อายุรแพทย์จะเลือกและคุยกับท่านเกี่ยวกับยาที่ดีที่สุด ของท่าน

10. หมอตกหลุมการศึกษาของต่างชาติ นโยบายขายยา ประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า -- ตัวผมเองและบรรดาแพทย์เฉพาะทาง ด้านจรรยาบรรณ เราตระหนักข้อนี้ดีครับ เราใช้ความรู้และการค้นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน และกล่าวได้ว่า ทำเพื่อคนไข้ล้วนๆครับ ไม่มีอคติหรือเอนเอียงใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าเข้าข้างเขาหรือเข้าข้างคุณ

ผมคิดว่า 10 ข้อนี้ น่าจะให้ท่านได้มีมุมมองใหม่ เกี่ยวกับการลดอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดโดยการใช้ยาลดไขมันได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม