12 มีนาคม 2566

จูเซ็ปเป้ บร็อตซู ผู้ให้กำเนิด cephalosporins

 ถึงเวลานำเที่ยวกันอีกแล้ว กับสายการบินลุงหมอแอร์กี่ ไปชงกาแฟอุ่น ๆ กับปิ้งขนมปังร้อนแล้วมาย้อนอดีตกันเลยครับ

เราไปที่อิตาลี ช่วงจบสงครามโลกครั้งที่สอง
อิตาลีเป็นประเทศในกลุ่มอักษะร่วมกับเยอรมัน บัลแกเรีย ญี่ปุ่น ในสงครามโลกและแพ้สงคราม แตกต่างจากนาซีตรงที่อิตาลีไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความเป็นชาตินิยมและการหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะกลับมายิ่งใหญ่ เทียบไม่ได้กับนาซี เพียงแต่เวลานั้นความบอบช้ำของอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และการล่มสลายของรัสเซีย ทำให้อิตาลีคิดจะยิ่งใหญ่แทนมหาอำนาจเดิม จึงเลือกหนทางสายกำปั้นและเหล็ก
ประชาชนในอิตาลี แว่นแคว้นต่าง ๆ ไม่ได้เห็นด้วยกับเบนิโต มุสโสลินี ไปเสียทุกแคว้น รวมทั้งกำลังแสนยานุภาพของอิตาลี ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เมื่อมีสงครามโลกครั้งที่สอง อิตาลีจึงล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับประชาทัณฑ์ของมุสโสลินี
แต่ถึงอย่างไรความเสียหายของประเทศอิตาลีก็หนักหน่วง ประชาชนเดือดร้อน สิ่งจำเป็นมีค่าสิ่งกว่าสิ่งเติมเต็ม
ที่แคว้นซาดิเนีย จุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมดิเตอเรเนียน เป็นฐานทัพสำคัญของอักษะ และแม้แต่สงครามจบก็ยังเป็นฐานทัพสำคัญของนาโต แน่นอนความเสียหายยับเยิน และหลังสงครามประชาชนต่างช่วยกันฟื้นฟูประเทศ นั่นรวมถึงคุณหมอ จูเซ็ปเป้ บร็อตซู เภสัชกรผู้วิจัยโรคติดเชื้อมากมายในอิตาลี
ปี 1945 คุณบร็อตซูไปพักผ่อนที่เมืองกายารี่ ทางตอนใต้ของเกาะซาดิเนีย ขณะที่นั่งทอดอารมณ์อยู่นั้น เขาก็เห็นจุดบอดแห่งการพัฒนาเมืองที่กำลังโต คือ ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ทิ้งลงแหล่งน้ำ คุณบร็อตซูรู้ดีว่าภาวะหลังสงคราม ไม่มีการบำบัดใด ๆ ทิ้งน้ำเสียที่อุดมไปด้วยเชื้อโรคโดยเฉพาะซัลมอนแนลล่า เชื้อโรคที่ตายยากและก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขมากมาย เขาถอนหายใจและกังขากับภาพที่เห็น
ทำไมน้ำเสียเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากมายขนาดนี้ จึงไม่สามารถทำอันตรายคนที่มาพักผ่อนเล่นน้ำที่ชายหาดเมืองกายารี่ได้ล่ะ ที่นี่มีอะไร
คุณบร็อตซูเป็นขาลุย ทำวิจัยมาสารพัดทั้งซัลโมเนลล่า มาเลเรีย อหิวาตกโรค ตีพิมพ์พอสมควรในวารสารเล็ก ๆ ของอิตาลี ซึ่งไม่ได้รับความใส่ใจจากคนทั้งโลก เพราะนี่คือประเทศแพ้สงคราม เขาก็ไม่ยอมแพ้ ลงลุยไปเก็บตัวอย่างน้ำและสิ่งแวดล้อมแถวนั้นมาวิเคราะห์ ด้วยความคิดที่ว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างขัดขวางการเติบโตของแบคทีเรีย
ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น
อิทธิพลจากทีมวิจัยออกซฟอร์ดและอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ที่ให้กำเนิดยาปฏิชีวนะจากเชื้อรา Penicilium notatum อาวุธอันทรงพลานุภาพที่พลิกสงคราม เพราะช่วยทหารสัมพันธมิตรไม่ให้ตายจากโรคภัยและบาดแผลจากสงคราม
บร็อตซู นำเอาตัวอย่างจากแห่งน้ำแถวนั้นมาเพาะเชื้อ ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างตั้งใจ จนได้พบเชื้อราชนิดหนึ่ง มีสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายแบคทีเรีย แม้แต่แบคทีเรียที่เริ่มจะดื้อยาเพนิซิลิน และยับยั้งเชื้อไทฟอยด์ได้เบ็ดเสร็จ นั่นคือการค้นพบ เชื้อรา Cephalosporium acremonium
ภาวะหลังสงครามทำให้อิตาลีเข้าตาจน เศรษฐกิจพังทลาย ในโลกวิชาการไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ จากผู้ชนะสงคราม คุณบร็อตซูทำการคัดสรรพันธุ์และสกัดเชื้อราให้บริสุทธิ์ที่สุด เลือกจะทดลองในคนโดยฉีดเข้าฝีหนอง ปรากฏว่าฝีหนองนั้นยุบลง ทำให้บร็อตซูย่ามใจ คราวนี้เขาทำการทดลองในโรคที่เขารู้จักดีที่สุด..โรคไทฟอยด์
ปรากฏว่าผู้ป่วยโรคไทฟอยด์เกิดปฏิกิริยารุนแรงมาก แม้สุดท้ายคนไข้จะหายจากไทฟอยด์ แต่ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์นั้น ยากที่จะยอมรับ บร็อตซูเกิดปัญหา เขาไม่สามารถสร้างเชื้อราให้กลายเป็นยาที่ใช้ได้จริงเหมือนเพนิซิลิน และเขาก็หมดทุนทรัพย์แล้วด้วย บริษัทยาในอิตาลีเจอผลการทดลองแบบนี้ก็ส่ายหน้า ไม่ให้ความสนับสนุนใด ๆ
เขาตัดสินใจตีพิมพ์การศึกษาของเขาใน Lavori dell' Instituto d'Igiene di Cagliari เป็นบทความเล็ก ๆ เพียงสี่หน้า เรื่อง Research on New Antibiotics แน่นอนเป็นภาษาอิตาเลียน มีคนอ่านไม่กี่คน และไม่สามารถดึงความสนใจชาวโลกได้เลย แล้วเขาทำอย่างไรดี
เขาเลือกเครือข่ายเพื่อนของเขาที่อังกฤษ ที่สามารถนำส่งวารสารของเขาให้กับ the medical research council of London และสุดท้ายงานของเขาไปดึงความสนใจกับ Sir Howard Florey หัวหน้าทีมพัฒนาเพนนิซิลิน ที่ช่วยผลักดันงานของคุณหมอบร็อตซู ทั้งเชื้อราตัวใหม่และงานวิจัยของเขาแต่เดิม ให้มีชื่อเสียงและเริ่มเป็นที่น่าสนใจในแง่การวิจัยและการค้า และบริษัทยา เพราะใช้เพนนิซิลินจนเริ่มดื้อยา และยังไม่สามารถหายาตัวใหม่มาจัดการเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะเชื้อไทฟอยด์ (salmonella) ได้ดีเลย และงานของคุณบร็อตซู นักวิจัยเล็ก ๆ งานเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่แต่ไร้คนสนใจเพราะมาจากวารสารไม่ดัง ประเทศที่ล่มสลายและแพ้สงคราม ทุนทรัพย์งานวิจัยจำกัดมาก เพชรในตมไร้ค่าแต่เมื่อไปอยู่ในมือนักเจียรนัยมือทอง มันเปลี่ยนไป
ใช่ทั้งที่เป็นงานวิจัยเดียวกัน ผู้วิจัยเดียวกัน แต่อยู่ต่างที่ ต่างเวลา งานวิจัยของเขาดังมาก จนบริษัทยาอเมริกันนำไปผลิตเป็นยา ออกเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในปี 1949 สี่ปีหลังจากการสังเกตท่อน้ำเสียนั้น พัฒนาไปเป็น cephalosporin P. ที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียกรัมบวก cephalosporin N. ที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียกรัมลบ ก่อนจะมีการจัดหมู่ยาเซฟาโลสปอรินใหม่เป็นรุ่น ๆ รุ่น 1-5 ในทุกวันนี้
แล้วบร็อตซูล่ะ
หลังจากทำชื่อเสียงและได้เข้าสู่โลกวิชาการสักพัก ในปี 1971 เขากลับไปพัฒนาซาร์ดิเนียและกายารี่ ถิ่นเดิมของเขา แต่ไม่ใช่ในแง่เภสัชกรหรือนักวิจัยสาธารณสุข จุเซ็ปเป้ บร็อตซู กลับไปในฐานะนักการเมือง ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี และพัฒนาเมืองกายารี่จนก้าวหน้า เป็นเมืองตากอากาศชั้นนำของอิตาลี บร็อตซูเสียชีวิตลงในปี 1976 พร้อมชื่อเสียงในวงการที่ดังไม่แพ้อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง กับชายผู้ไม่ยอมแพ้กับการค้นพบยา cephalosporins
หวังว่าทุกท่านคงได้รับความสำราญในการเดินทาง กรุณาปรับที่นั่งให้อยู่ในระดับตรง เก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง เปิดหน้าต่าง แล้วอย่าลืมเอาแก้วกาแฟและจานใส่ขนมปังปิ้งไปล้างนะครับ เดี๋ยวแฟนคุณจะด่าเอาได้นะ
สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม