21 กุมภาพันธ์ 2566

Cortisone the story

 Cortisone the story อ่านเล่นสนุก ๆ นะครับ

ปี พ.ศ.2404 ปีที่ 11 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยสงบสุข แต่ในอีกซีกโลกกำลังเกิดสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา
สงครามระหว่างฝ่ายยูเนี่ยนหรือฝ่ายเหนือนำโดยประธานาธิบดีลินคอล์น และฝ่ายใต้หรือฝ่ายคอนเฟดเดอเรด ในข้อขัดแย้งเรื่องดินแดน เรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจฝ้ายและแรงงานทาส ในยุคนั้นประชาชนอเมริกันต่างเข้าร่วมสงครามกันถ้วนหน้า รวมถึงคุณหมอวิลเลี่ยม เมโย แต่คุณหมอไม่ได้เข้าสู่สมรภูมิโดยตรง คุณหมอมาทำโรงพยาบาลรักษาทหารที่เข้าร่วมสงครามที่เมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินเนโซต้า
ที่นั่น คุณหมอได้เริ่มรักษาคน สอนหนังสือ ทุ่มเทแม้กระทั่งการไปนำศพของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตเพื่อเอาไปสอนกายวิภาคศาสตร์ให้นักเรียน ศพจากเหตุการณ์ที่ Dakota 1862 ที่มีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า Sioux Uprising นำมาสู่เหตุการณ์ประหารชีวิตกลางแจ้งที่จำนวนคนมากสุดในประวัติศาสตร์อเมริกา (ผลของการลุกฮือต่อต้านกองทัพและรัฐบาลสหรัฐของชนเผ่าดาโกต้า)
จนวันนี้ เมโยคลินิก ที่มินเนโซต้าเป็นหนึ่งในโรงเรียนแพทย์ที่ทันสมัย อุดมไปด้วยหัวกะทิ ผลิตตำราและงานวิจัยออกมามากมาย มีลูกศิษย์ลูกหาและเรื่องราวมากมายที่นี่ และนี่คือหนึ่งในนั้น
เราย้อนอดีตไปในปี 1923 หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลง นับเป็นช่วงทองของนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ มีการค้นพบสิ่งต่าง ๆ มากมาย ที่มาโยคลินิกมีคุณหมอหนุ่มชื่อ ฟิลิป เฮนช์ หมอหนุ่มไฟแรงที่มีไอเดียน่าสนใจ เข้ามาทำงานวิจัยสำคัญที่แผนกโรคข้อและรูมาติซั่ม
ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 หากผู้ป่วยรายใดป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ถือว่าตายทั้งเป็น อาการรุนแรงมากขึ้น หาได้มียาใด ๆ ลดอาการของโรคมีแต่ยาลดปวดและฝิ่น ที่พอจะช่วยผู้ป่วยโรคนี้ได้เท่านั้น คุณหมอเฮนซ์ ได้เข้ามารักษา ศึกษา เก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่นี่ และได้พบข้อสังเกตน่าสนใจสองประการ
ประการแรกผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ เมื่อเธอตั้งครรภ์ พบว่าโรคสงบลงอย่างประหลาด ในบางรายแม้คลอดแล้วโรคก็ยังสงบต่อเนื่อง น่าจะมีสารที่เพิ่มมากตอนตั้งครรภ์
ประการที่สองมีคนไข้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มีภาวะตัวเหลืองตาเหลือง แล้วหายจากข้ออักเสบ น่าจะมีสารใดในร่างกายที่ทำลายที่ตับ พอตับไม่ทำงาน มันไม่ถูกทำลาย เลยรักษารูมาตอยด์ได้
คุณหมอเฮนซ์คิดว่าน่าจะมีสารในร่างกายที่สามารถควบคุมโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงตั้งชื่อว่า substance X
ในช่วงเวลาเดียวกัน ปี 1926 ที่ห้องทดลองของเอ็ดเวิร์ด เคนเดลล์ ที่เมโยเช่นกัน คุณหมอผู้รักการทดลองเรื่องฮอร์โมน เขาสามารถสกัดฮอร์โมนจากร่างกายได้หลายชนิด และกำลังสกัดฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไต ผลิตได้หลายตัวทีเดียว ตั้งชื่อตามลำดับที่จะศึกษาว่า compound a,b,c,...มากถึง 28 ตัว
คุณหมอเฮนซ์ เข้ามาปรึกษากับเคนเดลล์ เรื่องของ substance X และทั้งคู่สรุปได้ว่า มันน่าจะเป็นฮอร์โมน เขาทั้งคู่เริ่มเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์และตัวเหลืองที่หายจากรูมาตอยด์ มาเปรียบเทียบกับฮอร์โมนต่าง ๆ ของเคนเดลล์ แต่ไม่เหมือนกับฮอร์โมนใดที่ค้นพบในตอนนั้นเลย ความสนใจจึงมาที่ compound จากต่อมหมวกไต และเป็นเช่นอย่างที่เขาคิด substance X เหมือนกับ compound E สารที่วันหนึ่งเราจะรู้จักกันดีในนาม cortisone หรือ cortisol
การศึกษาทดลองหยุดชะงักลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เฮนซ์และเคนเดลล์ ไม่มีอุปกรณ์มากพอในการทดลอง จนเมื่อสงครามยุติ คราวนี้เฮนซ์มองไกล ถ้า substance X หรือ compound E มันใช้ได้จริง ต้องทดลองในคน นั่นคือการทดลองกับคนไข้คนแรก มิสซิสการ์ดเนอร์ ในปี 1948 กับคนไข้สตรีรูมาตอยด์อายุ 29 ปีที่ป่วยหนัก นอนแซ่วบนเตียง โดยไม่ได้ผ่านการทดลองเฟสแรกเฟสสองเฟสสามแต่อย่างใด
สองวันหลังจากฉีด compound E เข้าไป มิสซิสการ์ดเนอร์หายปวด กลับมาเดินได้ ไปเที่ยวซื้อของ และบอกกับหมอว่า เมื่อวานฉันยังนอนซมแต่ในวันนี้ฉันจะเต้นรำ หมายถึง เฮนซ์และเคนเดลล์ ได้พบ compound E หรือ substance X หรือ cortisol ในปัจจุบัน อันมีสมบัติในการต้านการอักเสบ นั่นเปลี่ยนชีวิตของเฮนซ์และเคนเดลล์ รวมทั้งโรคแห่งการอักเสบและบรรดาผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานทั้งหลาย
ปี 1949 เฮนซ์และเคนเดลล์ลงเสนอผลงานในงาน international congress of Rhuematiod arthrits เป็นที่ฮือฮาและมีการลงทุนทำยาให้ใช้ได้จริงจากบริษัทยาบริษัทหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเฮนซ์ยังไม่อยากให้สารนี้เข้าสู่โลกการค้า เขาต้องการตรวจสอบและทดลองเพิ่มเติม แต่เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ
การนำเสนอผลงานครั้งนั้นมีบริษัทยาสนใจมากมาย สุดท้ายการเข้าร่วมทุนศึกษากับบริษัทวิจัยยา และนักวิจัยจากสวิส Tadeus Reichstein ที่ทำวิจัยเรื่องฮฮร์โมนอยู่แล้ว ทำให้ compound E ได้รับการต่อยอดวิจัยในผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวนมาก และทุกการวิจัยออกมาเหมือนกันคือ เสมือนพระเจ้าประทานพรวิเศษมาให้ผู้ป่วย แน่นอนว่าทำให้ cortisone หรือ compound E เข้ามาสู่โลกทางการค้าและทำกำไรเป็นเทน้ำเทท่าให้บริษัทยา
ส่วนเฮนซ์ ,เคนเดลล์ และริคสไตน์ ร่วมกันรับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา เรื่องการค้นพบสารสเตียรอยด์และประโยชน์มหาศาลของมัน ในปี 1950
บทส่งท้าย
หลังจากที่มิสซิสการ์ดเนอร์ได้รับยาจนอาการดี เธอใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มีการศึกษาขนาดยาและการปรับยาที่เหมาะสม สภาพข้อของเธอไม่ได้ดีขึ้น (สเตียรอยด์ ไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคได้) และต่อมาเธอเริ่มเกิดปัญหาโลหิตจางบ่อย ๆ ต้องได้เลือดบ่อย ๆ
เธอเริ่มสอบถามไปยังเมโยคลินิกว่าเกิดอะไรขึ้น เธอหายปวดแต่กลับเจอผลข้างเคียงแบบนี้ กลับไม่ได้คำตอบกลับมา (แน่นอนล่ะ เพราะตอนนี้การศึกษาถึงผลข้างเคียงสเตียรอยด์ขนาดสูงต่อเนื่องยังไม่ปรากฏ) เธอต้องเจอผลข้างเคียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งซีด ให้เลือด เดินลำบากทั้ง ๆ ที่ไม่ปวดข้อ จนเธอบันทึกไว้ในจดหมายว่า “ที่โรงพยาบาลได้ทำสิ่งที่เลวร้ายมากกับเธอ”
ในที่สุด
ปี 1954 สี่ปีให้หลังรางวัลโนเบลของการค้นพบสเตียรอยด์และใช้อย่างแพร่หลาย มิสซิสการ์ดเนอร์..ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับสเตียรอยด์ เสียชีวิตลง สาเหตุที่คาดในขณะนั้นคือ เลือดออกทางเดินอาหารปริมาณมาก
ผลข้างเคียงที่สำคัญของสเตียรอยด์นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม