24 เมษายน 2559

ทำอย่างไรให้จบบอร์ด

ทำอย่างไรให้จบบอร์ด

มีแฟนเพจรายหนึ่ง ส่งข้อความมาเมื่อวาน...กำลังเรียนอายุรศาสตร์ อยากรู้ทริกการเรียน...คิดในใจว่าน้องเอ๊ย..พี่มันแค่ผู้ชาย C+ ถ้าแนะนำน้องเกรงว่าน้องจะได้ไปทัวร์สนามสอบหลายปีติดกันแน่ๆ เอาเป็นว่าผมมาเล่าถึงชีวิตการเรียนแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์และสิ่งที่ผมคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ได้เป็น..#ที่หนึ่งบอร์ด

ก่อนอื่น เผื่อผู้ฟังทุกคนก่อน หลังจากเรียนแพทย์จบหกปีและได้ไปเพิ่มพูนทักษะ เรียนรู้ของจริง และเรียนรู้ใจตัวเองว่าชอบอะไร หมอๆทั้งหลายบางส่วนก็เลือกทางเดินชีวิตเข้ามาเรียนต่อ บางส่วนก็ทำงานต่อ บางส่วนเข้าสายบริหาร บางส่วนไปเล่นหุ้น ขายที่ แต่ในส่วนที่จะมาเรียนต่อนั้น เราจะมาเรียน ประกาศนียบัตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ชั้นสูง...เป็นประกาศนียบัตรนะครับ ไม่ใช่ปริญญาบัตร นั่นคือ ยังไม่ได้ขยับวุฒิแต่อย่างใด เรียกกันทั่วๆไปว่าเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ก็แล้วแต่ชอบครับ และก็ควรจะชอบจริงๆเพราะจะต้องอยู่กับวิชานั้นๆไปตลอดชีวิต และบางสาขายังต้องต่อยอดไปอีก อย่างเช่นการเรียนอายุรศาสตร์ เมื่อจบแพทย์ เข้ามาต่อเป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์แล้ว บางท่านก็ต่อยอดไปอีก เช่น อายุรศาสตร์สาขาเวชบำบัดวิกฤต หรือสาขาอื่น เช่น กุมารเวชศาสตร์แล้วเรียนต่อไปอีกเป็นกุมารเวชศาสตร์สาขาโรคภูมิแพ้เป็นต้น

ตั้งแต่เข้าสมัคร ก็จะเลือกที่ๆชอบของตนเอง เช่นใกล้บ้าน ใกล้แฟน ชื่อเสียงดัง อยากเป็นอาจารย์ต่อที่นี่ ก็แล้วแต่เหตุผล ปัจจุบันนี้ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และแพทยสภา ได้ทำการจัดสรรและคัดเลือก เพื่อกระจายแพทย์และการเรียนให้เหมาะสม แต่ว่าการเรียนระดับจะไปเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น ไม่ใช่การเรียนแบบชั้นมัธยมหรือแบบเรียนแพทย์อีกแล้ว การเรียนหลักๆจะเป็นการเรียนด้วยตัวเอง โดยมีทรัพยากรคือ ผู้ป่วย รุ่นพี่ อาจารย์ ที่จะช่วยเราเรียนได้ #ย้ำนะครับ เรียนด้วยตัวเอง หมอบางคนคาดหวังเลอเลิศกับโรงเรียนแพทย์ชั้นเลิศ ถ้าไม่ขยันและเรียนไม่เป็น ก็สอบตกนะครับ
ก่อนจะไปต่อ ผมอยากเรียนแพทย์ประจำบ้านว่า เรซิเดนท์ หรือ เด้นท์ มาจาก resident ที่หมายถึง อยู่ประจำถิ่นนั่นๆ ก็คือ คุณหมอจะต้องใช้ชีวิต 90% อยู่ที่สถาบันฝึกหัด ทำทุกอย่างเป็นด่านหน้า อีก 5% ไปฝึกที่สถาบันสมทบ อีก 3% เอาไว้กลับบ้านไปหาพ่อแม่ อีก 2% ค่อยไปวี้ดว้ายที่พารากอนนะครับ

เด้นท์หนึ่ง หน้าที่หลักๆคือดูผู้ป่วยประจำวอร์ด ดูทุกอย่างตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามานอน ยันออกจากโรงพยาบาล ทุกปัญหา โอกาสนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้ปัญหาทางอายุรศาสตร์ และวิธีแก้ปัญหา หรือเรียกกันเท่ๆ ว่า วิธีการ APPROACH ปัญหา เพราะว่าผู้ป่วยอายุรกรรมหนึ่งรายที่มานอน จะมีสารพัดปัญหา เด้นท์หนึ่งจะต้องฝึกการใช้ทักษะการแปลอาการ อาการแสดง ผลการตรวจต่างๆออกมาเป็นโรค เป็นปัญหา และวิธีคิดในการแก้ไข...วิธีคิดนะครับ ผมยกตัวอย่าง ผู้ป่วยมาแอดมิทเพราะเป็นอัมพาตเฉียบพลัน เด้นท์หนึ่งจะคิดว่า เป็นอัมพาตจากเส้นเลือดเส้นไหน เข้าได้กับอาการหรือเปล่า เป็นหลอดเลือดตีบหรือแตก จะแยกอย่างไร อ้าว มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย เอ..จากกราฟไฟฟ้าหัวใจนี้มันเป็นแบบไหน จะแยกอย่างไร สัมพันธ์กับอัมพาตหรือไม่ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยลึกลงไปเช่น ถ้าจะต้องให้ยากันเลือดแข็งต้องใช้ตัวใด มีประโยชน์ต่างกันเชิงประจักษ์มากน้อยแค่ไหน และถ้าจะป้องกันการเกิดซ้ำด้วยยาลดไขมันต้องใช้ไปถึงเมื่อไร อ้างอิงจากแนวทางหรือการศึกษาใด รายละเอียดพวกนี้ไปเก็บตอน เด้นท์สอง
และการออกตรวจผู้ป่วยนอก เพื่อเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะยาวให้จบจะได้เรียนรู้ว่าเมื่อรักษาไปแล้วมันจะเกิดปัญหาอะไรอีก และมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร หรือผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อเรียนรู้ตั่งแต่แรกก่อนที่จะมาอยู่ที่วอร์ดเรา และถ้าเราจัดการได้ดีตั้งแต่ต้นคนไข้ก็จะดี
แนะนำอ่าน Harrison ในพาร์ท อาการและอาการแสดงเลยครับ ทั้งส่วนแรก และส่วนต้นของแต่ละระบบอวัยวะ เขียนแผนภูมิ อ่านและวิเคราะห์ผู้ป่วยทุกปัญหา ทำบ่อยๆทุกวัน จบเด๊นท์หนึ่ง ผมว่าชนปัญหาอายุรกรรมได้ทุกอย่าง

เด้นท์สอง คราวนี้จะแยกเรียนตามหน่วยย่อยต่างๆของอายุรศาสตร์ เช่น เวชบำบัดวิกฤต 1 เดือน ทางเดินอาหาร 1 เดือน โรคข้อ 1 เดือน..จนครบ เพื่อลงลึกในรายละเอียดของแต่ละสาขา ฝึกทำหัตถการ หรือดูให้เป็นแนวทาง เช่น การเจาะข้อ การส่องกล้องทางเดินอาหาร การใส่อุปกรณ์กระตุ้นหัวใจชั่วคราว ศึกษาวิธีการรักษาทั้งวิธีหลัก วิธีรอง ในแต่ละเดือนที่ผ่านสาขาวิชานั้น ก็จะไปดูผู้ป่วยที่ได้รับการปรึกษาหน่วยย่อยตามวอร์ด ออกตรวจผู้ป่วยนอกกับอาจารย์ในสาขานั้นกับคลีนิกเฉพาะสาขา ที่จะได้พบผู้ป่วยโรคนั้นๆ ปริมาณมาก เรียนกับอาจารย์ผู้เชียวชาญ ฝึกให้คำปรึกษาผู้ป่วยต่างแผนกหรือช่วยให้คำปรึกษาที่เด้นท์หนึ่งปรึกษา
เนื่องจากหน่วยมันเยอะมากครับ บางทีก็ต้องไปผ่านเก็บตกตอนเป็นเด้นท์สาม ตอนนี้เรายังสามารถเลือกไป เรียน อีเล็คทีฟ เลือกไปเรียนหน่วยต่างๆที่เราสนใจกับโรงเรียนแพทย์อื่นๆ ดูว่าที่อื่นๆเขาทำอย่างไร มีอะไรแตกต่างกันบ้าง เพื่อได้เรียนรู้ว่าในแต่ละที่ที่มีทรัพยากรต่างกัน สถานการณ์ผู้ป่วยต่างๆกัน เขาทำกันอย่างไร ไปเรียนแนวคิดกับอาจารย์สถาบันอื่นๆ ไปรู้จักเพื่อนๆเด้นท์ต่างๆที่ ซึ่งอนาคตเราก็จะมาเป็นอายุรแพทย์เหมือนๆกัน
ตอนนี้ผมแนะนำให้อ่าน Harrison ในแต่ละระบบอวัยวะที่ตัวผ่าน --และต้องอ่านให้จบนะครับ-- เสริมด้วยหนังสือตำราหลักของสาขาวิชานั้นๆประกอบกันด้วย อ่านวารสารเกี่ยวกับเรื่องของหน่วยที่ตัวเองได้ผ่าน สอบถามพี่เฟลโลว และอาจารย์ให้มากๆ ดูวีดีโอ หรือ อ่านสไลด์วิชาการของแต่ละหน่วยให้มากๆ ลงลึกๆช่วงนี้งานประจำจะลดลง ให้เริ่มทำสมุดบันทึกเพื่อเตรียมสอบ เพราะสิ้นการเรียนเด๊นท์สอง ต้องสอบข้อเขียนเกี่ยวกับวิชาอายุรศาสตร์ทั้งหมด
เรียนคนเดียวจะรอดยากครับ แนะนำจับกลุ่มแบ่งกันติว ถ้าอธิบายให้คนอื่นเขาใจได้แสดงว่าเราต้องเข้าใจมากๆ ฝึกทำข้อสอบ ใน MKSAP อย่าไปคิดว่านี่เป็นระดับเรซิเดนท์ นี่เป็นระดับแพทย์ต่อยอด เรียนให้รู้มากที่สุดครับ บางครั้งคุณหมออาจไม่ได้กลับมาสัมผัสงานหน่วยนั้นอีกเลย เช่นอายุรแพทย์โรคข้อ ก็จะไม่ค่อยได้มาเจาะไทรอยด์ หรือ อายุรแพทย์โรคไต อาจจะไม่ได้เข้าห้องสวนหัวใจอีกเลย เมื่อมีโอกาสก็เก็บเกี่ยวให้มากสุดครับ

เด๊นท์สาม งานหลักคือ เอาความรู้ ประสบการณ์ทั้งสองปีมาดูแลผู้ป่วยใน เป็นหัวหน้าผู้ดูแลในวอร์ด ตัดสินใจการรักษาที่ซับซ้อน เป็นที่ปรึกษาของเด้นท์หนึ่ง ถ้ามีข้อสงสัยมากๆจึงปรึกษาอาจารย์ ร่วมอภิปรายปัญหากับอาจารย์ นอกจากนี้จะเริ่มถูกปล่อยเดี่ยว ในการรักษาคนไข้นอก เป็นผู้ตัดสินใจการรับรักษาใน รพ. การรับปรึกษาต่างแผนก ซึ่งจะมีอาจารย์คอยช่วยครับ จะเห็นว่าเป็นการเอาความรู้มาบูรณาการรักษาเสมือนเป็นอายุรแพทย์จริง
ต้องทบทวน โน้ตที่เราทำมา ตอนนี้ต้องอ่าน Harrison จนจบแล้ว อาจใช้ตำราพวก Board Review มาช่วยทบทวน เช้าประชุมวิชาการประจำปี และมักจะมีติวสอบของราชวิทยาลัย และสมาคมต่างๆ ต้องไปนะครับ ถ้าติดเวรก็ต้องสลับกันไปแล้วมาสรุปให้คนที่ไม่ไปฟังด้วย
พยายามอภิปรายปัญหาเวลาตรวจข้างเตียง สอนน้องๆให้ได้ เพราะถ้าสอนได้แสดงว่าเราต้องเข้าใจดีในระดับดีมาก เวลาทีกิจกรรมวิชาการให้เข้าไปโชว์ "discuss" คือถกเถียง เราจะได้รู้ว่าเรารู้และไม่รู้อะไร มีอาจารย์คอยสอนและติติง เวลาจบไปแล้ว ไม่มีคนมาคอยสอนแล้วนะครับ

ปีนี้ต้องสอบสองรอบ กลางปีและปลายปี เนื้อหาสอบจะคล้ายๆกัน คือสอบอ่านค่า แปลผลแล็บ เอ็กซเรย์ เป็นแล็บกริ๊ง คือมีเวลาทำสอบ สองถึงสามนาทีแล้วกริ๊ง ไปข้อถัดไป และต้องสอบ short case คือให้เข้าซักประวัติหรือตรวจร่างกายผู้ป่วยจริง แค่ 2-3 นาที แล้วให้มาบรรยายและสรุปโรค จะเป็นการตรวจหรือถามอาการแค่จุดๆหนึ่งที่ชัดเจน และใช้รักษาโรคได้เลยเช่น ดูผิวหนังแล้ววินิจฉัย ฟังหัวใจแล้วบอกว่าเป็นอะไร ให้โชว์การตรวจร่างกายโรคปอดโรคนี้ เป็นต้น
และสอบที่ถือว่ายากมาก คือการสอบ long case ยากนี่คือไม่ใช่ว่าอาจารย์เอาโรคยากๆมาสอบ แต่ว่าภายใต้แรงกดดันและเวลาจำกัด คุณหมอจะสามารถ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย คิดวิเคราะห์ สั่งการตรวจพิเศษ แปลผล และให้การรักษา แนะนำผู้ป่วยให้ครบถ้วน ทำได้ไหม ครบถ้วนไหม ถูกต้องไหม ภายใต้สายตากรรมการคุมสอบสองท่าน และสอบถึงสองราย ต่อครั้ง กับคนไข้จริงตั้งแต่เริ่มแนะนำตัวจนจบการรักษา

ยังไม่นับที่จะต้องทำงานวิจัย หนึ่งเรื่อง ต้องทำการทบทวนวารสารที่ตีพิมพ์ใหม่มาหัดวิเคราะห์และนำเสนออาจารย์ การฝึกเรียน case conference คือเอากรณีศึกษาที่น่าสนใจมานำเสนอและอภิปราย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องทำอย่างน้อยก็สัปดาห์จะ 2-3 ครั้งสลับๆกันไปในกลุ่มเรซิเดนท์ ทั้งๆที่งานประจำก็แสนเหนื่อยอยู่แล้ว

เห็นไหมครับกว่าจะจบออกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ มันไม่ง่ายเลย อย่าลืมสมดุลชีวิตในอีก 10% ที่เหลือด้วยนะครับ

ภาพจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม