08 มีนาคม 2566

ประเด็นร้อน : อาหารคีโต เพิ่มโรคหัวใจ จริงหรือ

 ประเด็นร้อน : อาหารคีโต เพิ่มโรคหัวใจ จริงหรือ?

ข่าวดังพอสมควรกับการนำเสนองานวิจัยในการประชุมวิชาการแพทย์โรคหัวใจอเมริกาตอนนี้ นักวิจัยจากแคนาดา Lilia Latan ที่ผมไปสืบค้นดู เขาศึกษาเรื่องของเมตาบอลิซึมของไขมันมามากพอควร เขานำเสนอในงานประชุมว่าชนิดอาหารที่จำกัดคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มไขมัน ที่เขาใช้ศัพท์ว่า “keto-liked” เพิ่มระดับแอลดีแอล เพิ่ม apoB และมีการเกิดโรคหัวใจมากกว่ากลุ่มที่กินอาหารปกติ อย่างมีนัยสำคัญ
ออกตัวก่อนว่าไม่ได้อ่านฉบับเต็มของเขานะครับ คร่าว ๆ คือ เขานำข้อมูลจาก UK biobank เป็นองค์กรการเก็บข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่มากของอังกฤษ ทำเพื่อวางแผนสาธารณสุขระยะยาวของเขา เก็บตัวชี้วัดเกือบทุกมิติแม้แต่ตัวอย่างรหัสพันธุกรรม เผื่อใครจะเอาไปใช้ต่อไป
เขาคัดข้อมูลคนที่กินคีโตมาได้ 305 คนที่มีข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและคำนวณได้ นำมาเปรียบเทียบกับคนที่กินอาหารปกติ ที่มีเพศ วัย ภาวะสุขภาพใกล้เคียงกัน 1220 เป็นกลุ่มควบคุม
ระยะเวลาติดตามของข้อมูลที่ 11 ปี พบว่า LDL กลุ่มคีโตที่ 147 เทียบกลับกลุ่มควบคุม 141 ระดับ apoB 109 เทียบกับ 104 ตัวเลขดิบต่างกันไม่มาก แต่เมื่อเอาไปคำนวณแล้วมีนัยสำคัญทางสถิติ เอาล่ะ ระดับไขมันนี้เป็นเพียงตัวชี้วัดขั้นกลาง (surrogate endpoints) เราลองไปดูโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดกัน
อัตราการเกิดโรคหัวใจของกลุ่มควบคุมอยู่ที่ 4.3% ส่วนกลุ่มกินคีโตอยู่ที่ 9.8% ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่แค่นั้นเพื่อลดคำถามที่ว่าสองกลุ่มที่มาเปรียบเทียบไม่เท่ากัน เขาได้ใช้วิธีทางสถิติปรับให้เท่ากัน ก็พบว่าความแตกต่างนี้ ยังมีนัยสำคัญอยู่ดี
แล้วยังไงดี ก่อนหน้านี้มีหลายการศึกษาออกมาว่า ก็ไม่เปลี่ยนระดับไขมันนะ อัตราการเสียชีวิตก็ดูไม่เพิ่มขึ้นเสียหน่อย ทำไมการศึกษานี้ออกมาแบบนี้ หรือจะพูดให้ถูกคือ ทำไมการศึกษาต่าง ๆ ผลจึงออกมาแปรปรวนขนาดนี้
อันนี้ผมวิเคราะห์ส่วนตัวนะ
คำว่า keto-liked มันกว้างมาก แค่บอกว่าโลว์คาร์บไฮแฟต ไม่ได้ระบุสัดส่วนที่ชัด และสัดส่วนของคีโตของแต่ละคนแต่ละการศึกษาก็ต่างกัน
ข้อมูลไม่ได้ออกแบบมาเฉพาะเจาะจงเพื่อตอบคำถามวิจัย เป็นการไปคร้อปข้อมูลเล็กจากข้อมูลใหญ่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ควรจะเป็น แถมในการศึกษานี้คร้อปพบไบแอสอีกด้วยคือ คนที่กินคีโตมีน้ำหนักมากกว่า นั่นคือ เขาอาจตั้งใจกินเพื่อลดน้ำหนัก เมื่อเริ่มต้นที่กลุ่มนึงน้ำหนักมาก อาจมีโรคมากกว่า กลุ่มนึงน้ำหนักปกติ จะมาบอกว่าสองกลุ่มเท่ากัน ไม่เท่ากัน ก็ต้องไว้หูสักหน่อย
เหมือนการศึกษาส่วนมากเรื่องอาหาร ที่ไม่ได้ควบคุมแบบ RCTs คือใช้แบบสอบถามและความจำของอาสาสมัคร ต้องจะวังจำไม่ได้หรือผิดเพี้ยน recall bias คนที่การศึกษานี้คัดมาคือ เคยกินคีโต ผมก็ไม่เห็นข้อมูลว่ากินครั้งเดียว กินต่อเนื่อง กินเคร่งครัด เพียงใด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการวิจัยเสียด้วย
ยังคงต้องไปดูรายละเอียดว่าจัดกลุ่มย่อยคิดตามความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดด้วย นำเสนอตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียด
Steven Nissen (มาประชุมและนำเสนอเปเปอร์ด้วย เดินอยู่แถวนั้นพอดี) เมสซี่แห่งโลกวิจัยไขมันบอกว่า ประเด็นสำคัญคือ กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่ต่างกันมาก และกลุ่มกินคีโต เป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดโรคเยอะกว่าจากข้อมูลที่แสดง โดยเฉพาะน้ำหนักตัวที่มากกว่า (ไม่งั้นคงไม่มีกินคีโต) จึงทำให้ผลออกมา ยังต้องคิดต่อไปก่อน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ให้ความเห็นว่า การศึกษานี้บอกว่า คนที่กินคีโตแล้วเกิดปัญหามันก็มีนะ ไม่ได้ปลอดภัยไปทั้งหมด และน่าจะจุดประกายความคิดที่จะศึกษาแบบ controlled trial ที่ควบคุมตัวแปรต่าง ๆ และวัดผลตรง ๆ ที่แม่นยำกว่านี้ ซึ่งเคยมีการศึกษาแบบนี้ก่อนหน้านี้แล้ว อาหารโรคหัวใจ อาหารโรคไต อาหารเมดิเตอเรเนียน ที่รับรองกันทั้งหลายก็ผ่านการวิจัยแบบ RCTs มาแล้ว
สรุปว่า จะกินอาหารสูตรไหน ขอให้ศึกษาให้ดี เหมาะกับเราไหม ติดตามอย่างไร ข้อดีข้อเสียอะไร ที่สำคัญจะให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ ต้องกินต่อเนื่องนานพอนะครับ จะมากินเดือนสองเดือนแล้วบ่นว่าล้มเหลวไม่ได้นะครับ
ข้อมูลจาก medscape และ twitter ของ ACC ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม