31 มกราคม 2565

กินโฟลิกแล้วจะเกิดพิษไหม

 กินโฟลิกแล้วจะเกิดพิษไหม

หลังจากที่เรื่องราวของโฟลิกได้เผยแพร่ออกไป สมาชิกของเราท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของโฟลิกครับ กลัวว่าทุกคนจะไปซื้อโฟลิกกันแบบไม่มีความจำเป็น ผมจึงได้รวบรวมข้อสงสัยและนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

คำแนะนำการกินโฟลิกในแต่ละวันของผู้ใหญ่คือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ในหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 550 ไมโครกรัมต่อวัน และมีการกำหนดค่า Upper Tolerated Level ของโฟลิกอยู่ที่ 1000 ไมโครกรัมต่อวัน แบบนี้กินยาเม็ดขนาด 5000 ไมโครกรัมจะไม่แย่หรือ

หลังจากที่ไปสืบค้นดูครับ ค่า UTL ของโฟลิกนี้ มีที่มาไม่หนักแน่นนัก เกิดมาจากการรักษาโรค megaloblastic anemia ที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 12 (ใครสงสัยย้อนกลับไปดูตอนเกร็ดความรู้เรื่องโฟลิก) ด้วยยาเม็ดโฟลิก อาจจะทำให้โรคนี้ดีขึ้นได้ด้วย ทั้ง ๆ ที่เกิดจากการขาดวิตามินบี12 เพราะทำให้อาการโลหิตจางดีขึ้น แต่ว่าการขาดวิตามินบี12 นอกจากโลหิตจางแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย เรียกว่า subacute combined degeneration

ทำให้เวลาเราให้โฟลิก อาการโลหิตจางดีขึ้น ก็คิดว่าหายแล้ว แต่จริง ๆ ยังไม่หาย แค่ดีขึ้นในมิติเดียว เราเลยไม่ให้วิตามินบี 12 เมื่อผ่านไปนานเข้า ให้โฟลิกไปเรื่อย ๆ อาการของระบบประสาทที่มันยังคงอยู่ มันเริ่มรุนแรงและแสดงให้เห็นชัดเจน รูปการจึงออกมาว่า การให้โฟลิกปริมาณมาก ๆ นานๆ อาจมีผลเสียต่อระบบประสาท ก็เลยกำหนดค่าที่ไม่ควรกินมากกว่านี้นะ เดี๋ยวจะเกิดอันตรายต่อระบบประสาท

ในเวลาต่อ ๆ มาเรามีความสามารถในการแยกโรคขาดโฟลิกกับขาดวิตามินบี12 ออกจากกันชัดเจนขึ้น จึงมีคำถามที่ว่า UTL ที่ 1000 ไมโครกรัมต่อวัน มันยังจริงไหม และจริงกับคนปรกติดีหรือไม่

มีการศึกษาแบบเก็บข้อมูลมาพอสมควรเกี่ยวกับสถานการณ์จริงที่มีการใช้ยาเม็ดโฟลิกขนาด 5 มิลลิกรัมต่อวันในกรณีต่าง ๆ พบว่าแทบไม่เกิดผลข้างเคียง แถมรายที่เกิดก็ยังบอกยากว่าเป็นจากโฟลิก ผลการศึกษาที่ออกมาเกือบทั้งหมดสรุปว่าหากใช้ในไม่เกินขนาด 5 มิลลิกรัมต่อวันนั้น โอกาสเกิดผลข้างเคียงเช่น คลื่นไส้ แสบร้อนตามตัว พบน้อยมาก และหากใช้เกิน 5 มิลลิกรัม โอกาสพบผลข้างเคียง “อันไม่รุนแรงและบอกยากว่าเกิดจากโฟลิก” พบมากขึ้น...นิดนึง

มีวารสารด้านการสาธารณสุขตีพิมพ์ว่า ระดับ UTL ที่ 1000 มิลลิกรัมต่อวันนี้ อาจเป็นกำแพงขวางกั้นการใช้โฟลิกในหญิงตั้งครรภ์ได้ เพราะกังวลเรื่องนี้ทั้งที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงถึงผลเสียอันรุนแรงของโฟลิกเลย

เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีกรณีกินโฟลิกโดยไม่จำเป็นและเกินขนาดแล้วเกิดพิษหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีการบังคับเติมโฟลิกในผลิตภัณฑ์อาหารแล้วหลายชนิด พื้นฐานกรดโฟลิกที่ได้รับในแต่ละวันจากอาหารจะขยับสูงขึ้น

ปัจจุบันทางองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตยาเม็กโฟลิกเดี่ยวขนาด 400 มิลลิกรัมออกมาจำหน่ายแล้ว เพื่อให้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ได้รับโฟลิกที่เพียงพอและไม่ต้องกังวลว่าจะเริ่มมากจนเกินไป โดยเริ่มได้ตั้งแต่ 1-3 เดือนก่อนตั้งครรภ์และกินไปจนคลอด เพื่อรับประกันว่าโฟลิกไม่ขาด ป้องกันการเกิดโรค neural tube defect และโอกาสจะได้โฟลิกเกินขนาดก็จะลดลงด้วย

ทั้งหมดนี้ก็จะสรุปว่า แม้ยาเม็ดโฟลิกจะปลอดภัยสูงถึงสูงมาก แต่ก็ควรจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้คือ ขาดโฟลิกหรือกินเพื่อป้องกันความพิการก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อมากินโดยไม่มีความจำเป็น และหากไม่มีข้อบ่งชี้การใช้ยาเม็ดโฟลิก สามารถเพิ่มปริมาณโฟลิกได้จากอาหารครับ โดยเฉพาะผักผลไม้สดที่ไม่ผ่านการแปรรูปทางอุตสาหกรรม

ความรู้ตรงจุดนี้มาจากหลักฐานสนับสนุนในระดับ การเฝ้าสังเกต การรายงานกรณีศึกษา ยังไม่มีผลการวิจัยระดับขนาดใหญ่หรือการรวบรวมงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ความรู้จึงยังเปลี่ยนแปลงได้และมีหลากหลายความเห็น สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดกันได้นะครับ

ที่มา

1. Devnath, G.P., Kumaran, S., Rajiv, R., Shaha, K.K. and Nagaraj, A. (2017), Fatal Folic Acid Toxicity in Humans. J Forensic Sci, 62: 1668-1670. https://doi.org/10.1111/1556-4029.13489

2. Wald, N.J., Morris, J.K. & Blakemore, C. Public health failure in the prevention of neural tube defects: time to abandon the tolerable upper intake level of folate. Public Health Rev 39, 2 (2018). https://doi.org/10.1186/s40985-018-0079-6

3. Maruvada P, Stover PJ, Mason JB, et al. Knowledge gaps in understanding the metabolic and clinical effects of excess folates/folic acid: a summary, and perspectives, from an NIH workshop. Am J Clin Nutr. 2020;112(5):1390-1403. doi:10.1093/ajcn/nqaa259

4. Selhub J, Rosenberg IH. Excessive folic acid intake and relation to adverse health outcome. Biochimie. 2016 Jul;126:71-8. doi: 10.1016/j.biochi.2016.04.010. Epub 2016 Apr 27. PMID: 27131640.

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม