01 กุมภาพันธ์ 2566

OSA รักษาอย่างไรบ้าง

 OSA รักษาอย่างไรบ้าง

ทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (obtructive sleep apnea) เป็นโรคที่จะพบมากขึ้น ๆ เพราะเราอ้วนมากขึ้น เพราะเราคิดถึงโรคมากขึ้น เพราะเราเข้าถึงการวินิจฉัยมากขึ้น
การรักษาจะมีประโยชน์มากและลดอันตรายจากโรคได้ดี ถ้าเป็นกลุ่มมีอาการของโรค ส่วนกลุ่มที่ไม่มีอาการผลการรักษาไม่ชัดเจนนักครับ
ประการแรกต้องทำเสมอ คือ การลดน้ำหนัก อันนี้ส่งผลดีต่อโรคนี้และโรคอื่น ๆ ด้วย ไม่มีขีดจำกัดว่าต้องลดเท่าไร แต่ผลการศึกษาออกมาว่า ลดได้มากอาการยิ่งดี
ประการที่สอง การจัดท่านอน ผลการศึกษาท่านอนหลายแบบนั้น ออกมาต่างกันมาก บางตำราให้นอนคว่ำ บางตำราว่านอนยกหัวสูง บางการศึกษาให้นอนหงาย ประเด็นคือ ในการศึกษาจะมีการใช้หมอนหรือเครื่องนอนบังคับท่า ชีวิตจริงใครจะมาบังคับ สรุปว่ายังไม่มีท่ามาตรฐานสำหรับ OSA นะครับ
ประการที่สาม ออกกำลังกาย พบเหมือนลดน้ำหนัก ออกกำลังกายมาก (ความแรงหรือเวลา) ยิ่งได้ประโยชน์ ลดความรุนแรงลงได้ 30-60% เน้นที่แอโรบิก และประโยชน์จากการออกกำลังกายไม่ขึ้นกับน้ำหนักลด ออกปุ๊บได้ปั๊บไม่ต้องรอให้ นน. ลด
การรักษาทั้งสามทางเลือก
ทางเลือกแรก ให้เลือกทางนี้ก่อน ข้อมูลหนักแน่น ประสิทธิภาพดี ไม่รุกล้ำ คือใช้เครื่องมือ มีสองแบบ แบบแรกคือ อัดลมคอยค้ำยันทางเดินหายใจ (positive airway pressure) ใส่ตอนนอน อย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมงและอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ลดอาการลงได้เกือบ 90% อันตรายอื่น ๆ จาก OSA ก็ลดลงด้วย ประโยชน์จะมากน้อย ขึ้นกับใช้อุปกรณ์สม่ำเสมอและมีการปรับแต่งประจำ (เดี๋ยวนี้มี AI ช่วย)
แบบที่สองคืออุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจเชิงกล ช่วยยกและค้ำยันเนื้อเยื่ออ่อนในลำคอ เรียกว่า mandibular reposition device ใช้ได้ดีในกรณีโรค OSA ไม่รุนแรงและไม่สามารถใช้ PAP ได้ ลดอาการได้น้อยกว่า PAP
ทางเลือกที่สอง เมื่อใช้เครื่องมือไม่ได้ให้ทำการผ่าตัดแก้ไข คือ ยกเครื่องกระดูกกราม ฟัน ตัดต่อคอหอยลิ้นไก่ วางโครงสร้างใหม่ ไม่ให้อุดตัน ประสิทธิภาพการรักษาสูง แต่ผลข้างเคียงมีมาก และการศึกษาส่วนมากไม่ได้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ (มันเทียบยาก) ใช้เมื่อมีข้อห้ามการใช้อุปกรณ์ชั่วคราวเท่านั้น ลดอาการได้ 70-80%
ทางเลือกที่สาม การใส่อุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่สิบสอง (hypoglossal nerve stimulation) เพื่อส่งสัญญาณกระตุ้นให้ลิ้นไม่ตกไปอุด โดยทำงานร่วมกับตัวตรวจจับการหายใจที่หน้าอก ยุ่งยากกว่า ราคาแพง และมักจะทำให้ลิ้นทำงานผิดปกติหรือบาดเจ็บ ลดอาการได้ 55-60%
การใช้ยา การใช้ออกซิเจน ..เอาไว้เป็นทางเลือกหลัง ๆ เลยครับ เพราะข้อมูลการรักษาไม่ชัดเจน ประสิทธิภาพก็ไม่ดีนัก ส่วนการเจาะคอ..ไม่คุ้มค่าครับ มีวิธีที่ดีกว่ามากในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม