29 มกราคม 2565

methotrexate

 เกร็ดความรู้เล็กน้อย เกี่ยวกับโฟลิกและยาเม็ด methotrexate (MTX)

นักเขียนและแอดมินเพจจอมขี้เกียจ สามารถปั้นเรื่องราวหนึ่งเรื่องที่เขาอ่าน ออกมาเป็นผลงานย่อย ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปค้นและพิมพ์เพิ่ม ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน (อย่าแอบอมยิ้มสิครับ) เมื่อจบเรื่องหลักของโฟลิกและยา mtx เราก็มาพักสมองกับเรื่องราวเบา ๆ กันบ้าง

คุณรู้ไหมว่า methotrexate เป็นยาตัวแรกที่ออกแบบมาเพื่อพวกเรา..อ๊ะ อ๊ะ ไม่ใช่ ..เป็นยาเคมีบำบัดตัวแรกที่ออกแบบและสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์ฆ่าเซลล์มะเร็ง

ย้อนกลับไปในปี 1940 ที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ สหรัฐอเมริกา

ในยุคสมัยปี 1940 เรามีความรู้เรื่อง megaloblastic anemia ว่าสามารถให้วิตามิน บี12 แล้วหายได้ และทราบว่าหากใช้วิตามินบี12 แล้วไม่ตอบสนอง จะสามารถแก้ไขโดยการให้โฟลิก ตอนนั้นสรุปว่า megaloblastic anemia น่าจะเกิดจากการขาดวิตามินบี12หรือโฟลิก ใช้คำว่าน่าจะเกิด เพราะยังไม่รู้กลไกการเกิดโรคที่ชัดเจน รู้แต่ว่าให้ยาตัวนี้แล้วหาย และบอกไม่ได้ด้วยว่าเกิดจากการขาดวิตามินบี12 หรือโฟลิก เพราะไม่ได้วัดระดับสารนั้นในร่างกายว่าสัมพันธ์กับการเกิด megaloblastic anemia หรือไม่

แต่ก็มีองค์ความรู้ในตอนนั้นว่า เราใช้โฟลิกรักษา megaloblastic anemia ได้

เอาล่ะ เรื่องมันเกิดตอนนี้แหละครับ เวลาที่เราตรวจฟิล์มเลือดและตรวจเซลล์ในไขกระดูกของโรค megaloblastic anemia เราพบว่าโรคนี้มันมีภาพลักษณะของเม็ดเลือดและไขกระดูกได้หลายแบบ และไอ้เจ้าหลายแบบนี้น่ะ บางแบบมันไปเหมือนกับภาพที่พบจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้มีการวินิจฉัยที่ก้ำกึ่งและสับสนระหว่างมะเร็งเม็ดเลือดขาวกับโรค megaloblastic anemia เมื่อมันก้ำกึ่งแบบนี้ ก็จะมีบางคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น megaloblastic anemia แทนที่จะเป็นมะเร็ง และได้รับการรักษาด้วยโฟลิก เพราะเข้าใจผิด !!

ใจเย็น ๆ สมัยนั้นไม่มีการตรวจยีน การตรวจอย่างทันสมัยแบบปัจจุบัน เวลาเราอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์ เราต้องคิดว่าเราเป็นคนยุคสมัยนั้นและรู้เท่าคนสมัยนั้นด้วย เราจึงเข้าใจประวัติศาสตร์ได้

เมื่อผิดฝาผิดตัวแบบนี้ ปรากฏว่าคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและได้รับโฟลิกรักษา เพราะเข้าใจผิดว่าเป็น megaloblastic anemia คนเหล่านี้อาการแย่ลง แย่ลงมากกว่าคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ เสียอีก หรือโฟลิกจะเกี่ยวข้องกับมะเร็ง ความจริงอันนี้ไปสะดุดตานักวิจัยท่านหนึ่งเข้า

Sidney Farber นักพยาธิวิทยาชาวอเมริกัน ได้เก็บรวบรวมกรณีศึกษาเรื่องการใช้โฟลิกผิดโรค แล้วโรคแย่ลง ทั้งการศึกษารายงานทางคลินิก และจากการผ่าศพพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา (อย่าลืมเธอชำนาญด้านพยาธิวิทยา) ได้รับรู้ความจริงเพิ่มเติมว่า

การให้โฟลิกในขนาดสูง ทำให้เซลล์มะเร็งโตมากขึ้น

ถ้าทำให้ขาดโฟลิก หรือมีภาวะขาดโฟลิก เซลล์มะเร็งจะฝ่อตาย

เธอเริ่มคิดถึงบทบาทของการยับยั้งโฟลิก เพื่อใช้จัดการเซลล์มะเร็ง อาจเป็นความหวังในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Acute Lymphoblastic Leukemia ที่ยุคนั้นถือว่าหากเป็นแล้วแทบจะเขียนพินัยกรรมได้ทันที

*** นอกเรื่องและ tie in สักนิด ถ้าจำได้มะเร็งเม็ดเลือดขาว ALL ใช้ยา 6-MP เป็นยาในการรักษา และปัจจุบันเราสามารถตรวจหายีน NUDT15 ที่ควบคุมการจัดการยานี้ได้ ทำให้สามารถปรับยาหรือทำนายผลการเกิดผลข้างเคียงของยา 6-MP ในแง่กดการทำงานของไขกระดูกได้อย่างแม่นยำ เป็นงานวิจัยในคนไทย สามารถอ่านซ้ำได้ที่ลิ้งค์นี้

https://facebook.com/3071642073151805

***

กลับมาต่อกัน ตอนนี้คุณฟาร์เบอร์มีความคิดจะสร้างสารเคมีที่ต้านโฟลิกขึ้นมาเพื่อที่จะพิสูจน์ความคิดว่าหากสามารถต้านการทำงานของโฟลิกได้ เซลล์มะเร็งจะตาย และโรคมะเร็งน่าจะรักษาได้

จากความร่วมมือข้ามแล็บและมหาวิทยาลัยกว่า 7 ปี (ที่นานเพราะติดสงครามโลกครั้งที่สอง) มีการสร้างสารต้านการทำงานโฟลิกเกิดขึ้นหลายตัวเพื่อมาใช้ในการศึกษา เช่น pteroylaspartic acid, methylpteroic acid โดยนำสารต่าง ๆ เหล่านี้มาฉีดให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในระยะเวลาสั้น ๆ เช่นกันในขณะนั้นกฎเกณฑ์จริยธรรมงานวิจัยในคนและคำประกาศเฮลซิงกิยังไม่เกิดขึ้น จึงสามารถทดลองการรักษาได้เลย คุณฟาร์เบอร์ได้ศึกษาและลงตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ในปี 1948 (NEJM 1948; 238: 787-93) สรุปความดังนี้

เมื่อใช้สาร teropterin หรือ diopterin (คือรูปแบบหนึ่งของกรดโฟลิก หรือ pteroylglutamic acid) ให้กับผู้ป่วยโรค ALL ไปแล้วนั้น พบว่าจากการตรวจศพเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้

ในขณะที่ใช้ pteroylaspartic acid พบว่าผู้ป่วยมีลักษณะไขกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งลดลงอย่างชัดเจน

เอาล่ะน่าจะเริ่มมาถูกทิศถูกทางแล้ว นอกจากการศึกษาและตีพิมพ์ของฟาร์เบอร์แล้ว ในปี 1947 นักวิทยาศาสตร์สามารถสังเคราะห์ สารต้านโฟลิกอีกตัวคือ aminopterin และทดลองฉีดคนไข้มะเร็งเม็ดเลือดขาวไป 16 ราย อาการดีขึ้น 10 ราย อาการเท่าเดิม 6 ราย เจ้าสาร aminopterin นี่เองเป็นบรรพบุรุษของ methotrexate ในปัจจุบัน

เรียกว่าเป็นรัฐธรร...เอ๊ย เป็นยาที่ดีไซน์มาเพื่อฆ่ามะเร็งตัวแรกเลย เพื่อมาต้านการสังเคราะห์โฟลิก โดยยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเตส ยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ยาต้านมะเร็งยุคแรก จะเป็นยาที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติหรือจากการผลิตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น แต่มาพบว่าสามารถต้านมะเร็งได้ ต่างจากการสร้างยา methotrexate

การวิจัยยาต้านโฟลิกเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เข้าสู่การวิจัยในคนเต็มรูปตามจริยธรรมงานวิจัยในคนตั้งแต่ยุคทศวรรษ 50 ผ่านจาก aminopterin มาเป็น amethopterin เพราะปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในช่วงสงครามเย็น ซึ่งก็คือ methotrexate ในปัจจุบันนั่นเอง (แอดมินเพจนี้มันเป็นอะไร อะไร ๆ ก็โยงช่วงเวลาสงครามตลอด)

เป็นเกร็ดความรู้เบา ๆ ของประวัติยาที่เรากล่าวถึงมาตลอดสัปดาห์นี้ครับ

ปล. Yennefer ยืนหนึ่งในใจ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม