18 กุมภาพันธ์ 2566

การปรับวิธีรักษาให้เข้ากับวิถีชีวิต

 หลายสิ่งอาจไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ดีที่สุด (gold standard) แต่พอปรับได้ เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น เข้าสู่การรักษาได้มากขึ้นเพราะเข้ากับวิถีชีวิต โดยไม่ได้ทำให้ผลการรักษาย่อหย่อนกว่าเดิมนัก ผมยกตัวอย่างโรคที่พบบ่อย ๆ และมีผู้ป่วยจำนวนมาก

1. การกินยาลดไขมัน ยาที่ออกฤทธิ์นานเช่น atorvastatin rosuvastatin จะกินตอนไหนของวันก็ได้ ไม่ต้องกินก่อนนอน จัดพร้อมยาตัวอื่นได้ ส่วน simvastatin ตามปกติควรกินมื้อเย็น แต่บางคนลืมบ่อย หรือไม่มียามื้อเย็น ยาก่อนนอน อาจคุยกับหมอปรับมากินช่วงใดของวัน จะสะดวกขึ้นและไม่ด้อยกว่าเดิมมากนัก
2. การลดเค็มในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูง จากการกำหนด 2200 มิลลิกรัมต่อวัน อาจจะทำได้ยากมาก เพราะอาหารยุคนี้เค็มมาก คำแนะนำการไม่ใส่เครื่องปรุงรสเพิ่มไปจากเดิม หรือหากทำอาหารเองให้ลดเครื่องปรุง เกลือที่อยู่ในอาหารก็เพียงพอแล้ว และลดอาหารแปรรูปต่าง ๆ ลง ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิบัติตัวที่ไม่ยากเกินไป
3. การตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาหลายโรคในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร หลายคนต้องงดอาหารไปตรวจตอนเช้า จะเป็นเรื่องลำบากของเขา เช่นการตรวจติดตามไขมันในเลือด ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร (ยกเว้นค่าสูงมาก คุณหมออาจให้งดอาหารมาตรวจซ้ำ) การตรวจติดตามเบาหวานโดยใช้ค่า HbA1c ที่แม้ราคาจะสูงกว่า แต่สะดวกกว่ามากและสัมพันธ์กับผลแทรกซ้อนของโรคอีกด้วย
4. เวลาที่ผู้ป่วยต้องกินยาจำนวนมาก หลายโรค หลายหมอ ให้เอายาทั้งหมดมาตรวจสอบกับคุณหมอและเภสัชกร ว่ามียาใดซ้ำกันไหม ยุบรวมกันได้ไหม สามารถจัดยารวมกันไม่กี่มื้อได้ไหม หลายครั้งกินยาต่อเนื่องกันโดยไม่ได้เอาออกเมื่อไม่จำเป็นแล้ว และยาหลายตัวสามารถรวบกินวันละไม่กี่ครั้งและพร้อมกัน โดยไม่ได้ทำให้ประสิทธิผลลดลงเลย หรือจะใช้ยาเม็ดรวมก็จะสะดวกขึ้น หลายการศึกษาออกมาแล้วว่า ประสิทธิผลก็พอกัน แต่ประสิทธิภาพ คือ ความสะดวกต่างกันเยอะเลย
5. ยาสูดพ่นรักษาโรคหืดหรือถุงลมโป่งพอง จำเป็นต้องสูดต่อเนื่องทุกวัน ให้ปรับการใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นวันละครั้ง ปรับมาใช้ตอนตื่นนอน สูดพ่นแล้วไปล้างหน้าแปรงฟัน เป็นการทำความสะอาดช่องปากหลังสูดยา เข้ากับกิจกกรมที่เราต้องทำทุกวันอยู่แล้ว ชีวิตน่าจะง่ายขึ้น
บางที เราแค่ปรับการรักษาให้เข้ากับชีวิตประจำวันของคนไข้ และบางทีหากคนไข้ปรับชีวิตประจำวันให้การรักษาสะดวกขึ้น โรคที่รักษายาก ควบคุมยาก อาจจะเป็นเพียงปัญหาเส้นผมบังภูเขาได้ครับ เพียงหมอกับคนไข้หรือทีมการรักษามาคุยกันและปรับกัน สุขภาพคนไข้จะดี และงานคุณหมอจะเบาลงแน่นอน
ใครมีเทคนิคใด ๆ อีกบ้างครับ มาแบ่งปันกันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม