12 กุมภาพันธ์ 2566

"มาขอซื้อใบรับรองแพทย์ย้อนหลัง ราคาเท่าไร"

 


"มาขอซื้อใบรับรองแพทย์ย้อนหลัง ราคาเท่าไร"
ผมอึ้งไปสักพักจากคำถามนี้ การเปิดคลินิกส่วนตัวทำให้เจอคำถามนี้ ทั้งชีวิตปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และรับปรึกษา จึงไม่เคยเจอ มีคนไข้ถามแบบนี้ แสดงว่ายังมีกิจกรรมแบบนี้อยู่ ทำได้ไหม
เอาสถานการณ์สมมตินี้นะครับ ท้องเสียรุนแรงอ่อนเพลียมากในวันที่ 11 กพ นอนพักอยู่บ้าน ตอนเย็นอาการดีขึ้น เช้าวันที่ 12 อาการปกติดี แต่ต้องการใบรับรองแพทย์ว่าป่วยและหยุดงานในวันที่ 11
ถามว่าออกให้ได้ไหม … ถ้าคุณไม่เคยไปตรวจกับคุณหมอเลย อยู่ ๆ มาขอย้อนหลังแบบนี้ การที่ไปรับรองว่าคุณป่วยก็แสดงว่าการรับรองนั้นเป็นเท็จ (ถึงคุณจะป่วยจริง หยุดจริงก็ตาม) แม้เอกสารจะถูกต้อง แต่เจตนาคนเขียนและคนนำไปใช้เป็นเจตนาทุจริต เรียกว่าครบองค์ประกอบภายในของกฎหมายอาญา
และการออกเอกสารเท็จและเจตนาใช้เอกสารที่รู้ว่าเท็จ คือเอาไปใช้จริง และการเอาไปใช้ส่งผลเสียต่อบุคคลอื่นเช่น นายจ้าง หรือคู่กรณีใด ๆ จะครบองค์ประกอบภายนอก
ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269 ส่วนคุณหมอจะผิดข้อบังคับแพทยสภา เพิกถอนใบอนุญาตนะครับ
แต่ถ้าเคยมาตรวจในวันที่ 11 แล้ว … จะสามารถรับรองได้ว่า มาตรวจจริงเมื่อ 11 กพ มีอาการใด โรคใด ใช้เวลารักษาหรือสมควรหยุดกี่วัน สามารถทำได้ ถึงแม้จะมาขอในวันที่ 12 กพ ก็ตาม และถึงวันที่ 12 กพ จะหายดีแล้วก็ตาม
อย่าไปปรับ แปลง เพิ่ม ปลอมข้อความในเอกสารนะครับ ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264
แล้วถ้าวันที่ 11 ป่วยหนักไม่มีใครพามาหาหมอ แล้วเพิ่งมาตรวจวันนี้ล่ะ จะทำอย่างไร ก็ป่วยหนักจริง ไม่ได้โกหก (เอาเป็นว่าหนักจริงนะครับ) จะทำไง เดี๋ยวเจ้านายไม่เชื่อ
ให้ทำแบบนี้ คุณก็ต้องไปตรวจในวันที่ 12 เล่าอาการให้หมอฟัง แล้วคุณหมอก็จะเขียนว่าคุณมาตรวจวันที่ 12 นั่นแหละ และจะบันทึกว่าผู้ป่วยให้ประวัติว่า ป่วยตั้งแต่วันที่ 11 แต่จะไม่แนะนำให้เขียนเชิงสมมติฐานว่า ป่วยจริง ไม่น่าจะไปทำงานได้ ต้องหยุด ถ้านายจ้างหรือบุคคลที่สามต้องการทราบ เขาจะส่งจดหมายมาถามเอง ตอนนั้นคุณหมอจึงให้ความเห็นไป จะเป็นเอกสารประกัน หรือ เอกสารความเห็นจากศาล
ใบรับรองแพทย์ที่ออกอย่างถูกต้อง มีชื่อสถานที่ออกเอกสาร วันเวลา ชื่อผู้ป่วย ชื่อแพทย์ผู้ตรวจและลงนามกำกับ ถือเป็น "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญาครับ
ผมก็อธิบายว่าผมจะออกเอกสารได้แบบใด คนไข้แสดงสีหน้าผิดหวัง กล่าวคำขอบคุณและสวัสดี หวังว่าเขาคงเข้าใจและยอมรับกฎหมาย
หากเป็นแบบนั้น ก็ถือว่าได้รักษาคนอีกหนึ่งคน ไม่ให้หลงผิดและรับโทษอาญา
May be an image of text

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม