20 มกราคม 2565

ยา statin กับการตั้งครรภ์

 ยา statin กับการตั้งครรภ์

ปัจจุบันเรามีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ที่ชัดเจนของยากลุ่ม Statin (HMG-CoA reductase inhibitor) ในเรื่องประโยชน์ในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรคหรือการป้องกันหลังเกิดโรค โดยน้ำหนักของหลักฐานและประโยชน์ที่เกิด อยู่ในระดับชัดเจนหนักแน่น มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากว้างขึ้น มีผู้ป่วยที่เข้าถึงยามากขึ้น

แน่นอนว่าจำนวนสุภาพสตรีในวัยเจริญพันธุ์ จะได้รับยากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ในเมื่อคำแนะนำการใช้ยา statin เราให้ใช้ไปตลอดถ้าไม่มีผลเสียรุนแรง หากเกิดการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จะทำอย่างไร

จากคำแนะนำขององค์การอาหารและยาสหรัฐและไทย ระบุว่า ยากลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร และจากคำแนะนำการดูแลรักษาโรคไขมันผิดปกติของ American Colleges of Cardiology ปี 2014 ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และควรให้คำแนะนำการหยุดยาในสตรีวัยเจริญพันธุ์

คำแนะนำและผลการศึกษาแบบรวบรวมข้อมูลทั้งหลาย มาจากข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลองว่าการใช้ยา statin มีผลทำให้เกิดความผิดปกติของลูกสัตว์ทดลอง แต่สำหรับข้อมูลในคน พบว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าทำให้เกิดความผิดปกติของทารก (จากสมมติฐานที่ยาอาจไปยังยั้งการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล สารสำคัญในการเจริญเติบโตระบบประสาทของทารก)

มีข้อมูลการเฝ้าติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่เคยใช้ statin พบเรื่องของการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อย แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความผิดปกติของทารกในครรภ์ ข้อมูลในคนจะมีน้อยเพราะในการศึกษาทดลองในคนที่เป็นหลักฐานระดับดีของยา statin จะไม่นับรวมหญิงตั้งครรภ์เข้ามาในการศึกษา ทำให้ข้อมูลที่ไม่มีตัวแปรปรวนจากการทดลองในคนนี้ มีน้อยมาก

นอกเหนือจากนั้น ข้อมูลการเฝ้าติดตาม พบว่าส่วนมากผู้ใช้ยา statin ก็เป็นหญิงที่พ้นวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว ทำให้ข้อมูลผลของยาต่อทารกมีน้อยอีกเช่นกัน หรือแม้ในปัจจุบัน คนส่วนมากที่จะพิจารณาการใช้ยา statin ก็จะมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้ตั้งครรภ์น้อยกว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปี ข้อมูลที่ออกมาจึงไม่มากนั่นเอง

ถึงแม้หลักฐานเรื่องความผิดปกติของทารกในครรภ์ของหญิงที่ได้ statin จะไม่ชัดเจน นั่นคือไม่ได้หมายความว่า "ปลอดภัย" แถมมีข้อมูลความผิดปกติของสัตว์ทดลองอีก จึงเป็นเหตุผลของคำแนะนำตรงกันว่า หลีกเลี่ยงการใช้ยา statin ในหญิงตั้งครรภ์ และหากใช้อยู่ ให้หยุดทันทีเมื่อพบว่าตั้งครรภ์

ส่วนหญิงที่ให้นมบุตร แนะนำหลีกเลี่ยงการใช้ยาเช่นกัน แต่หากหญิงนั้นมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจสูงมากและไม่น่าหยุดยา ก็จะแนะนำงดนมแม่ ให้ใช้นมสำหรับเด็กทารกเลี้ยงเด็กแทน

และหากตรวจพบไขมันผิดปกติ.."ในขณะตั้งครรภ์" ควรหาเหตุที่ทำให้สูงก่อน เพราะสรีรวิทยาหญิงตั้งครรภ์จะมีไขมันในเลือดผิดปกติจากเดิมอยู่แล้ว ถ้าโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้พิจารณาให้ยาหลังคลอด ช่วงเวลา 10 เดือนพอรับได้ครับ ยาลดไขมันเกือบทั้งหมดไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ใช่เพียงแค่ statin เท่านั้น หากผู้ป่วยตั้งครรภ์รายใดต้องใช้ยาจริงให้เข้ารับการปรึกษาเป็นกรณีไป และยาที่อาจจะใช้ได้ (ตามกลไกการทำงาน ไม่ใช่หลักฐานเชิงประจักษ์) คือ ยาโอเมก้าสาม

ยุคนี้ใช้ statin เร็วขึ้น ใช้นานขึ้น จะมีผู้ป่วย statin in pregnancy เพิ่มขึ้น..? รึเปล่า เพราะตั้งครรภ์ลดลงเช่นกัน

อาจเป็นภาพวาดรูป หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม