พยาธิไชผิวหนัง...ฟังชื่อก็ไม่น่าอ่านแล้วแต่ก็ยังพบได้และจะยังคงพบต่อไปครับ เพราะเรายังอยู่กับสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของเราไปอีกนานครับ ความจริงแล้วผมเองก็ไม่ได้พบโรคนี้นานมากแล้ว จนเมื่อไม่กี่ชั่วโมงนี้ วารสาร NEJM ฉบับสัปดาห์นี้ลงภาพ cutaneous larvae migrans น่าสนใจครับ
โรคนี้เกิดจากตัวอ่อนระยะ larvae ของโรคพยาธิตัวกลมโดยเฉพาะพยาธิปากขอ ที่อยู่ตามดินทราย แหล่งน้ำตามธรรมชาติ มันมาเกาะที่ผิวหนังของเราแล้วชอนไชเข้าสู่ผิวหนัง และเลื้อยไปเรื่อยๆตามผิวหนัง เส้นทางที่มันผ่านก็จะเห็นรอยแดงเป็นเส้นยึกยือผ่านไปช้ดเจน คันมากๆ ข้อสำคัญที่เราจะวินิจฉัยได้คือมันขยับได้#...ผื่นอะไรขยับได้ ก็ผื่นเจ้านี่และครับ
อ้าว..แล้วมาได้อย่างไร ก็ปนเปื้อนมากับอุจจาระคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นสุนัข แมว ที่อยู่ตามที่ต่างๆครับ จริงๆแล้วต้องให้รางวัลกับผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ป้องกันนะครับ มันคือ รองเท้า ในต่างประเทศตามชายหาดที่นักท่องเที่ยวมากๆจะห้ามสัตว์เลี้ยงเข้า เพื่อป้องกันโรคนี้ครับ
แล้วมันไม่ไชทะลุทะลวงทั้งตัวหรือ...ไม่ครับ ชั้นผิวหนังกำพร้าของเราจะมีชั้นล่างสุด (basement membrane) และเจ้าพยาธินี้มันไม่มีเอนไซม์ คอลลาจีเนส ที่จะไปทำลายชั้นนี้ได้ พยาธิจึงวนเวียนอยู่แค่ผิวหนังชั้นนอกครับ ผู้ป่วยส่วนมากจะคันและมีรอยโรคที่ชัดเจน บางรายมีรายงานผลเลือดผิดปกติ eosiophillia ได้ครับ
ถ้าพบแล้วก็รักษาง่ายครับ ผ่าตัดเอาตัวมันออก อาจต้องตัดกว้างหน่อยนึงนะครับ สมัยก่อนมีการใช้สเปรย์แช่แข็งแต่ไม่ค่อยสำเร็จนัก ร่วมกับการใช้ยาฆ่าพยาธิตัวกลม thiabendazole ตัวนี้ผลข้างเคียงน้อย และมีแบบทาที่ผิวในกรณีมีผลข้างเคียงมากจากการใช้ยากิน
ปัจจุบันเรามียาที่มีประสิทธิภาพระดับใกล้ๆ 100% คือยา albendazole แต่ใช้ขนาดสูงสามวัน และที่ข้อมูลปัจจุบันดีสุดคือยา ivermectin ครับ
ที่มาครับ
Clin Infect Dis. (2000) 30 (5): 811-814
NEJM 2016;374 images in clinical medicine
symposium International gnathostomatosis 3rd
prof.Kasumi Ogata
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น